7 เรื่องสำคัญที่ HR รวมถึงผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการทั้งหลายต้องเตรียมพร้อมสู่อนาคตมีอะไรบ้าง ติดตามกันได้เลยครับ
คนทำงาน HR ต้องรู้ในเรื่องของเทคโนโลยีและการวิเคราะห์จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้อย่างถ่องแท้ เราเปลี่ยนผ่านจากการเก็บข้อมูลบุคลากร เป็นการทำลึกกว่าที่เรียกว่า Big Data and Analytics คือการเก็บรายละเอียดให้มากขึ้น และสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์ได้ด้วย
ต้องตระหนักรู้ว่าความสำเร็จขององค์การอยู่ตรงไหน เรื่องอะไร มิฉะนั้นจะมีการดำเนินการเพื่อความสำเร็จขององค์การได้อย่างไร แม้จะไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายงาน HR เพียงฝ่ายเดียวก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่าความสำเร็จขององค์การขึ้นอยู่กับการที่ HR สามารถจัดสรรคนที่เหมาะสมให้แก่งาน นอกเหนือจากทรัพยากรอื่นๆ
มองข้ามเรื่องคนไม่ได้เด็ดขาด วรรคทองที่พึงจดจำก็คือ องค์การขับเคลื่อนด้วยคน มิใช่ด้วยแผนงานหรือด้วยกลยุทธ์เพียงอย่างเดียว ต่อให้มีคนคิดเก่งเลอเลิศเพียงใด หากไม่มีคนมาดำเนินการหรือมา Action แผนหรือกลยุทธ์นั้นก็นอนนิ่งอยู่บนกระดาษ เมื่อสามารถสรรหาคนที่ใช่มาได้ ต้องอบรมพัฒนาสร้างความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ที่เหมาะสมให้ด้วย และต้องทำอย่างต่อเนื่อง
โลกเปลี่ยน ฤดูกาลเปลี่ยน คนก็เปลี่ยน Gen Me ที่เข้ามาสู่ตลาดแรงงานจะไม่เหมือนคนรุ่นที่เรารู้จักอีกต่อไป ต้องเปิดใจเรียนรู้เขาเหล่านั้นว่า เขาเป็นอย่างไร คิดอะไร ต้องการอะไร อย่านึกฝันที่จะเปลี่ยนเขาให้กลับมาเป็นอย่างเรา ต้องเรียนรู้และโอนอ่อนยืดหยุ่นกับคนรุ่นใหม่บ้าง
ต้องจัดให้มีสวัสดิการที่เหมาะสมกับคนเจนเนอเรชั่นใหม่ เช่น การให้สวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาวะ (Wellness Benefits) เพื่อการดูแลสุขภาพแม้ไม่เจ็บป่วย องค์การที่ต้องพึ่งพิงคนรุ่นใหม่ คนเก่ง (Talent) ต่างต้องเพิ่มสวัสดิการด้านการดูแลบุตรพนักงาน หรือดูแลคนป่วยที่พนักงานต้องรับผิดชอบ การฟื้นฟูร่างกายผู้มีบุตรยาก เป็นต้น
ภาครัฐต่างมีการออกกฎหมายใหม่ๆ ให้ทันสมัย กฎระเบียบต่างๆ ต้องก้าวให้ทันกับพฤติกรรมของสังคมและเทคโนโลยี คนทำงานผู้บริหาร ต้องติดตามกฎระเบียบกฎหมายเหล่านี้ให้ทัน ไม่ใช่ในเชิงธุรกิจเท่านั้น แม้แต่กฎข้อบังคับการทำงานก็ต้องทบทวนปรับปรุงให้เหมาะสม
ความรู้สำคัญน้อยกว่าประสบการณ์เสียแล้ว ใบรับรองคุณวุฒิทางวิชาชีพทวีความสำคัญมากขึ้น ใบปริญญามีก็ดี แต่อาจไม่ต้องแสดงในเวลาสมัครงานก็ได้ กลับขอดูใบรับรองฝีมือที่มีสถาบันทางวิชาชีพรับรองแทน HR ต้องแสวงหาใบรับรองนี้ เช่น การสอบได้ใบรับรองของ HRCI ใบรับรองของสถาบันรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI) สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น
สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ ที่นี้
ที่มา : www.dharmniti.co.th