“ภาษี” อาจเป็นเรื่องที่มนุษย์เงินเดือนหลายคนคิดว่ายุ่งยากและน่าปวดหัวที่สุด โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มก้าวแรกของชีวิตการทำงานและยังไม่เคยมีประสบการณ์การยื่นแบบเพื่อจ่ายภาษีประจำปีมาก่อน คุณอาจมีคำถามและข้อสงสัยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนของเราต้องจ่ายภาษีมั้ย? จ่ายภาษีอย่างไร? แล้วเงินภาษีส่วนเกินที่จ่ายไปนั้นจะได้คืนหรือเปล่า? บทความของเราวันนี้จะมาช่วยคลายความสงสัยและตอบทุกคำถามเรื่องการจ่ายภาษีประจำปีให้ทั้งเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มงาน ไปจนถึงมนุษย์เงินเดือนที่ต้องการรู้สิทธิลดหย่อนภาษีของตัวเอง รับรองว่าเรื่อง “ภาษี” ไม่ได้ยากอย่างที่ทุกคนคิดแน่นอนค่ะ
ภาษีที่เราจะพูดถึงกันในที่นี้ คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือที่หลายคนอาจเคยได้ยินในชื่อย่อสั้นๆ ว่า ภง.ด. นั่นเองค่ะ ความหมายของภาษีชนิดนี้ก็คือเงินที่รัฐเรียกเก็บจากผู้มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยปกติจะเรียกเก็บเป็นรายปี ซึ่งผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องแสดงเอกสารที่เราเรียกว่าแบบชำระภาษีเพื่อทำการจ่ายภาษีให้แก่รัฐในช่วงเวลาที่กำหนด คือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึง 31 มีนาคมของทุกปี และผู้มีรายได้ที่ว่าก็คือบรรดามนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ นั่นเอง
ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่าบุคคลใดก็ตามที่ “มีรายได้เกิน 50,000 บาท” ขึ้นไปต่อปี ต้องยื่นแบบชำระภาษีด้วย เพราะฉะนั้นใครที่รู้ตัวว่าตนเองมีรายได้เกินปีละ 50,000 บาท ก็ต้องเตรียมตัวยื่นแบบชำระภาษีได้เลยค่ะ แต่จะต้องจ่ายภาษีเท่าไรนั้นเดี๋ยวเรามาดูไปพร้อมๆ กันตามตารางข้างล่างนี้ได้เลย
ตารางสรุปอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2560
เงินได้สุทธิ | อัตราภาษี | ภาษีสูงสุดที่ต้องชำระ |
0 – 150,000 | ได้รับการยกเว้น | - |
150,001 – 300,000 | 5% | (ภาษีสูงสุด 7,500 บาท) |
300,001 – 500,000 | 10% | (ภาษีที่สูงสุด 20,000 บาท) |
500,001 – 750,000 | 15% | (ภาษีที่สูงสุด 37,500 บาท) |
750,001 – 1,000,000 | 20% | (ภาษีที่สูงสุด 50,000 บาท) |
1,000,001 – 2,000,000 | 25% | (ภาษีที่สูงสุด 250,000 บาท) |
2,000,001 – 5,000,000 | 30% | (ภาษีที่สูงสุด 600,000 บาท) |
5,000,001 บาท ขึ้นไป | 35% | - |
จากตารางจะเห็นได้ว่าบุคคลที่มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 0-150,000 บาท เป็นกลุ่มเดียวที่ได้รับการยกเว้นภาษี นั่นคือถึงแม้ว่าเราจะมีรายได้เกิน 50,000 บาทต่อปีและต้องทำการยื่นแบบตามที่กฎหมายกำหนด แต่หากรายได้รวมของเราไม่เกิน 150,000 บาท เราก็ไม่ต้องจ่ายภาษีเพราะได้รับการยกเว้นนั่นเองค่ะ
ตัวอย่างเช่น นายเอ เด็กจบใหม่เพิ่งเริ่มทำงานโดยมีฐานเงินเดือน 9,000 บาท เมื่อคำนวณเงินได้ต่อปี นายเอจะมีรายได้ทั้งหมด 9,000×12 = 108,000 บาท เมื่อถึงเวลาการยื่นภาษี นายเอต้องทำการยื่นแบบตามที่กฎหมายกำหนด แต่เนื่องจากรายได้ต่อปีของนายเอไม่เกิน 150,000 บาท จึงไม่ต้องจ่ายภาษีในปีนั้น
หรืออีกกรณีหนึ่ง นายบี เด็กจบใหม่เพิ่งเริ่มทำงาน แต่ฐานเงินเดือนของนายบีอยู่ที่ 18,000 บาท เมื่อคำนวณเงินได้ต่อปี นายบีจะมีรายได้ทั้งหมด 18,000×12 = 216,000 บาท ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี 5% แต่! ประเทศไทยของเราคิดภาษีแบบขั้นบันได เพราะฉะนั้นต้องนำเงินของนายบีมาหักลบส่วนที่ได้รับการยกเว้นภาษีออกไปก่อน นั่นคือ 216,000-150,000 = 66,000 บาท เพราะฉะนั้นถึงจะมองเผินๆ เหมือนว่านายบีต้องจ่ายภาษี แต่จริงๆแล้วเมื่อหักลบส่วนที่ได้รับการยกเว้นออกไป รายได้รวมต่อปีของนายบีจะอยู่ในขั้นที่ได้รับการยกเว้นภาษี ดังนั้นนายบีก็ต้องยื่นแบบตามที่กรมสรรพากรกำหนดเท่านั้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีค่ะ
อย่างไรก็ตามรัฐยังได้กำหนดตัวช่วยที่เรียกว่า “รายการลดหย่อนภาษี” เพื่อช่วยลดภาระในการจ่ายภาษีประจำปีสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีความจำเป็นด้านต่างๆ ขึ้นมาอีกด้วย และจุดนี้แหละค่ะที่จะช่วยให้เราได้เงินคืนเราลองมาดูกันดีกว่าว่ารายการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นมีหลักเกณฑ์อะไรบ้าง
รายการลดหย่อนภาษี ตัวช่วยชั้นดีของมนุษย์เงินเดือน
ลดหย่อนส่วนตัว |
60,000 บาท |
คู่สมรส (ที่ไม่มีเงินได้) | 60,000 บาท |
บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย | คนละ 30,000 บาท |
บิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (มีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี) | คนละ 30,000 บาท |
บิดามารดาของคู่สมรสที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (มีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี) | คนละ 30,000 บาท |
ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ | คนละ 60,000 บาท |
ค่าเบี้ยประกันชีวิต (กรมธรรม์ต้องมีอายุ 10 ปีขึ้นไป) | ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท |
เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จ่ายเข้ากองทุนไปในปีที่ชำระภาษี | ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท |
เงินลงทุนในกองทุน RMF และ LMF | ได้รับยกเว้นไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน และเมื่อรวมกับการใช้เบี้ยประกันลดหย่อนหรือเงินลดหย่อนจากกองทุนอื่นๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท |
ดอกเบี้ยเงินกู้อสังหาริมทรัพย์ | ลดหย่อนได้จริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท |
เงินสมทบประกันสังคม | ลดหย่อนตามจริง |
เงินลดหย่อนอื่นๆ ตามนโยบายของรัฐ เช่น โครงการช้อปช่วยชาติ เป็นต้น | - |
ข้อมูลอ้างอิงจาก: กรมสรรพากร www.rd.go.th/
นายสมคิดทำงานมา 10 ปี เงินเดือน 60,000 บาท สถานะภาพโสด เลี้ยงดูบิดามารดาอายุ 65 ปี ไม่มีรายได้ รายได้ของนายสมคิดรวมทั้งหมดต่อปีคือ 60,000×12 = 720,000 บาท ทางบริษัทที่นายสมคิดทำงานมีการส่งเงินสมทบประกันสังคมให้ทุกเดือน เดือนๆละ 750 บาท แต่! นายสมคิดสามารถนำรายการลดหย่อนภาษีมาเป็นตัวช่วยได้ คือ
รวมเงินที่นายสมคิดลดหย่อนทั้งหมด คือ 229,000
รายได้ต่อปีทั้งหมดของนายสมคิดหลังหักส่วนลดหย่อนภาษีแล้วเท่ากับ 720,000-229,000 = 491,000 บาท จากนั้นนำมาคำนวณแบบขั้นบันได คือ
(1) หักส่วนที่ได้รับการยกเว้นภาษีออกไป 491,000-150,000 = 341,000 ซึ่งรายได้ทั้งหมดที่เหลือ 341,000 ของนายสมคิดอยู่ในกลุ่มที่ต้องจ่ายภาษี 10% แต่จากเกณฑ์แบบขั้นบันได เราจึงต้องคิดภาษี 5% ก่อนที่จะไปสู่ขั้น 10%
(2) ภาษีขั้น 5% สูงสุดที่ต้องจ่ายคือ 7,500 บาท จากนั้นก็เหลือเงินที่ต้องนำไปคำนวณในขั้นภาษี 10% คือ 341,000-150,000 = 191,000 บาท
(3) นำเงินจำนวน 191,000 บาท มาคิดภาษีในขั้น 10% ภาษีที่ต้องจ่ายในขั้นนี้เท่ากับ 19,100
(4) รวมภาษีที่นายสมคิดต้องจ่ายในปีนี้คือ 7,500+19,100 = 26,600 บาท
แต่จะมีอีกกรณีหนึ่งก็คือ หากคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายทั้งหมดหักลบกับรายการลดหย่อนภาษีแล้วปรากฎว่าเราชำระเงินภาษีเกิน (คือกรณีที่รายการลดหย่อนมากกว่าจำนวนเงินภาษีที่ต้องจ่าย ทำให้จำนวนเงินที่ต้องจ่ายภาษีออกมาเป็นค่าติดลบ) เท่ากับว่าเราจะได้รับเงินภาษีคืนหรือที่เรียกกันว่าการ “คืนเงินภาษี” นั่นเองค่ะ ซึ่งเงินส่วนเกินจำนวนนี้เราจะได้รับคืนมาในรูปแบบของเช็คที่จะจัดส่งมาตามที่อยู่ของเราหรือส่งมายังบริษัทกรณีนายจ้างเป็นผู้ยื่นแบบภง.ด.1 แทนพนักงาน เพื่อให้เราสามารถนำเช็คไปขึ้นเงินกับธนาคารได้ หรือหากใครที่มีบัญชีพร้อมเพย์การได้รับเงินคืนภาษีก็จะสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นเพราะทางกรมสรรพากรจะดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีของเราโดยตรงค่ะ
1. เปิดเว็บไซต์ http://rdserver.rd.go.th/publish/index.php ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของสรรพากร จากนั้นเลือกเมนู ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2560
หากเคยยื่นแบบออนไลน์มาก่อนก็สามารถล็อกอินได้เลย แต่หากเป็นการยื่นแบบครั้งแรกให้สมัครสมาชิกก่อนค่ะ โดยสามารถดูรายละเอียดการลงทะเบียนเพื่อยื่นภาษีออนไลน์ได้ที่นี่
2. เมื่อสมัครสมาชิกหรือล็อกอินเรียบร้อยแล้วให้กดที่เมนู ยื่นแบบฯ ซึ่งจะอยู่ใต้เมนูรหัสผ่านเพื่อเข้าสู่หน้ากรอกรายละเอียดเงินได้และเงินลดหย่อนต่างๆ (เมนูนี้จะไม่แสดงหากไม่อยู่ในช่วงเวลาของการเปิดให้ยื่นภาษีออนไลน์) โดยทำการกรอกตัวเลขต่างๆ จนครบตามขั้นตอน
3. ในขั้นตอนของการคำนวณภาษีระบบจะคำนวณเงินภาษีที่เราต้องชำระหรือได้คืนจากข้อมูลที่เรากรอกในขั้นตอนก่อนหน้าให้อัตโนมัติ
เมื่อกรอกรายละเอียดครบถ้วนและกดยืนยัน จะปรากฏแบบชำระภาษีที่มีข้อมูลส่วนตัวของเราและจำนวนเงินที่ต้องชำระอยู่ครบถ้วน สามารถปริ้นท์และนำไปชำระได้ทันทีตามช่องทางที่เราสะดวกไม่ว่าจะเป็นที่สรรพากร เคาเตอร์ธนาคารหรือเคาเตอร์เซอร์วิสต่างๆ
แต่ถ้าหากกดยืนยันและในแบบแจ้งว่าเราชำระภาษีเกินจำนวน ทางสรรพากรจะทำการคืนเงินภาษีให้เราโดยอัตโนมัติ (อาจต้องใช้เวลาดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด) ซึ่งเราสามารถติดตามเรื่องได้หากเกิน 45 วันแล้วยังไม่ได้รับเช็คคืนเงินภาษี ซึ่งกรณีนี้หากเรามีบัญชีพร้อมเพย์จะได้รับเงินคืนเร็วกว่าการรอรับเป็นเช็คค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับแนวทางการยื่นภาษีและการคำนวณรายการลดหย่อนภาษีในเบื้องต้น ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องยุ่งยากเลยแม้แต่น้อย ขอเพียงแค่เราเข้าใจอัตราภาษีแบบขั้นบันไดและรู้สิทธิการลดหย่อนภาษีของตัวเอง เพียงเท่านี้เราก็สามารถคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละปีได้แบบง่ายๆ แล้วค่ะ แต่สำหรับใครที่ไม่อยากนั่งคิดคำนวณให้ปวดหัว การยื่นภาษีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากรก็เป็นทางเลือกที่มนุษย์เงินเดือนยุคดิจิทัลแบบเราไม่ควรพลาด เพราะนอกจากจะมีความสะดวกรวดเร็วแล้ว ระบบยังมีความทันสมัย คำนวณเงินภาษีและการลดหย่อนได้อย่างแม่นยำ เรียกได้ว่าเป็นตัวช่วยชั้นดีของมนุษย์เงินเดือนที่ต้องยื่นภาษีเองแบบเราเลยทีเดียวค่ะ
สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับการ ลดหย่อนภาษี เพิ่มเติ่ม และ บทความที่น่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี้
ที่มา : www.officemate.co.th