การเข้าออกของพนักงานในองค์กรถือเป็นเรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำในการทำงาน เมื่อมีพนักงานลาออก ก็ต้องมีการสรรหาคัดเลือกพนักงานเข้ามาทดแทนตำแหน่งงานที่หายไป และเมื่อคัดเลือกได้พนักงานที่น่าจะดีที่สุดแล้ว ก็จะต้องมีการนัดหมายเริ่มต้นการทำงาน พนักงานใหม่กลุ่มนี้ องค์กรมีการดูแลอย่างไรนั้น มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าพนักงานที่ทำงานมานานๆ ในองค์กรเลย
แต่ในทางปฏิบัติจริงนั้น การดูแลพนักงานใหม่ของแต่ละองค์กรจะมีความแตกต่างกันออกไป และมีหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละแบบก็ล้วนมีผลต่อความรู้สึกของพนักงานใหม่ ต่อภาพลักษณ์ และชื่อเสียงขององค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ลองมาดูกันว่า องค์กรต่างๆ เขามีวิธีการดูแลพนักงานที่เพิ่งเข้ามาทำงานใหม่ๆ อย่างไรกันบ้าง
วิธีการดูแลพนักงานใหม่ในแบบที่หนึ่งนี้ ก็คือ ไม่มีการดูแลอะไรเลย พนักงานใหม่เข้ามาทำงานวันแรก ก็ไม่มีใครพาไปแนะนำ พนักงานบางคนต้องเดินถามคนโน้นคนนี้ไปทั่วว่าหน่วยงานที่ตนเองจะต้องเข้ามาทำงานนั้นอยู่ตรงไหน ถ้าบริษัทมีฝ่ายบุคคลก็จะดีขึ้นหน่อย ที่จะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลพาไปแนะนำยังหน่วยงานต้นสังกัด จากนั้นก็ปล่อยไปตามยถากรรม บางคนทำงานวันแรก ก็คือนั่งโต๊ะเฉยๆ ไม่มีอะไรให้ทำ ไม่มีใครมาแนะนำเรื่องงาน ไม่มีใครมามอบหมายงาน ไม่มีแม้กระทั่งคนในหน่วยงานที่จะเข้ามาต้อนรับขับสู้ และพาไปแนะนำกับเพื่อนๆ ในหน่วยงานเดียวกัน วันรุ่งขึ้น พนักงานใหม่คนนี้ก็ไม่มาทำงานอีกเลย เพราะรู้สึกว่าบริษัทไม่ได้ให้ความสำคัญกับเขาเลยสักนิดเดียว
อีกลักษณะหนึ่งของการดูแลพนักงานใหม่ที่ดีขึ้นกว่าวิธีแรก ก็คือ มีการพาไปแนะนำในหน่วยงาน จากนั้น ผู้จัดการฝ่ายของหน่วยงานต้นสังกัดก็จะเล่าขอบเขตการทำงาน และมอบหมายงานที่จะต้องทำให้ทำ จากนั้นก็ปล่อยให้ทำงานเอง โดยที่ไม่มีการติดตาม หรือคอยอยู่ใกล้ๆ ให้คำแนะนำเวลาที่มีปัญหา พนักงานเองต้องทำงานแบบคลำทางเอาเอง ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด ไม่รู้วิธีการว่าเดิมเคยทำไว้อย่างไร ก็ต้องลงมือทำเอง พอทำไปแล้ว บางคนกลับถูกตำหนิว่าทำไมไม่ถาม (ซะงั้น) พอไปถามเพื่อนร่วมงาน เขาก็ตอบว่าไม่ทราบ ให้ไปถามนาย แต่นายก็ไม่อยู่ให้ตาม ก็เลยรู้สึกเคว้งคว้างโดดเดี่ยว เพื่อนๆ ก็ไม่มีการต้อนรับอะไรเลย ต่างคนต่างทำงานของตนเองไปโดยไม่มีการใส่ใจซึ่งกันและกัน สุดท้ายทำงานได้แค่ประมาณ 1 สัปดาห์ ก็ลาออกไป เพราะรู้สึกว่าบริษัทไม่ได้ให้ความสำคัญกับตนเองเลย
วิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่องค์กรส่วนใหญ่ใช้กันมาก กล่าวคือ พนักงานเนื่องจากเป็นคนใหม่ ยังไม่รู้จักใครในองค์กร ก็เลยต้องเป็นหน้าที่ของหัวหน้างานโดยตรงของพนักงานคนนั้น ที่จะต้องทำหน้าที่ให้การต้อนรับ และดูแลเรื่องของความเป็นอยู่ของพนักงานในช่วงสัปดาห์แรก พาไปแนะนำตัวกับทีมงานทีละคน และพยายามชักชวนพนักงานใหม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานของฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการประชุมงาน การทำงานโครงการต่างๆ ร่วมกัน รวมทั้งเวลาพักทานอาหารก็จะไปทานเป็นเพื่อน พร้อมกับพูดคุยให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ อย่างเป็นกันเอง ทั้งนี้ก็เพื่อให้พนักงานสร้างความคุ้นเคยและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในช่วงแรกก่อน โดยที่ยังไม่เน้นเรื่องของการทำงานมากนัก อาจจะยังว่างงานอยู่ในระยะแรก เพราะยังไม่แน่ใจ หรืออาจจะยังไม่กล้าที่จะมอบหมายงานให้เต็มที่
วิธีนี้เป็นวิธีที่น่าจะดีที่สุด ก็คือ องค์กรจะมีการปฐมนิเทศพนักงานใหม่โดยฝ่ายบุคคล บอกถึงเรื่องราวของการปฏิบัติตนในการทำงาน เรื่องของระเบียบข้อบังคับต่างๆ จากนั้นก็จะพาเข้าหน่วยงาน ยิ่งไปกว่านั้นบางองค์กรยังมีการแต่งตั้งพี่เลี้ยงให้กับพนักงานใหม่ เพื่อที่จะคอยให้กับปรึกษา และให้คำแนะนำในเรื่องของการใช้ชีวิตในองค์กร แนะนำในเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร การอยู่ร่วมกันของพนักงาน โดยเน้นไปที่การสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับพนักงานใหม่คนนี้ ในช่วงแรกก็จะมีการประกบ ไปไหนก็ไปด้วยกันตลอด บางองค์กรอาจจะมีพนักงาน หรือหัวหน้างานเอง ทำหน้าที่เป็นโค้ช คอยสอนงาน คนนี้จะเน้นไปในเรื่องของตัวงานล้วนๆ จะสอนในเรื่องของเทคนิคในการทำงาน กระบวนการทำงาน ขั้นตอนต่างๆ ระบบงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และคอยให้คำปรึกษาโดยตลอด ด้วยวิธีนี้ พนักงานจะมีคนที่ทำหน้าที่คล้ายๆ เป็นพี่เลี้ยงอยู่สองคน ก็คือ คนที่คอยให้คำปรึกษาเรื่องของการใช้ชีวิต การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และอีกคน ก็คือเรื่องของการสอนงานโดยตรง และจะประกบไปแบบนี้จนพนักงานพ้นทดลองงาน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้พนักงานใหม่รู้สึกว่า องค์กรและหน่วยงานให้ความสำคัญกับเขา ทำให้เขารู้สึกดี และอยากทำงานให้กับองค์กรมากขึ้น
พนักงานใหม่ที่เราอุตสาห์สรรหา และคัดเลือกมาด้วยความยากเย็นนั้น เราควรจะให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้ไม่น้อยไปกว่าพนักเก่า เพราะพนักงานใหม่เหล่านี้อีกไม่นานก็จะเป็นกำลังสำคัญขององค์กรในการสร้างผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
แต่ถ้าเราไม่ดูแล ปล่อยปละละเลย เราก็อาจจะเสียพนักงานที่เก่งๆ ไป ยิ่งไปกว่านั้น พนักงานกลุ่มนี้ก็อาจจะไปพูดกันปากต่อปากว่าองค์กรนี้เป็นองค์กรที่ไม่น่าทำงานด้วยเลย เพราะไม่มีระบบอะไรเลย พนักงานใหม่เข้ามาทำงาน ก็ไม่มีการดูแลอะไร ซึ่งก็จะทำให้องค์กรเสียชื่อเสียงไปด้วย แต่พนักงานมีความสุข แล้วองค์กรจะมีผลงานที่ดีขึ้นจริงหรือ? สามารถอ่านบทความย่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี้
ที่มา : actuarialbiz.com