เคล็ดลับมัดใจบุคลากรคนเก่ง Secrets of Talent Management

เคล็ดลับมัดใจบุคลากรคนเก่ง Secrets of Talent Management



การรักษาคนเก่ง คนมีพรสวรรค์ ตลอดจนคนมีความสามารถให้ทำงานให้กับองค์กรในระยะยาวได้นั้นเป็นสิ่งจำเป็นต่อองค์กรอย่างยิ่ง นอกจากจะเป็นเคล็ดลับในการทำให้องค์กรประสบผลสำเร็จได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว ก็ยังทำให้องค์กรตลอดจนฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ไม่ต้องปวดหัวกับการสรรหาพนักงานใหม่บ่อยๆ ตลอดจนทำเอกสารหรือแก้ข้อมูลต่างๆ อยู่เรื่อยๆ ซึ่งเรื่องจุกจิกเหล่านี้หากมีปริมาณมากและถี่ก็ทำให้เสียเวลาและเกิดความยุ่งยากในการทำงานได้เช่นกัน ดังนั้นการรักษาคนเก่ง คนมีพรสวรรค์ให้ทำงานร่วมกับบริษัทได้นานที่สุดจึงมีความสำคัญ แล้วเคล็ดลับในการมัดใจในยุคนี้นั้นก็ไม่ใช่เพียงเรื่องเงินเพียงอย่างเดียวที่จะดึงดูดใจให้คนเก่งคนมีพรสวรรค์อยู่กับองค์กรได้ หากแต่มีปัจจัยอีกมากมายที่จะช่วยมัดใจคนเหล่านี้ให้อยากร่วมงานกับองค์กรได้นานที่สุดเช่นกัน

1. การมีเป้าหมายในการพัฒนาเงินเดือน (Targeting of Developing Salary)

ถึงเรื่องเงินจะไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่ก็ถือเป็นปัจจัยที่ละเอียดอ่อนที่สุดที่ควรต้องใส่ใจเช่นกัน คนที่มีความสามารถและมีพรสวรรค์นั้นมักชอบการท้าทาย ชอบการเอาชนะเป้าหมาย ชอบที่จะมีความก้าวหน้า องค์กรอาจจะมีวิธีมัดใจคนเหล่านี้ได้ด้วยการตั้งเป้าหมายพัฒนาเงินเดือนให้กับคนเหล่านี้ เป้าหมายนี้อาจไม่ใช่ขั้นของการขึ้นเงินเดือนมาตรฐานเหมือนคนปกติทั่วไป แต่ควรเป็นเป้าหมายเฉพาะรายบุคคลไป และควรมีอัตราพิเศษที่เหมาะสมกับความสามารถของบุคคลนั้น และมีระยะเวลาที่ชัดเจน รวมถึงไม่ควรนานจนเกินไป เพื่อให้เกิดแรงพลักดันในการทำงานได้อีกทางหนึ่งด้วย อาจเป็นรายไตรมาส หรืออาจกำหนดเป้าหมายอื่นที่ไม่ใช่ระยะเวลา อย่างเช่น ยอดขาย, ยอดสมาชิก, การทำงานสำเร็จตามที่มอบหมาย เป็นต้น หากบรรลุเป้าหมายก็สามารถพัฒนาเรตเงินเดือนให้เพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งก็จะเป็นการให้คุณค่าในการทำงานอีกรูปแบบหนึ่งที่จะมัดใจคนเหล่านี้ได้ดีทีเดียว ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการทำงานที่ยอดเยี่ยมได้อีกทางหนึ่ง

2. สวัสดิการพิเศษเฉพาะบุคคล (Special Benefits)

แน่นอนว่านอกจากกลยุทธ์เรื่องเงินเดือน อีกกลยุทธ์หนึ่งซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานแต่ก็สามารถนำมาใช้มัดใจคนที่เก่งและมีความสามารถได้เช่นกัน หลายองค์กรเลือกมอบสิทธิพิเศษเพิ่มเติมให้สำหรับคนที่มีพสวรรค์หรือความสามารถเพื่อใช้มัดใจให้คนเหล่านั้นเกิดความพึงพอใจกับการดูแลขององค์กร สิทธิพิเศษก็อย่างเช่น รถประจำตำแหน่ง, อุปกรณ์เทคโนโลยีทันสมัย, ห้องทำงานส่วนตัว, ประกันสุขภาพชั้นพรีเมี่ยม, ตลอดจนตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นการสร้างสรรค์สวัสดิการที่ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรจะมอบให้

3. ระบบการทำงานแบบโปรเจกต์ (Project Base Working)

คนที่มีความสามารถและมีพรสวรรค์มักเกิดความเบื่อหน่ายได้ง่ายหากงานนั้นไม่ท้าทายหรือไม่ได้แสดงความสามารถใดๆ องค์กรอาจแก้ไขปัญหานี้ด้วยระบบการทำงานแบบโปรเจกต์ (Project Base Working) แทน เพื่อให้เกิดการทำงานใหม่ๆ ตลอดเวลา ถึงแม้จะเป็นงานในลักษณะเดิมก็ตาม หรือเป็นงานในลักษณะใหม่ไปเลย

ระบบการทำงานแบบโปรเจกต์นี้อาจถาวรหรือชั่วคราวก็ได้ ถ้าเป็นระบบถาวรก็อาจให้ทำงานเป็นแต่ละโปรเจกต์ไป โดยเมื่อจบโปรเจกต์นั้นๆ ก็จะมีโปรเจกต์ใหม่เข้ามา อาจท้าทายเพิ่มด้วยการสามารถให้เลือกทำตำแหน่งหรือสายงานอื่นๆ ด้วยก็ได้ หรือการมีโปรเจกต์เป็นครั้งคราว โดยที่ทุกคนมีตำแหน่งงานประจำอยู่แล้ว แต่เมื่อมีโปรเจกต์พิเศษก็จะเรียกทุกคนมารับผิดชอบโปรเจกต์ร่วมกัน โดยให้แต่ละคนรับหน้าที่ที่เหมาะสมกับความสามารถ ซึ่งอาจเป็นการทำงานร่วมกับกับแผนกอื่นด้วยก็ได้ หรือบางครั้งโปรเจกต์พิเศษนี้ก็จะขึ้นสำหรับท้าทายกลุ่มผู้ที่มีความสามารถโดยเฉพาะ คัดสรรคนที่มีพรสวรรค์มาทำงานร่วมกัน ก็จะเป็นความท้าทายใหม่ๆ ตลอดจนสร้างโอกาสงานใหม่ๆ ไม่ให้เกิดความน่าเบื่อ รวมถึงพัฒนาตนเองได้อีกทางหนึ่งด้วย

4. สร้างตำแหน่งงานใหม่ (New Position)

การสร้างตำแหน่งใหม่ๆ ขึ้นในองค์กร เป็นการท้าทายความสามารถ และสร้างความแตกต่างให้กับผู้ที่มีความสามารถได้ ซึ่งเป็นการสร้างคุณค่าในการทำงานได้เป็นอย่างดีทีเดียว ตำแหน่งใหม่นี้ควรเป็นตำแหน่งที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในองค์กร หรือเป็นตำแหน่งที่ไม่เคยมีมาก่อนบนโลก ซึ่งอาจใช้จูงใจตั้งแต่การคัดสรรคนที่มีความสามารถให้อยากมาร่วมงานกับองค์กร หรือไม่ก็อาจสร้างขึ้นเพื่อท้าทายและมอบหมายให้คนที่มีความสามารถในองค์กรมารับตำแหน่งใหม่นี้ก็ได้ ทำให้เขาเกิดการพัฒนาศักยภาพได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

5. ส่งเสริมกิจกรรมพัฒนาทักษะและการพัฒนาตนเองในรูปแบบต่างๆ (Activities and Classes of Development)

องค์กรควรส่งเสริมคนที่มีความสามารถให้ได้พัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา อาจส่งไปฝึกฝนทักษะเพิ่มเติม ทั้งทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน และทักษะใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ มีโปรแกรมการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ รองรับ ซึ่งองค์กรอาจจะจัดขึ้นเอง หรืออาจส่งไปฝึกฝนนอกองค์กรก็ได้ นอกจากคนที่มีความสามารถและพรสวรรค์จะได้พัฒนาตนเองแล้ว เขาก็ยังสามารถนำประโยชน์นี้มาพัฒนาองค์กรได้ในคราวเดียวกันด้วย ก็จะเป็นการได้ประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

6. การพัฒนาศักยภาพผู้นำและทักษะในการบริหารจัดการ (Improving Leader Potential and Management Skills)

หลายองค์กรส่งเสริมพนักงานที่มีความสามารถด้วยการมอบตำแหน่งตลอดจนส่งตัวไปอบรมและพัฒนาศักยภาพผู้นำและทักษะในการบริหารจัดการ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเป้าหมายในการพัฒนาตนเองที่สำคัญอย่างหนึ่ง องค์กรควรส่งเสริมด้วยการคัดสรรคอร์สการพัฒนาศักยภาพผู้นำตลอดจนทักษะในการบริหารจัดการที่ดี และส่งเสริมให้คนที่มีความสามารถทั้งหลายได้พัฒนาตนเอง เมื่อเขาเกิดการพัฒนาตนเองก็จะนำกลับมาใช้ในการบริหารงานในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย และเป็นเคล็ดลับความสำเร็จขององค์กรในขั้นต่อไปนั่นเอง

7. ท้าทายด้วยรางวัล (Awards Challenge)

รางวัลในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการมอบรางวัลให้กับพนักงาน ซึ่งนั่นอาจเป็นมาตรฐานปกติขององค์กรที่เป็นระบบสำหรับใช้กับพนักงานทุกคนทุกระดับ แต่รางวัลในที่นี้หมายถึงรางวัลจากการแข่งขันนั่นเอง อย่างที่ทราบกันดีแล้วว่าคนที่มีพรสวรรค์ตลอดจนคนที่มีความสามารถทั้งหลายชอบที่จะพัฒนาตนเอง แสดงฝีมือ ตลดอจนชอบการเอาชนะเป้าหมาย รวมถึงชอบการแข่งขันด้วยเหมือนกัน องค์กรควรท้าทายคนเหล่านี้ด้วยรางวัลที่สามารถสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการแสดงศักยภาพของคนเหล่านี้ได้ดีเยี่ยม การท้าทายด้วยรางวัลนั้นมีตั้งแต่รางวัลภายในองค์กรเอง ไปจนถึงรางวัลจากนอกองค์กรด้วย รวมถึงรางวัลจากเวทีการแข่งขันกันทางธุรกิจที่ต้องแข่งกันกับคู่ค้าหรือคู่แข่งทางธุรกิจทั้งหลาย ตลอดจนรางวัลในระดับสากลที่ส่งเสริมและชื่นชมความสามารถของผู้มีพรสวรรค์และองค์กรที่มีศักยภาพ

หากเป็นรางวัลภายในอาจตั้งเป้าหมายให้เกิดการกระตุ้นการทำงานของคนที่มีความสามารถทั้งหลายให้เอาชนะด้วยการทำงานให้ประสบความสำเร็จ หากเป็นการแข่งขันภายนอกองค์กรแล้วก็อาจตั้งเป้าหมายการทำงานด้วยการคว้ารางวัลมาให้ได้ หรือในอีกทางหนึ่งก็คือหากไม่มีการแข่งขันใดๆ แต่องค์กรก็สามารถส่งผลงานของตนเพื่อเข้ารับคัดเลือกรางวัลในเวทีต่างๆ ภายหลังได้เช่นกัน เป็นการสร้างความภาคภูมิใจในการทำงานและตัวองค์กรได้อย่างยอดเยี่ยมทีเดียว

8. ส่งเสริมให้มีชื่อเสียง (Well-known person)

หลายองค์กรยุคใหม่เริ่มใช้กลยุทธ์นี้ในการสร้างคุณค่าให้กับคนในองค์กร โดยเฉพาะคนที่มีความสามารถทั้งหลายองค์กรอาจส่งเสริมให้มีชื่อเสียงขึ้น ทั้งส่งเสริมให้เป็นโฆษกขององค์กร, เป็น Speaker ไปจนถึงวิทยากรต่างๆ, เป็น Spoke Person ขององค์กรที่คอยถ่ายทอดข้อมูลและภาพลักษณ์ขององค์กร, ตลอดจนส่งเสริมให้ออกสื่อต่างๆ, และสร้างชื่อเสียงให้กับการทำงาน เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างคุณค่าได้ดีอีกวิธีหนึ่ง และได้รับผลประโยชน์กลับมาสู่องค์กรด้วย

9. ท้าทายด้วยธุรกิจใหม่ๆ (New Business Challenge)

องค์กรยุคใหม่นี้มักมีกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจหลากหลายรูปแบบเพื่อต่อยอดธุรกิจเดิมหรือไม่ก็ทำธุรกิจใหม่ๆ ไปเลย ซึ่งนั่นเป็นข้อดีขององค์กรและเป็นสิ่งท้าทายสำหรับคนที่มีความสามารถทีเดียว คนที่มีความสามารถ มีพรสวรรค์ มักจะมีความรับผิดชอบสูงตามไปด้วย หากเขามีคุณสมบัติเหล่านี้ก็อาจท้าทายคนเหล่านี้ด้วยธุรกิจใหม่ๆ ทั้งอาจเป็นการขยายฐานตลาดจากธุรกิจเดิม แต่เป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ หรือการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ไปเลย สร้างภาระกิจในการทำงานใหม่ ตลอดจนสร้างการบริหารงานใหม่หมด การได้ทำอะไรใหม่ๆ ไม่ซ้ำซากจำเจจะทำให้คนที่มีพรสวรรค์และมีความสามารถไม่เกิดความเบื่อหน่าย รู้สึกได้พัฒนาตัวเอง และรู้สึกก้าวหน้าในการทำงานอีกด้วย แล้วยิ่งเลือกคนเก่งมาทำงานให้ตรงนี้ องค์กรก็อาจมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงขึ้นไปอีก ก็จะยิ่งทำให้เกิดความก้าวหน้า และทำให้คนเก่งเหล่านี้เกิดความภาคภูมิใจ มีคุณค่า ทำให้เกิดความอยากร่วมงานกับองค์กรไปนานๆ

10. ระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible Working System)

องค์กรยุคใหม่หลายๆ องค์กรเริ่มปรับระบบทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้น โดยเฉพาะเป็นกลยุทธ์ที่นำมาใช้ในการจ้างงานคนที่เก่งและมีความสามารถตลอดจนมีพรสวรรค์ในการทำงาน ระบบทำงานที่ยืดหยุ่นก็อย่างเช่น Remote Working สามารถทำงานที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ หรือ Meeting Appointment เข้ามาเฉพาะวันที่มีการประชุม หรือ Flexible Timing Record สามารถเข้า-ออกงานได้ตามความสะดวก หรือ ให้เลือกได้ว่าจะเป็น Full Time / Part Time เป็นต้น ซึ่งตัวเลือกที่หลากหลายจะช่วยให้คนเหล่านี้สามารถเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตนได้ และบริหารเวลาเพื่อมอบประโยชน์ให้กับองค์กรได้อย่างดีที่สุดเช่นกัน

บทสรุป

การที่เราได้คนเก่ง มีพรสวรรค์ และมีความสามารถมาร่วมงานนั้นว่ายากแล้ว แต่การรักษาให้เขาอยู่กับองค์กรในระยะยาวได้นั้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า แต่สิ่งที่ยากนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ หากองค์กรใส่ใจ ตั้งใจ รวมถึงให้ใจกับการมัดใจบุคลากรเหล่านี้อย่างจริงจังมันกลับกลายเป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพชึ้นได้ และท้ายที่สุดแล้วตัวองค์กรนั่นเองเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ไปในที่สุด

การที่จะดูแลรักษาให้คนที่เก่งและมีพรสวรรค์ทำงานให้กับองค์กรในระยะยาวได้นั้นปัจจัยสำคัญไม่ได้อยู่ที่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว ยังมีอีกหลากหลายปัจจัยมากที่จะช่วยรักษาให้คนเหล่านี้ร่วมงานกับองค์กรได้ตลอดไป ซึ่งเคล็ดลับดังกล่าวนั้นก็ไม่ใช่เรื่องตายตัวเสมอไป บางองค์กรอาจมีเคล็ดลับเฉพาะตัวที่ยอดเยี่ยมกว่านี้ รวมถึงมีการสร้างเคล็ดลับใหม่ๆ ขึ้นมาเสมอในการที่จะดึงคนเก่งและคนมีความสามารถมาร่วมงานกับองค์กรได้ ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับการปรับตัวขององค์กรแต่ละองค์กรให้เหมาะสมกับตนด้วยนั่นเอง แต่หากสามารถบริหารบุคลากรที่เก่งและมีพรสวรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดึงดูดใจให้ทำงานให้กับองค์กรได้ ก็จะเป็นเคล็ดลับสำคัญสร้างความสำเร็จให้กับองค์กรที่ยอดเยี่ยมทีเดียว

สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ ที่นี้

ที่มา : th.hrnote.asia




 1293
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

HR Articles

จากสถิติประชากรศาสตร์ของประเทศนั้น จะเห็นว่า อีก 15 ปีข้างหน้า คนไทยอายุเกิน 60 ปี จะมีมากถึง 1 ใน 4 ของประเทศ ทำให้มีการผลักดันการแก้กฎหมาย โดยมีการเพิ่มมาตรา 118/1 ให้ถือว่าการเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรค 2 เพื่อให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง และกำหนดอายุของการเกษียณอายุไว้ที่ 60 ปีบริบูรณ์
2286 ผู้เข้าชม
ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำหรับฝ่ายทรัพยากรบุคคลหลายต่อหลายอย่างซึ่งนั่นนำมาซึ่งการปรับตัวให้เข้าสู่ยุค HR 4.0 ด้วยเช่นกัน และหนึ่งในภาระหน้าที่ของฝ่าย HR ที่มีการปรับเปลี่ยนตามยุคเป็นอันดับแรกๆ ก็คือการสรรหาทรัพยากรบุคคลนั่นเอง ลองมาดูกันดีกว่าว่าเทรนด์มาแรงของการสรรหาทรัพยากรบุคคลในยุค HR 4.0 นี้จะมีอะไรกันบ้าง
3426 ผู้เข้าชม
ต้องยอมรับว่าทันทีที่โลกก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ทุกสิ่งทุกอย่างก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายและรวดเร็ว นั่นรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางอาชีพ และการปฎิวัติทางการทำงานที่ทุกฝ่ายต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ตั้งแต่ตัวองค์กรเองไปจนถึงพนักงานทุกระดับ
2238 ผู้เข้าชม
เอสซีจี ให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากตระหนักอยู่เสมอว่าพนักงานเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดขององค์กร โดยการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารทรัพยากรบุคคลของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย เริ่มตั้งแต่การสรรหาผู้ที่เป็นคนเก่งและดีเข้ามาร่วมงาน โดยจัดโครงการ “Drawing Your Career with SCG Career Camp” เพื่อจูงใจผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศไทยให้มาทำงานกับบริษัท ซึ่งถือว่าเป็นการสรรหาบุคลากรในเชิงรุก นอกจากนี้ยังมีโครงการ “Top Ten University Recruitment” เพื่อสรรหาผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยท็อป 10 ในสหรัฐอเมริกาหรือมหาวิทยาลัยชั้นนำในยุโรปอีกด้วย การพัฒนาบุคลากรของเอสซีจีจะดำเนินการโดยการให้ทุนการศึกษาและการอบรม โดยการอบรมนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ Business Knowledge และ Leadership Skills ซึ่งทางเอสซีจีได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการฝึกอบรมคิดเป็นร้อยละ 0.19 ของรายได้ของบริษัทในปี 2550 สำหรับผู้ที่ผ่านหลักสูตรทั้งหมดแล้วและได้ขึ้นเป็นผู้บริหาร ทางเอสซีจีได้จัดหลักสูตรอบรมเพิ่มเติมได้แก่ Advance Management Program (AMP) และ Executive Development Program (EDP) โดยหลักสูตรแรกเอสซีจีร่วมมือกับ ฮาวาร์ด บิสสิเนสท สคูล และวาร์ตัน บิสสิเนส สคูล ส่วนหลักสูตร EDP ร่วมมือกับ โคลัมเบีย บิสสิเนส สคูล ซึ่งค่าใช้จ่ายสำหรับฝึกอบรมผู้บริหารนี้จะแยกอิสระออกจากงบพัฒนาบุคคลหลัก
26425 ผู้เข้าชม
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์