ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้กระแสเรื่องธุรกิจและกิจการต่าง ๆ ถูกโจมตี (disrupt) ไม่ว่าจะจากเทคโนโลยี คู่แข่งรายใหม่ หรือ แนวทางการทำธุรกิจแบบใหม่ (new business model) กำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก
ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ในความเห็นส่วนตัวธุรกิจที่ถูกโจมตีมากที่สุด คือ สถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ที่มีเงินกับผู้ที่ต้องการใช้เงิน ปัจจุบันแบงก์ไม่ได้แข่งขันกับแบงก์ด้วยกันเองอีกต่อไป ธนาคารแข่งกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการมือถืออย่าง AIS dtac หรือ true ที่ต่างก็มีบริการในการดูแลลูกค้าให้ทำธุรกรรมทางการเงินได้โดยไม่ต้องผ่านธนาคาร ร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 หรือร้านค้าอย่าง TESCO Big C เป็นต้น ก็เปิดเคาน์เตอร์รับชำระเงินแทนธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ
ทุกวันนี้คนไปติดต่อสาขาของธนาคารลดลง แบงก์ต่าง ๆ ทยอยปิดสาขากันเป็นว่าเล่น ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2562 ที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยปิด 73 สาขา ธนาคารไทยพาณิชย์ปิด 60 สาขา ธนาคารธนชาตปิด 14 สาขา ธนาคารทหารไทยปิด 8 สาขา และธนาคารกรุงเทพปิด 7 สาขา เป็นต้น
คนทำงานในแบงก์ค่อนข้างระส่ำระสาย หลายคนถูกโยกย้ายไปทำงานใหม่ที่ไม่ถนัดและไม่มีประสบการณ์แต่ไม่มีทางเลือก บางคนถูกเลิกจ้างเพราะไม่มีงานให้ทำ หรือปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ บางคนถูกโยกย้ายไปแขวนไว้ชั่วคราวไม่รู้จะเอายังไงกับชีวิตดี
ช่างเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายยิ่งนัก นี่ยังไม่นับ 2-3 ปีที่ผ่านมา และในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่มีอนาคตที่สดใสให้เห็นเลย
เมื่อสัปดาห์ก่อนผมมีโอกาสไปเป็นโค้ชผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินข้ามชาติแห่งหนึ่ง จึงมีโอกาสได้คุยกันเรื่องนี้บ้างนิด ๆ หน่อย ๆ ท่านเล่าให้ฟังว่า ปีนี้บริษัทแม่ในต่างประเทศมี
นโยบายที่จะพัฒนาบุคลากรอย่างจริงจัง สำหรับสาขาต่าง ๆ ในทุกประเทศทั่วโลกเพื่อเพิ่มทักษะในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพราะกระแสการถูกโจมตี (disruption) แบบที่ว่า ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเพียงแห่งเดียว แต่เกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โลกเล็กลง การสื่อสารทำได้ง่ายขึ้น เทคโนโลยีก็ก้าวหน้ามาก
โดยทักษะหลัก ๆ ที่เชื่อว่าจะเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 มีด้วยกัน 5 ประการ ได้แก่
ทัศนคติและการคิดเชิงบวกที่เชื่อว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ พัฒนาให้ดีขึ้นได้ ไม่ยึดติดกับความคิดและรูปแบบเดิม ๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับ fixed mindset ที่เชื่อว่าแก่แล้วพัฒนาไม่ได้ ไม้แก่ดัดยาก เรียนอะไรมาก็ต้องทำงานให้ตรงกับที่เรียน เป็นต้น
ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือทางด้านดิจิทัล รวมทั้งความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับภาษาทางด้านคอมพิวเตอร์ เช่น blockchain, crypto currency, sandbox เป็นต้น
ทักษะการแก้ปัญหาที่สลับซับซ้อน มีข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่มีความชัดเจน เป็นปัญหาที่มีหลายเงื่อนไข เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก และมีผลกระทบสูง เช่น ปัญหาการที่สถาบันการเงินถูกโจมตี (disrupt) จากใครก็ไม่รู้ เยอะแยะเต็มไปหมด ด้วยวิธีการและช่องทางที่หลากหลาย คาดเดาไม่ได้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร และกระทบกับใครบ้าง เป็นต้น
ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ (big data) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรหรือกิจการ (data analytics) และนำเสนอข้อมูลด้วยเทคนิคการร้อยเรียงเป็นเรื่องราว (storytelling) เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย น่าสนใจ เป็นที่จดจำ และเกิดผลลัพธ์ (impact) อย่างที่ต้องการ
การคิดและออกแบบ (ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ สินค้า หรือบริการ) ที่ใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงอารมณ์และความรู้สึกของคนด้วย ไม่ใช่ออกแบบให้แค่ใช้งานได้เพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่น หลักการ design thinking ที่เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจ (empathy) ไลฟ์สไตล์และความเจ็บปวด (pain point) ของลูกค้าก่อน เป็นต้น
เนื้อหาเหล่านี้ถูกออกแบบให้พนักงานทุกคนตั้งแต่ระดับ CEO ลงมาถึงพนักงานระดับปฏิบัติการได้เรียนรู้ผ่านช่องทางมือถือและแท็บเลตด้วยระบบ moblie learning ซึ่งเรียนที่ไหนและเมื่อไรก็ได้ แทนวิธีการเรียนแบบเดิมในห้องเรียน โดยใช้เวลารวมทั้งสิ้น 12 สัปดาห์ เรียนแล้วต้องสอบ มีตก มีผ่าน จบแล้วได้ใบประกาศนียบัตรเอาไปอวดคนอื่นต่อไปได้
เพราะองค์กรเชื่อว่าพนักงานทุกคนสามารถพัฒนาให้ดีขึ้น เก่งขึ้นได้ และการมีพนักงานที่มีคุณภาพเท่านั้นคือปัจจัยแห่งความสำเร็จที่จะนำพาองค์กรก้าวข้ามกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เชี่ยวกรากในศตวรรษที่ 21 นี้ไปได้
ฟังท่านเล่าจบ ทำให้ผมนึกถึงตัวเองว่ามีทักษะเหล่านี้ครบถ้วน พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นแล้วหรือยัง
สามารถอ่าน บทความเกี่ยวกับHR และ บทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี้
ที่มา : www.prachachat.net