แม้ว่าการคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานนั้น จะมี AI เข้ามาช่วยมากขึ้นในการ screen และ การ Matching คุณสมบัติของผู้สมัคร อีกทั้งยังมี chatbot ที่เข้ามาช่วยในการพูดคุยสัมภาษณ์เบื้องต้นได้ แต่สุดท้าย เราก็ยังคงต้องมีการสัมภาษณ์แบบที่เป็นมนุษย์คุยกันอยู่
ในช่วงที่เทคโนโลยียังเข้ามาไม่ถึง หรืออาจจะต้องใช้ต้นทุนที่แพงอยู่ ในช่วงนี้องค์กรเองก็ต้องอาศัยการสัมภาษณ์ผู้สมัครด้วยตนเองอยู่ดี เพื่อที่จะคัดเลือกผู้สมัครที่เหมาะสมที่สุดเข้ามาทำงานกับเรา
ก็ยังคงมีคำถามว่า แล้วเราจะสัมภาษณ์อย่างไรให้ได้ผล และนี่ก็คือสิ่งต้องทำ ถ้าเราต้องการให้การสัมภาษณ์ผู้สมัครได้ผลอย่างที่เราต้องการ
สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นเสมอ ในหลายองค์กร ก็คือ ผู้จัดการที่มีหน้าที่ต้องสัมภาษณ์ผู้สมัครนั้น ไม่ค่อยมีการเตรียมตัวสัมภาษณ์กันล่วงหน้าก่อน มักจะเดินเข้าห้องสัมภาษณ์ แล้วก็ลุยถามไปเรื่อยๆ ซึ่งมันจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย บางครั้งคุยกันจนเกือบหมดเวลาแล้ว ก็ยังไม่เข้าเรื่องที่ต้องการจะทราบก็มี แบบนี้ก็ไม่มีประโยชน์ในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน ดังนั้น ถ้าจะให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่าลืมเตรียมการสัมภาษณ์ก่อนล่วงหน้า โดยการทำความเข้าใจตำแหน่งงานที่จะสัมภาษณ์ก่อนเลย ว่าต้องรับผิดชอบอะไร ทำงานอะไรบ้าง และต้องใช้คนที่มีความรู้ ทักษะ และความสามารถอะไร ต้องการคนที่มีพฤติกรรมในการทำงานแบบใด ฯลฯ ที่สำคัญก็คืออย่าลืมเตรียมข้อคำถามไว้ล่วงหน้าด้วย จะได้ใช้คำถามเดียวกันกับผู้สมัครทุกคน เพื่อที่เราจะได้เปรียบเทียบผู้สมัครแต่ละคนได้ พอถึงเวลาสัมภาษณ์ เราก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพียงแต่ต้องไม่ลืมสิ่งที่เตรียมมา
อีกสิ่งหนึ่งที่มักจะเห็นอยู่บ้างในบางแห่ง ก็คือ ผู้สัมภาษณ์มักจะทำตัวใหญ่กว่า ผู้ที่มาสมัครงาน เวลาสัมภาษณ์ ก็เหมือนกับวางตัวเป็นเจ้านายใหญ่โต มองผู้มาสมัครแบบเหยียดๆ หรือใช้คำพูดที่ไม่ให้เกียรติผู้สมัคร อย่าลืมว่า การสัมภาษณ์ ไม่ใช่แค่เราเป็นฝ่ายเลือกผู้สมัครนะครับ แต่ผู้สมัครก็เป็นผู้ที่เลือกคนที่จะทำงานด้วยเช่นกัน การทำพฤติกรรมที่ไม่ให้เกียรตินั้น ทำให้เราต้องสูญเสียคนเก่งๆ ไปหลายคนได้เช่นกัน
ผู้สัมภาษณ์บางคนเป็นคนพูดจาโผงผาง บางคนใช้ภาษาพ่อขุนตลอดเวลา ต้องไม่ลืมว่า เวลาคุยกันทางธุรกิจ เรามักจะต้องใช้ภาษาทางการ สุภาพ เป็นหลัก ในการสัมภาษณ์ก็เช่นกัน ผู้สัมภาษณ์ ก็ควรจะสื่อสารกับผู้สมัครอย่างให้เกียรติ พูดจาใช้ภาษาสุภาพในการคุยกัน เนื่องจากยังไม่รู้จักคุ้นเคยกัน ดังนั้น เราเองก็ไม่ควรที่จะใช้วาจารุนแรง หรือเป็นกันเองมากจนเกินไป ลองคิดดูว่า ถ้าผู้สมัครมาสัมภาษณ์กับเราแล้วใช้วาจาสุภาพกับเราบ้าง เราในฐานะผู้สัมภาษณ์จะรู้สึกอย่างไร
เพราะด้วยบรรยากาศที่ดี ไม่เครียด ไม่ดุดัน จะทำให้ผู้สมัครเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ในการคุยกัน ก็จะพอประเมินได้ว่า เขาเป็นคนอย่างไร มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับสิ่งที่เราต้องการหรือไม่
อันนี้สำคัญมาก บางองค์กรมักจะปล่อยให้ผู้สมัครรอไปเรื่อยๆ นัดเวลาเรียบร้อย แต่ไม่เคยได้สัมภาษณ์ตรงเวลาสักคนเดียว แบบนี้ก็ถือเป็นการไม่ให้เกียรติผู้สมัครเช่นกัน และอีกอย่าง ก็จะเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีที่ผู้สมัครจะตัดสินเราได้เลย มันแปลกดีนะครับ ที่เรามักจะรู้สึกว่า ผู้สมัครรอเราหน่อย ก็ไม่น่าจะเป็นไร ในทางกลับกันถ้าเราไม่ตรงเวลาแล้ว ผู้สมัครเขาตัดสินใจไม่สัมภาษณ์แล้ว เรากลับมองว่า เขาไม่อดทนไปซะอีก
สุดท้ายก็ต้องตระหนักเสมอว่า ในยุคนี้ คนทำงานเขาไม่ได้ง้อนายจ้างเหมือนในอดีตแล้ว เรามีทางเลือกมากมายในการทำงาน ในการสร้างรายได้ ถ้าองค์กรอยากได้คนเก่งคนดีเข้าทำงาน เราก็ต้องทำให้ผู้สมัครเห็นว่า องค์กรเราเป็นองค์กรที่เขาต้องการจะทำงานด้วยจริงๆ
แบบว่า สัมภาษณ์จบแล้ว เขาจะต้องทึ่งว่า ที่นี่น่าทำงานด้วยมาก ตรงเวลา คุยกันอย่างผู้ใหญ่ เป็นกันเอง ผู้จัดการก็ฉลาดกันทุกคน ตั้งคำถามมาแบบที่ไม่ไร้สาระ ฯลฯ ถ้าได้ทำงานด้วยน่าจะสนุกแน่นอน
ท่านคิดว่า ผู้สมัครที่มาสัมภาษณ์กับองค์กรท่าน เขารู้สึกแบบที่ว่ามาหรือไม่ครับ
สามารถอ่าน บทความเกี่ยวกับHR และ บทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี้
ที่มา : prakal.com