ทฤษฎีการเป็นผู้นำ ตามแนวพระราชดำรัส

ทฤษฎีการเป็นผู้นำ ตามแนวพระราชดำรัส

ทุกๆ ปีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมเวียนมาถึง คาดว่าท่านผู้อ่านและคนไทยทั้งประเทศคงจะมีพฤติกรรมเหมือนกับผู้เขียนคือ พอตกเย็นก็รีบกลับบ้านเพื่อมาเปิดโทรทัศน์ฟังกระแสพระราชดำรัสของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ซึ่งพระองค์จะมีพระราชดำรัสกับ คณะบุคคลต่างๆ ตั้งแต่คณะรัฐมนตรี คณะองคมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนประชาชนธรรมดาทั่วไป สำหรับผู้เขียนแล้ว คืนวันที่ 4 ธันวาคมจะเป็นค่ำคืนของการเรียนรู้แนวความคิดต่างๆ จากพระราชดำรัส ซึ่งแนวความคิดเหล่านั้น บางครั้งก็เป็นเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดิน การแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎรในเรื่องต่างๆ เช่น การเกษตร ฝนแล้ง ปัญหาน้ำท่วม บางครั้งก็เป็นเรื่องของ พระองค์เองที่ได้ทรงเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากประสบการณ์และทรงนำมาถ่ายทอดให้เราได้ฟังและนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตของเรา

สำหรับในปีนี้ก็เช่นกัน วันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัส ที่ชี้แนะแนวทางในการสร้างความสามัคคีของบุคคลในชาติ" โดยอิงกับวิถีที่ทรงใช้ในการดำเนินชีวิตของพระองค์เอง ทั้งนี้หลายท่านคงได้รับฟังพระราชดำรัสโดยตรงจากทางโทรทัศน์ บางท่านก็ได้อ่านจากหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งมี นักข่าวนักวิจารณ์หลายท่านได้วิเคราะห์พระราชดำรัสและ ตีความเนื้อหาในแง่ต่างๆ สำหรับผู้เขียนนั้นจะขออัญเชิญแนวความคิดที่ได้เรียนรู้จากพระราชดำรัสมาพูด คุยกับท่านผู้อ่านในแง่การบริหารจัดการด้าน HR ที่ผู้เขียนถนัดก็แล้วกัน และเนื่องจากผู้เขียนจะเขียนต้นฉบับส่งสำนักพิมพ์ประมาณ 1-2 สัปดาห์ล่วงหน้า จึงต้องขออภัยที่ท่านผู้อ่านจะได้อ่านบทวิเคราะห์เรื่องกระแสพระราชดำรัสนี้ ช้าไปประมาณ 2 สัปดาห์

"ในฐานะที่คลุกคลีกับวงการ HR และการพัฒนาภาวะผู้นำ (Leadership) ของนักบริหาร" ผู้เขียนมีความเห็นว่า "พระเจ้าอยู่หัวของเราชาวไทยนั้นมีภาวะผู้นำที่ล้ำเลิศเป็นที่น่ายกย่องในทุกกรณี" จากการศึกษาทฤษฎีของความเป็น ผู้นำในหลายสำนัก ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีที่นำเสนอหลักการว่าบุคคลที่จะเป็นผู้นำจะต้องมีแหล่งที่ มาของอำนาจ (Sources of Power) ที่สมบูรณ์ เช่น มีอำนาจในการให้คุณให้โทษ (ให้รางวัลและลงโทษ) มีอำนาจตามตำแหน่ง มีอำนาจเพราะมีความรู้ความเชี่ยวชาญ (Expertise) หรือมีอำนาจบารมี (Charisma) อันเกิดจากบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวที่ดูดีมีเสน่ห์น่าคบหา หรือเพราะมีชาติกำเนิดอยู่ในวงศ์ตระกูลที่ดีมีชื่อเสียง จากแง่คิดของทฤษฎีนี้ พระเจ้าอยู่หัวของเรามีครบทุกประการ

ครั้นจะพูดถึงทฤษฎีความเป็นผู้นำที่กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้นำ ว่าต้องเป็นผู้ที่รู้จักรักษาสมดุลของบทบาทในการมุ่งงาน (Task-Oriented) เน้นการบรรลุเป้าหมาย จัดวางโครงสร้างวิธีการทำงาน และบทบาทในการมุ่งเน้นพัฒนาสัมพันธภาพกับผู้ร่วมงาน (People-Oriented) พระองค์ท่านก็ทรงเป็นเยี่ยงอย่างที่ดีที่เวลาทรงงานก็ทรงงานอย่างหนัก จริงจัง มีวัตถุประสงค์และกระบวนการทำงานที่ ชัดเจนเป็นระบบ มีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล ส่วนในเรื่องของการมี สัมพันธภาพที่ดีกับทีมงานนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชอารมณ์ขันที่เป็นที่ยกย่อง (แนะนำให้อ่านหนังสือพระราชอารมณ์ขันของพระเจ้าอยู่หัว ที่เขียนโดย คุณวิลาศ มณีวัต - ผู้เขียน) ทรงมีความเป็นกันเอง มีพระเมตตากับข้าราชบริพารที่เป็น "ทีมงาน" ของพระองค์ เป็นที่ประจักษ์

และเมื่อเราพูดถึงลักษณะของบุคคลที่มีภาวะผู้นำในระดับโลกาภิวัฒน์ (Global Leadership) ซึ่งประกอบด้วยการมีเชาว์ปัญญา (IQ) วุฒิภาวะทางอารมณ์ (EQ) การมีวิสัยทัศน์ ความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้พนักงาน (Ability to Inspire) ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี การจูงใจบริหารพนักงานให้มีความผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการบรรลุ เป้าหมายขององค์กร (Aligning people with corporate goals) การรู้รอบเรื่องความเป็นไปของสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของสภาวะแวดล้อมภายนอก (Business savvy) และรู้ถ่องแท้ถึงจุดเด่นจุดด้อยขององค์กรของตน (Organization Savvy) และสุดท้ายคือสามารถปรับตัวได้ฉับไวเข้ากับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงได้เสมอ โดยไม่ตกเป็นฝ่ายที่ถูกคุกคามจากความไม่แน่นอนและวิกฤตต่างๆ

คุณสมบัติทั้งหมดนี้ มีอยู่ในพระองค์ท่านอย่างครบถ้วน เพราะทรงมีแนวพระราชดำริที่เป็นสากลในเรื่องการสร้างระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง ที่แก้ปัญหาของประเทศที่กำลังพัฒนาให้มีแนวทางในการสร้างความมั่นคงให้ เศรษฐกิจอย่างมีภูมิปัญญาเป็นของตนเอง ไม่เห่อเหิมฟุ้งเฟ้อกับวัตถุตามแนวทุนนิยมมากเกินไปที่ก่อให้เกิดปัญหา หนี้สิน และช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากจนเป็นปัญหาสังคมตามมา นอกจากนี้ในยามที่ประเทศ ประสบภัยและวิกฤตต่างๆ ก็ทรงให้สติและนำพาประเทศฝ่าฟันความแปรปรวนต่างๆ ไปได้ด้วยพระปรีชาในการพระราชทานแนวทางในการแก้ไขปัญหา และ ทรงร่วมแก้ปัญหาด้วยพระองค์เองด้วย ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากภัยคุกคามต่างๆ ในหลายวาระ

ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นสุดยอดแห่งผู้นำทั้งปวง ดังนั้นพระราชดำรัสที่ทรงมีในวันที่ 4 ธันวาคม จึงสมควรยึดถือเป็นทฤษฎีในการพัฒนาภาวะผู้นำของผู้นำในทุกระดับได้ สำหรับในปี พ.ศ. 2548 นี้ มีทฤษฎีที่ผู้เขียนคัดสรรมาจากพระราชดำรัสได้หลายทฤษฎีเลยทีเดียว โดยจะนำเสนอว่าเป็น "ทฤษฎีการเป็นผู้นำตามแนวพระราชดำรัส"

ผู้นำสามารถทำผิดได้ และต้องน้อมรับคำวิจารณ์ (Leaders can do wrong and should accept criticisms and feedback)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงกล่าวถึงหลักการ "The King can do no wrong" และ บทบัญญัติใน รัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยว่า "ผู้ใดจะล่วงละเมิดพระมหากษัตริย์มิได้" ว่าตามความเป็นจริงแล้ว พระองค์ทรงมีความเห็นว่า "The King can do wrong" และก็สามารถละเมิด "The King" ได้ ซึ่งการละเมิดนั้น หมายถึงการวิจารณ์องค์พระมหากษัตริย์

ซึ่งพระองค์ท่านได้เล่าถึงว่ามีนักหนังสือพิมพ์ต่างชาติที่วิจารณ์พระองค์ ซึ่งรัฐบาลไทยก็มีความเดือดร้อน และได้ดำเนินการตามกฎหมายไป แต่พระองค์ท่านเองนั้นไม่ทรงเดือดร้อนเลยและไม่ถือสา อีกทั้งพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเล่าว่าในสมัยรัชกาลที่ 6 นั้น ก็มีผู้คิดการกบฏ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ก็มิได้ถือโทษหรือลงโทษ

จากตัวอย่างจากรัชกาลที่ 6 และของพระองค์ท่านเอง ทรงชี้ให้เห็นว่า การเป็นผู้นำนั้นสามารถทำผิดพลาดได้ การเป็นผู้นำนั้นหมายถึงการที่ต้องอยู่ในที่แจ้ง ซึ่งผู้เขียนแปลความว่า หมายถึงอยู่ในที่สาธารณะ อยู่ในสายตาของสาธารณชนอันจับจ้องพฤติกรรมของผู้นำ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่ออยู่ในสายตาของคนมากมายที่คอยจับจ้องอยู่ ถ้าไม่ระวังให้ดี ก็สามารถทำสิ่งผิดพลาดได้ แต่เมื่อมีข้อผิดพลาดก็ต้องเปิดใจกว้างรับคำวิจารณ์ รับคำติ โดยไม่ถือโทษโกรธเคืองถือสา และไม่จำเป็นต้องแก้ตัวมากมายเกินไป ทฤษฎีข้อนี้ผู้นำทั้งหลายนำไปใช้ได้ โดยจะฝึกให้ผู้นำมีใจกว้าง ลดอัตตา เป็นนักประชาธิปไตย รับฟังความเห็นของผู้อื่น รวมทั้งมีใจคอหนักแน่น รู้จักละวาง และ รู้จักให้อภัยไม่ถือโทษผู้วิจารณ์ โอ้โฮ! ครบทั้งความเป็นประชาธิปไตยและเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีเลยใช่ไหมคะ

ผู้นำต้องมี "สติ"มีความสำรวมระวังในการคิด พูด ทำแม้ว่าผู้นำจะมีโอกาสทำผิดพลาดได้ แต่ก็ไม่ควรบ่อย พระเจ้าอยู่หัวทรงเล่าว่าเมื่อก่อนที่จะทรงเป็น "The King" ก็เคยทำผิดพลาดอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อทรงเป็น "The King" แล้ว ก็ทรงระมัดระวัง มีสติก่อนจะคิด พูด ทำอะไร ทำให้ไม่ผิดพลาด หลักการข้อนี้ถือเป็นข้อคิดที่ทรงคุณค่ามาก เนื่องด้วยถูกกับหลักการทั้งทางโลกและ ทางธรรม เพราะการมีสติทำให้คนมีความรอบคอบ มีความสุขุม รู้จักทบทวนตนเองก่อนจะทำอะไรก็ตาม หลักของสติทำให้เกิดองค์ความรู้ (Knowledge) และ นำไปสู่การคัดกรองความรู้จนเกิดปัญญา (Wisdom) นอกจากจะมีปัญญาแล้ว ยังทำให้เกิดความสำรวมใน การคิด พูด ทำ เป็นการสร้างวุฒิภาวะทางอารมณ์ (EQ) ดังนั้น การฝึกให้มี "สติ" คือ ความรู้ทัน จึงเป็นการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว คือได้ทั้งปัญญา และ EQ

หลักการ "แก้มลิง"กับการเป็นผู้นำแบบพอเพียงในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมนั้นโครงการ "แก้มลิง" เป็นหนึ่งในโครงการในพระราชดำริที่ใช้ในการแก้ปัญหา น้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิผล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงย้ำว่าหลักการเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนไทย ทรงสอนให้รู้จักประหยัด ใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างประหยัด รู้จักพอ ไม่ละโมบมากเกินความ พอเพียง โดยทรงกล่าวถึงหลักการแก้มลิงว่า นอกจากแก้ปัญหาเรื่องน้ำแล้ว ยังนำมาใช้ในชีวิตประจำวันคือ ลิงที่มีแก้มพองสองข้างนั้นสามารถใช้กักเก็บน้ำได้ ไม่ปล่อยมาทีเดียวหมด เป็นการประหยัด มนุษย์เราก็ประหยัดคำพูดได้ คือเก็บไว้ในแก้ม โดยตีความได้ว่า การจะพูดจะจาอะไรต้องมีความระวัง ให้คิดก่อนพูด ตรงนี้นับเป็นการเปรียบเทียบที่ลึกซึ้งมาก

สรุป ทฤษฎีหลักที่ผู้เขียนเรียนรู้จากพระราชดำรัส คือ

1. The King can do wrong.(Leaders can do wrong)

2. การมีสติ

3. การรู้จักความพอเพียง ประหยัด โดยอิงกับ หลักการ "แก้มลิง"

"ทั้ง 3 ทฤษฎีนี้ ถือเป็นหลักในการพัฒนาภาวะผู้นำสำหรับศตวรรษที่ 21 โดยแท้" ท่ามกลางกระแสการแข่งขัน รุนแรงของเศรษฐกิจ การแตกแยกเข่นฆ่า บ่อนทำลายจากภัยผู้ก่อการร้าย ภัยธรรมชาติ การแตกความสามัคคีของกลุ่มคนในสังคมทั่วโลก การขาดจริยธรรม รู้จักผิดชอบ ชั่วดีของผู้นำทั้งหลาย และการใช้ชีวิตด้วยความกลัวและหวั่นวิตก ภายใต้สถานการณ์กดดันเช่นนี้ สังคมโลกของเราต้องการผู้นำที่มีสติ มีใจกว้าง รู้จักฟัง รู้จักให้อภัย และมีความประหยัด รู้จักพอเพียง ไม่ละโมบ จนทำให้เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น สมดังพระราชดำรัสโดยแท้

ในโอกาสนี้ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านทุกท่าน ได้อัญเชิญหลักการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต และพัฒนาความเป็นผู้นำตามแนวพระราชดำรัสนี้ด้วยเทอญ

 21530
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

HR Articles

หลาย ๆ คนคงทราบดีอยู่แล้วว่า สวัสดิการพนักงาน นั้น แม้จะเป็นสิ่งที่ทางบริษัท หรือนายจ้างมอบให้แก่พนักงานหรือลูกจ้างทุก ๆ คน เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานของลูกจ้างและเพื่อให้ลูกจ้างมีสภาพความเป็นอยู่ในการทำงานที่ดีขึ้นก็ตาม แต่สิ่งที่ได้รับมาเหล่านั้นก็ต้องถูกนำไปคิดคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินของเราในการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในรอบปีบัญชีนั้น ๆ เว้นแต่สวัสดิการต่าง ๆ ที่เราได้รับ จะถูกจัดอยู่ในข้อบัญญัติตามกฎหมายให้มีการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ แต่จะมีสวัสดิการตัวใดกันที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมาคำนวณภาษี ค่าคลอดบุตรถือเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีหรือไม่ ค่าเบี้ยเลี้ยงทางภาษี ถือเป็นสวัสดิการที่ได้รับการยกเว้นหรือเปล่า และค่าเดินทางเหมาจ่ายต้องเสียภาษีหรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบค่ะ
21442 ผู้เข้าชม
ช่วงปลายปี-ต้นปี เป็นโอกาสของผู้ประกันตนคนทำงานแจ้ง เปลี่ยนหรือย้ายสถานพยาบาลใหม่ให้ถูกใจใกล้บ้าน ซึ่งสามารถเปลี่ยนได้ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น วิธีการยื่นแบบแจ้งเปลี่ยนสถานพยาบาลทำได้ง่ายๆ คือ
2650 ผู้เข้าชม
ต้องยอมรับว่าทันทีที่โลกก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ทุกสิ่งทุกอย่างก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายและรวดเร็ว นั่นรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางอาชีพ และการปฎิวัติทางการทำงานที่ทุกฝ่ายต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ตั้งแต่ตัวองค์กรเองไปจนถึงพนักงานทุกระดับ
2237 ผู้เข้าชม
การบริหารทรัพยากรบุคคลในปัจจุบันนี้ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับธุรกิจที่ต้องการประสบความสำเร็จตามพันธกิจ วิสัยทัศน์ และเป้าหมายที่ตั้งไว้ ปัจจัยที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ ส่วนหนึ่งก็คือ ทรัพยากรบุคคลขององค์กรนั่นเอง อย่างไรก็ดี เรื่องของการบริหารทรัพยากรบุคคลสำหรับองค์กรต่างๆ ต่างก็ให้ความสำคัญที่ไม่ค่อยเท่ากันเท่าไหร่ บางองค์กรก็ให้ความสำคัญในเรื่องของคนเป็นอย่างมาก บางองค์กรก็ให้ความสำคัญเรื่องคนเป็นเรื่องๆ ไป และบางองค์กรก็ไม่ให้ความสำคัญอะไรเลย
1225 ผู้เข้าชม
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์