Bonus Evaluated ประเมินโบนัสอย่างไรให้ถูกใจทุกฝ่าย

Bonus Evaluated ประเมินโบนัสอย่างไรให้ถูกใจทุกฝ่าย

โบนัส นั้นคือ เงินค่าตอบแทนพิเศษที่ทางบริษัทให้เป็นสินน้ำใจ มักจะมาจากผลประกอบการที่ดี แต่ปัจจุบันโบนัสกลายมาเป็นหนึ่งของเครื่องสร้างแรงจูงใจให้พนักงาน กลายเป็นระบบมาตรฐานของบางบริษัท (โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ) ที่ไม่ว่าจะทำกำไรได้มากน้อยเพียงไรก็จำเป็นจะต้องจ่ายโบนัสให้กับพนักงานให้เป็นมาตรฐานปกติ เพียงแต่ว่าจำนวนเงินจะมากน้อยเพียงไรก็อาจจะขึ้นอยู่กับผลประกอบการในปีนั้นๆ ด้วยนั่นเอง

พนักงานส่วนใหญ่อาจมองว่าโบนัสเป็นเรื่องง่ายๆ ก็แค่เงินที่ให้พิเศษเป็นของขวัญเท่านั้นเอง แต่ถ้าคุณเป็นฝ่ายบริหารหรือแม้กระทั่งอยู่ในฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ที่ต้องดูแลเรื่องนี้โดยตรงก็จะรู้ดีกว่าเรื่องโบนัสมีรายละเอียดหยุมหยิม ยิบย่อย และมีอะไรมากกว่าที่เราคิด โดยเฉพาะเรื่องการประเมินโบนัสที่มีรายละเอียดต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย

ระบบโบนัสยอดนิยม

+ โบนัสประจำปี : ระบบโบนัสแบบนี้เป็นมาตรฐานปกติสำหรับบริษัททั่วไป การจ่ายโบนัสจะมีปีละ 1 ครั้ง โดยมักจะจ่ายกันทุกช่วงสิ้นปี หรือไม่ก็ตรุษจีน หรือวันสงกรานต์ แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละบริษัท

+ โบนัสประจำไตรมาส : บางบริษัทมีระบบจ่ายโบนัสทุก 3 เดือน บริษัทส่วนใหญ่ที่จะใช้ระบบนี้มักทำธุรกิจที่ต้องการความว่องไว แข่งขันสูง หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจตลอดเวลา ต้องการกระตุ้นพนักงานอยู่เสมอ มีส่วนน้อยที่ใช้ระบบนี้เพื่อแบ่งเบาภาระการจ่ายโบนัสเป็นเงินก้อนในคราวเดียว

+ โบนัสประจำปีแบบแบ่งงวด : ระบบโบนัสแบบนี้จะมีหลักการเหมือนโบนัสประจำปีปกติ แต่จะมีการแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด คือกลางปี และปลายปี แทน พนักงานจะไม่ได้เงินก้อนในคราวเดียว บริษัทก็จะแบ่งเบาภาระในการจ่ายเงินก้อนโตได้ด้วย ระบบนี้มักใช้ในบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการประเมินโบนัสให้พนักงานในอัตราที่สูง

+ โบนัสแบบ 2 ครั้ง/ปี : ระบบโบนัสแบบนี้จะว่าเป็นการจ่ายโบนัสประจำปีแบบแบ่งงวดก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะการจ่ายโบนัสแต่ละครั้งก็มีเกณฑ์ในการประเมินที่แตกต่างกัน โดยบริษัทที่จ่ายโบนัสในระบบนี้มักจะใช้หลักการมาตรฐานเดียวกันนั่นก็คือ โบนัสปลายปีเป็นอัตรามาตรฐานที่ทุกคนได้รับเหมือนกันอย่างเท่าเทียมกัน (แต่บางครั้งก็มีการพิจารณาตามแผนกหรือตามระดับงาน) ส่วนโบนัสกลางปีมักเป็นการประเมินตามศักยภาพการทำงานของแต่ละบุคคล ซึ่งแต่ละคนก็จะได้โบนัสไม่เท่ากัน

รูปแบบการจ่ายโบนัส

+ โบนัสการันตี (Bonus Guarantee) : รูปแบบนี้จะมีการรับประกันการจ่ายโบนัสที่ชัดเจนตั้งแต่แรก โดยมากมักจะเป็น Fixed Bonus หรือโบนัสในอัตราคงตัวที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแม้ว่าบริษัทจะมีผลประกอบการที่ดีหรือแย่ก็ตาม  ข้อดีก็คือพนักงานจะรู้สึกมั่นคง คาดการณ์โบนัสได้แน่นอน แต่ข้อเสียก็คือมักจะไม่เป็นแรงจูงใจที่ดีสำหรับพนักงานที่ขยัน หรือคนที่มีความสามารถ และไม่ดึงดูดให้คนเก่งเข้ามาร่วมทำงานด้วยนัก สำหรับตัวบริษัทเองอาจมีปัญหาเวลาผลประกอบการได้กำไรน้อย เพราะสัญญาไว้แล้วว่าจะจ่ายโบนัสในอัตรานี้เป็นประจำ อย่างไรก็ดีบริษัทที่ใช้ระบบนี้เริ่มลดจำนวนลงเรื่อยๆ เหตุหนึ่งเพราะบริษัทยุคใหม่มักไม่ต้องการแบกภาระความเสี่ยงกับสถานการณ์ทางการเงินที่คาดเดาไม่ได้

+ โบนัสแปรผันตามผลประกอบการ : การจ่ายโบนัสในรูปแบบนี้ดูจะเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุดตั้งแต่บริษัทขนาดใหญ่ไปจนถึงธุรกิจขนาดเล็ก อันเนื่องมาจากความผันผวนทางธุรกิจที่มีอยู่ตลอดเวลา ข้อดีของระบบนี้ก็คือมีความยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย หากผลประกอบการดีบริษัทก็สามารถจ่ายโบนัสได้มาก หรือหากผลประกอบการย่ำแย่บริษัทก็สามารถงดจ่ายโบนัสได้เช่นกัน เรียกว่าเป็นความเสี่ยงในรูปแบบ High Risk, High Return ที่คุ้มค่าอยู่เหมือนกัน

+ โบนัสแปรผันตามศักยภาพพนักงาน : การจ่ายโบนัสในลักษณะนี้มักจะทำในองค์กรที่ใหญ่และมีพนักงานเป็นจำนวนมาก เป็นระบบจ่ายโบนัสที่ให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่ายได้ดีอยู่เหมือนกัน เรียกได้ว่าใครขยัน ทำผลงานให้บริษัทได้ดีกว่า ก็ย่อมสมควรจะได้รับรางวัลที่ดีกว่า การประเมินโบนัสขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละบุคคล

+ โบนัสระบบผสมผสาน : ดูเหมือนว่าการจ่ายโบนัสระบบนี้จะเริ่มเป็นที่นิยมขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ จะนำระบบโบนัสที่แปรผันตามผลประกอบการ กับระบบโบนัสที่แปรผันตามศักยภาพพนักงานมาใช้ร่วมกัน หรือแบ่งการจ่ายโบนัสเป็นสองงวดที่ประเมินต่างรูปแบบกันในแต่ละครั้ง วิธีนี้เป็นการลดความเสี่ยงของบริษัทได้ดี และรักษาผลประโยชน์ให้กับพนักงานได้อย่างลงตัวเช่นกัน นอกจากนี้ก็ยังมีการใช้ระบบอื่นผสมผสานให้ลงตัวมากที่สุด

อำนาจการตัดสินใจเรื่องโบนัสอยู่ที่ใครกันแน่

หลายคนมักเข้าใจว่าอำนาจการตัดสินใจโบนัสอยู่ที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล แต่ความจริงแล้วฝ่ายทรัพยากรบุคคลคือผู้ที่รวบรวมข้อมูลตามความเป็นจริงนำเสนอให้พิจารณา ผู้มีอำนาจตัดสินใจส่วนใหญ่ก็คือผู้บริหารระดับสูง ถ้าเป็นบริษัทเล็กๆ ในระดับ SMEs ก็อาจจะเป็นระดับผู้จัดการ หรือบางครั้งเจ้าของกิจการก็ลงมาพิจารณาเอง เสร็จแล้วฝ่ายบุคคลจึงนำผลการประเมินนั้นเข้าสูตรคำนวนโบนัสและทำระบบจ่ายเงิน แต่ก็มีบางบริษัทที่ยกอำนาจการตัดสินใจให้กับฝ่ายทรัพยากรบุคคลเหมือนกัน เพียงแต่ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการร่วมประเมินผล

ถึงแม้ว่าบางครั้งฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจโดยตรง แต่โดยหลักฝ่ายนี้ก็คือผู้ที่รวบรวมข้อมูลและดำเนินการทั้งหมด จนหลายคนคิดว่านี่คือผู้กุมอำนาจที่แท้จริง แต่จะว่าไม่มีอำนาจก็ไม่ถูกนัก หนึ่งในข้อมูลสำคัญที่มักถูกนำมาพิจารณาโบนัสในยุคปัจจุบันก็คือประวัติการทำงานของพนักงานแต่ละคน อย่างวันลา มาสาย การเบิกอุปกรณ์ต่างๆ ฯลฯ ที่ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการประเมินโบนัสเหมือนกัน ซึ่งโบนัสอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับระเบียบวินัยในการทำงาน หรือเรื่องอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน

การประเมิลผลโบนัส

สูตรคำนวนโบนัส

การคำนวนโบนัสไม่ได้มีวิธีการหรือสูตรที่ตายตัวเสมอไป แต่มาตรฐานที่นิยมกันก็คือ

โบนัส = ฐานเงินเดือน x ค่าที่บริษัทประเมินผลให้ (เดือน)

โดยพื้นฐานแล้วค่านี้ก็คือจำนวนเดือนที่บริษัทประเมินให้ ว่าคุณจะได้เงินเพิ่มเป็นโบนัสมาเป็นจำนวนกี่เดือน อย่างเช่น นาย A มีฐานเงินเดือนที่ 10,000 บาท/เดือน ปีนี้นาย A ได้ค่าที่บริษัทประเมินผลให้เท่ากับ 2 เดือน ก็จะเท่ากับว่านาย A ได้รับเงินโบนัสพิเศษประจำปีเป็นเงินรวม 20,000 บาท นั่นเอง อย่างไรก็ดีบางบริษัทอาจมีวิธีการคำนวนโบนัสที่ละเอียดยิบย่อยขึ้น ทำให้ค่าที่บริษัทประเมินผลให้อาจเป็นจุดทศนิยมที่ทำให้ไม่เต็มเดือน หรือค่าที่ได้มาจากการแบ่งเกรดพนักงานประจำปี โดยมีรายละเอียดหรือเกณฑ์ในการพิจารณาที่ต่างกันไปอีก แต่ส่วนใหญ่แล้วก็คือตัวเลขที่จะกลายเป็น “ค่าที่บริษัทประเมินผลให้” เพื่อนำมาเข้าสูตรคำนวนโบนัส

การประเมินผลแบบแบ่งเกรด

หากลงรายละเอียดลึกลงไป ปัจจุบันมีการประเมินผลเพื่อจัดเกรดพนักงานที่แต่ละเกรดนั้นจะมีค่ามาตรฐาน (ที่ถูกคำนวนมาแล้วเป็นอย่างดี) เพื่อใช้เป็น “จำนวนเดือนที่บริษัทประเมินผล” ไปเข้าสูตรกับฐานเงินเดือนของแต่ละคน การแบ่งเกรดนั้นก็จะเป็นไปตามแต่ละบริษัท บางทีมีเกรดเพียง 3 ระดับ คือ A, B และ C แต่บางที่ก็ละเอียดถึง 5 ระดับ ที่แบ่งตั้งแต่ A ไปจนถึง E กันเลยทีเดียว

โบนัสกับความภักดีต่อองค์กร

แน่นอนว่าไม่มีบริษัทไหนที่อยากเปลี่ยนพนักงานบ่อยๆ รวมถึงไม่มีบริษัทไหนที่อยากเสียพนักงานฝีมือดีให้หลุดมือไป ทุกวันนี้ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าบริษัทส่วนใหญ่มักใช้โบนัสมาเป็นเครื่องมือในการซื้อใจพนักงาน ตลอดจนเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้พนักงานทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้ผลประกอบการที่ดีที่สุด และต้องการให้พนักงานอยู่คู่องค์กรให้นานที่สุด โบนัสนั้นเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งแน่ๆ แต่ทว่าจะให้ดีกว่านั้นทางบริษัทหรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลเองก็ควรจะใส่ใจในรายละเอียดเหล่านี้ให้มากขึ้นเช่นกัน

+ ให้อัตราที่จริงใจ : เมื่อพนักงานร่วมกันผลักดันบริษัทให้มีผลประกอบการที่ดี เมื่อบริษัทได้กำไรมาก ก็ควรประเมินโบนัสให้พนักงานในอัตราที่สูงขึ้นตามผลประกอบการเช่นกัน นั่นเป็นวิธีซื้อใจที่ดีที่สุด และอาจทำให้พนักงานร่วมหัวจมท้ายกับบริษัทได้นานที่สุด ยามยากก็อดด้วยกัน ยามมีก็ได้ด้วยกัน

+ กำหนดเป้าหมายเพื่อพุ่งชน : บริษัทอาจใช้กลยุทธ์กำหนดเป้าหมายของการทำงานหรือผลประกอบการที่จะมีผลต่อโบนัสประจำปี วิธีนี้จะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานไปในตัว และเป็นวิธีที่ยุติธรรมทีเดียว ถ้าทุกคนร่วมกันพาบริษัทให้สู่ความสำเร็จได้ ทุกคนก็ย่อมจะได้สินน้ำใจตอบแทนในการร่วมแรงครั้งนี้ บริษัทหรือฝ่ายบริหารก็ไม่ต้องแบกภาระอยู่เพียงฝ่ายเดียว และเมื่อมีภาระกิจที่ท้าทาย อาจหมายถึงการทำงานที่สนุก และอยู่กันได้ยืดยาว

+ ถูกต้อง ชัดเจน และตรวจสอบได้ : การประเมินโบนัสที่ตรงไปตรงมาจากข้อมูลที่มีหลักฐานชัดเจน ถูกต้อง มีเหตุผล รวมถึงกระทั่งสามารถตรวจสอบที่ไปที่มาของโบนัสได้ ย่อมสร้างความสบายใจตลอดจนความเชื่อใจให้กับพนักงานได้ดีทีเดียว หากเกิดข้อสงสัยฝ่ายบริหารหรือแม้แต่ฝ่ายบุคคลควรจะมีเหตุผลตอบได้ชัดเจนและสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ทุกกระบวนการ ความถูกต้องและความชัดเจนก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะซื้อใจพนักงานได้ เพราะพวกเขาจะมั่นใจว่าไม่ถูกเอาเปรียบแน่นอน และเกิดความภักดีต่องานและองค์กรได้ในระยะยาว

+ ไม่โกหกและตรงต่อเวลา : เรื่องเล็กน้อยแต่สำคัญที่สุดนี้เป็นสิ่งที่บริษัทหรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลไม่ควรพลาดที่สุด ไม่ควรให้ค่ำมั่นสัญญาแล้วไม่ทำตาม อย่างเช่นบอกว่าจะได้โบนัสแน่ๆ แต่ถึงเวลาแล้วไม่พิจาณาให้ หรือบริษัทไม่มีนโยบายตามที่ได้เอ่ยลมปากไว้ ส่วนอีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการตรงต่อเวลา อย่าล่าช้าโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือขอเลื่อนแบบไม่มีกำหนดการใหม่ที่ชัดเจน สิ่งเหล่านี้แหละที่จะทำลายความเชื่อมั่นลงได้ในพริบตา และทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรลงได้อย่างง่ายดาย บริษัทอาจไม่ใช่แค่สูญเสียพนักงาน แต่ปัญหานี้อาจกลายเป็นไฟลามทุ่งที่ทำให้บริษัทล่มสลายลงได้เช่นกัน

บทสรุป

โบนัสมีความสำคัญทั้งต่อบริษัทและพนักงาน มันเปรียบเสมือนน้ำมันเครื่องหล่อเลี้ยงให้เครื่องยนต์เดินได้สะดวกและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สิ่งที่ควรตระหนักคือองค์กรต้องสร้างระบบโบนัสที่เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบ รวมถึงตรวจสอบได้ ในขณะเดียวกันพนักงานก็ควรเข้าใจรายละเอียดและวิธีการพิจาณาโบนัสตามระบบบริษัทของตนให้ถ่องแท้ด้วย เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าโบนัสที่ได้รับนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่เพียงไร ท้ายที่สุดฝ่ายทรัพยากรบุคคลอาจต้องปฎิบัติหน้าที่ของต้นอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา รวมถึงประเมินผลอย่างยุติธรรมที่สุด เพื่อให้อัตราโบนัสเหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละคนให้มากที่สุดด้วย เพื่อให้เกิดความพึงพอใจกันทุกฝ่าย

สามารถอ่าน บทความเกี่ยวกับHR และ บทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี้

ที่มา : th.hrnote.asia

 2564
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

HR Articles

คำถามนี้น่าสนใจมากนะครับ เพราะว่ามันมีผลทั้งกับทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายที่มองหางานก็ต้องเตรียมตัวในการสัมภาษณ์ ฝ่ายที่จะรับเข้าทำงานก็ต้องนัดหมายคนที่เกี่ยวข้องเพื่อลงตารางเวลาสัมภาษณ์ ก่อนอื่นเราต้องกลับมาดูที่จุดประสงค์ของการสัมภาษณ์งานก่อน
4122 ผู้เข้าชม
โดยปกติการยื่นภาษีสามารถทำได้ทั้งที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา หรือยื่นภาษีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ซึ่งข้อดีของการยื่นภาษีออนไลน์คือ จะได้รับสิทธิขยายเวลาการยื่นแบบฯและชำระภาษีออกไปอีก 8 วัน จนบางครั้งเราอาจชะล่าใจ ผลัดวันไปเพราะวันนี้ยังหาเอกสารไม่ครบ วันนี้ติดประชุม หรือสารพัดเหตุผล พอรู้ตัวอีกทีก็เลยกำหนดยื่นภาษีไปเสียแล้ว แล้วอย่างนี้ควรทำอย่างไรดี
97036 ผู้เข้าชม
การที่จะรักษาพนักงานให้คงอยู่ได้นั้นเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะกับคนที่มีความสามารถทั้งหลายที่องค์กรจะมีวิธีมัดใจอย่างไรให้เขาเหล่านั้นอยากทำงานกับองค์กร และเกิดความจงรักภักดีในที่สุด และนี่คือเคล็ดลับที่อาจใช้มัดใจคนที่มีพรสวรรค์ (Talent) เหล่านั้นได้อยู่หมัด
1490 ผู้เข้าชม
นายปรี๊ดค้นเจอบทความชิ้นหนึ่งของผู้เขียน ชื่อ นาเดีย กูดแมน จากเว็บไซต์ ideas.ted.com ซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์ ดร.เคลลี่ แมคกอนิกัล (Kelly McGonigal) อาจารย์สาขาจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด ผู้เขียนหนังสือ “The Willpower Instinct” ซึ่งถูกแปลมากว่า 10 ภาษาและประสบความสำเร็จมากในประเทศญี่ปุ่น เป็นหนังสือสไตล์ฮาวทู (how to) เผื่อใช้จัดการวินัยในตนเอง บนฐานคิดและหลักฐานการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความสำเร็จแก่ตนเอง
1342 ผู้เข้าชม
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์