ซื้อประกันชีวิตแล้ว นำไปลดหย่อนภาษีได้อย่างไร

ซื้อประกันชีวิตแล้ว นำไปลดหย่อนภาษีได้อย่างไร

หลักการในการลดหย่อนภาษีคือการนำค่าใช้จ่าย หรือภาระที่มีมาใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ หากใครมีภาระหนัก มีภาระต้องใช้จ่ายมาก ก็สามารถนำค่าใช้จ่ายส่วนนั้นมาหักลดได้ เช่น ค่าเลี้ยงดูตนเอง พ่อแม่ และลูก ค่าดอกเบี้ยผ่อนบ้าน ค่าการศึกษาของลูก เป็นต้น สำหรับการทำประกันชีวิตก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่นิยมใช้กันมาก กระนั้นก็ตาม หลายคนก็ยังอาจสงสัยว่าทำไมเบี้ยประกันชีวิตถึงนำมาลดหย่อนภาษีได้ และประกันชีวิตที่มีอยู่หลากหลายรูปแบบนั้น ประเภทใดบ้างที่เราสามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้และได้เท่าไร


ทำไมประกันชีวิตถึงลดหย่อนภาษีได้

การทำประกันชีวิตดูจะเป็นสิ่งที่ใครจะทำหรือไม่ทำก็ได้ บางคนจึงอาจมองว่าภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ได้จำเป็นเท่าไร แล้วทำไมรัฐบาลถึงให้สิทธิลดหย่อนกับคนที่ทำประกันชีวิต ที่เป็นเช่นนี้เพราะการทำประกันชีวิตก็คือการสร้างความมั่นคงอย่างหนึ่งคล้ายกับการออมเงินเผื่ออนาคตและเหตุการณ์ไม่คาดฝัน โดยเงินที่ทำประกันสามารถให้ผลตอบแทนหรือชดเชยความเสียหายได้ เช่น มีเงินเลี้ยงดูตนเองเมื่อเกษียณหรือชรา หากเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุก็ได้รับเงินชดเชย หากเสียชีวิต ครอบครัวก็จะได้เงินค่าสินไหมจากประกันหรือเป็นการออมเงินสำหรับการศึกษาของลูก ดังนั้น รัฐบาลจึงสนับสนุนให้ประชาชนทำประกันชีวิตโดยการให้สิทธิลดหย่อนภาษีนั่นเอง เพื่อลดความลำบากและปัญหาของพลเมืองได้


ประกันชีวิตแบบใดบ้างที่นำมาลดหย่อนภาษีได้

กรมสรรพากรได้ระบุสิทธิการลดหย่อนภาษีโดยการนำเบี้ยประกันชีวิตมาหักลดได้ โดยประกันชีวิตที่ทำต้องคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป โดยประเภทของประกันชีวิตที่สามารถนำเบี้ยมาลดหย่อนภาษีได้ก็มี 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ ประกันชีวิตแบบทั่วไป และประกันชีวิตแบบบำนาญ

ประกันชีวิตแบบทั่วไป

ประกันชีวิตแบบทั่วไป สามารถนำเบี้ยมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงสูงสุดถึง 100,000 บาท โดยประกันชีวิตแบบทั่วไปนั้น ได้แก่

  • ประกันชีวิตชั่วระยะเวลาที่เน้นคุ้มครองชีวิตจากการเสี่ยงภัยในระยะไม่กี่ปี เช่น 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี เป็นต้น (ประกันชีวิตประเภทนี้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ หากมีอายุกรมธรรม์ 10 ปี ขึ้นไป)
  • ประกันชีวิตตลอดชีพ คือ ประกันที่คุ้มครองชีวิตยาวนานจนถึง 90 หรือ 99 ปี โดยอาจจะมีระยะเวลาการชำระเบี้ยประกันประมาณ 10 15 หรือ 20 ปี เพื่อเป็นมรดกให้กับคนข้างหลังในวันที่ผู้ทำประกันเสียชีวิต
  • ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เป็นประกันที่ทั้งคุ้มครองชีวิตและเป็นเงินออมในขณะเดียวกัน ซึ่งผู้ทำประกันจะได้รับเงินตามจำนวนที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์เมื่อเสียชีวิตหรือเมื่อสัญญาครบกำหนด ซึ่งมีระยะเวลาตั้งแต่ 10 ปี 20 ปี หรือ 30 ปี หรือครบอายุผู้เอาประกัน 60 ปี ทั้งนี้ ถ้าหากได้รับเงินหรือผลประโยชน์จากประกันในระหว่างอายุกรมธรรม์ จะต้องได้ไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี จึงมีสิทธินำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้

ประกันชีวิตแบบบำนาญ

ประกันชีวิตแบบบำนาญหรือแบบเงินได้ประจำเป็นประกันชีวิตที่ทำเพื่อเป็นรายได้ยามชรา โดยบริษัทประกันชีวิตจะจ่ายให้ผู้เอาประกันเป็นงวดๆ เหมือนเงินบำนาญนับตั้งแต่ปีที่สัญญาครบกำหนด เช่น เมื่อผู้เอาประกันอายุ 55 ปี - 85 ปี หรือมากกว่านั้น
 
เบี้ยประกันชีวิตประเภทนี้ที่จ่ายในแต่ละปี สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้มากกว่าประกันชีวิตแบบทั่วไป คือ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด 200,000 บาท โดยต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้ เมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เงินที่ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท


ควรทำประกันชีวิตแบบใด

แม้การทำประกันชีวิตจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่ก็ไม่ควรมองการทำประกันชีวิตไปเพื่อลดหย่อนภาษีเป็นหลัก แต่ควรมองจุดประสงค์ที่แท้จริง นั่นคือ การคุ้มครอง และเลือกประเภทประกันชีวิตให้เหมาะกับเป้าหมายของเราเอง ซึ่งเราสามารถตรวจสอบเป้าหมายให้เหมาะสมกับประเภทประกันชีวิตได้จากตารางสรุปต่อไปนี้

ประเภทประกันชีวิต เป้าหมายการทำประกันชีวิต สิทธิลดหย่อนภาษี
ประกันชีวิตชั่วระยะเวลา
  • คุ้มครองชีวิตระยะสั้น
  • คุ้มครองชีวิตจากความเสี่ยง
ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท
ประกันชีวิตตลอดชีพ
  • คุ้มครองชีวิตตลอดชีพ หรือตามสัญญา
  • ออมเงินเพื่อใช้เมื่อชราหรือเมื่อหมดสัญญา
  • เป็นค่าใช้จ่ายหรือมรดกให้กับครอบครัวหรือญาติเมื่อเสียชีวิต
ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
  • เพื่อออมเงินพร้อมกับได้รับการคุ้มครอง
  • เพื่อออมเงินให้บุตรหลาน
ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท
ประกันชีวิตแบบบำนาญ
  • เพื่อออมเงิน
  • เพื่อให้มีเงินใช้เมื่อชราไปตลอดจนกว่าจะเสียชีวิตหรือหมดสัญญา
ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 200,000 บาท ซึ่งไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน

** เมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ กบข. เงินที่ลงทุนในกองทุนรวม RMF และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท


เมื่อเราทราบแล้วว่า เป้าหมายของเราเหมาะกับการทำประกันแบบใด เราก็ค่อยวางแผนจัดสรรเงินมาทำประกันชีวิตตามที่เราต้องการ เช่น ต้องการทิ้งมรดกให้กับครอบครัวเพื่อให้พอกับค่าใช้จ่ายประจำวันเป็นเวลากี่ปี ควรทำประกันชีวิตตลอดชีพเท่าไร ต้องการออมเงินในประกันแบบสะสมทรัพย์ควรลงทุนเดือนละเท่าไรของรายได้เพื่อให้การใช้จ่ายเงินยังคล่องตัว หรือต้องการมีเงินใช้ตอนเกษียณ 20,000 บาท ต่อเดือน จะต้องออมในประกันชีวิตแบบบำนาญงวดละเท่าไร เป็นต้น จากนั้นจึงค่อยมาดูว่าเบี้ยประกันชีวิตของเราสามารถลดหย่อนภาษีได้เท่าไร


ทั้งนี้ นอกจากการทำประกันชีวิตที่สามารถช่วยลดหย่อนภาษีได้แล้ว ก็ยังมีประกันประเภทอื่นที่สามารถลดภาษีได้เช่นกัน แต่ไม่สามารถลดหย่อนได้มากเท่าประกันชีวิต นั่นคือ ประกันสุขภาพ ซึ่งคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้เท่าจำนวนเบี้ยที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และเงินฝากที่จ่ายไว้กับธนาคารที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

การทำประกันชีวิตสามารถลดหย่อนภาษีได้เพราะรัฐบาลเล็งเห็นว่าประกันชีวิตเป็นการสร้างความมั่นคงทางหนึ่งของประชาชน กระนั้นก็ตามจุดประสงค์หลักของประกันชีวิตยังคือการคุ้มครองชีวิต หากคุณต้องการลดหย่อนภาษีก็ยังมีอีกหลากหลายวิธีที่สามารถนำมาวางแผนลดหย่อนภาษีได้ นอกจากนี้คุณยังสามารถคำนวณสิทธิลดหย่อนภาษีเพื่อหาช่องทางลดหย่อนภาษีอย่างถูกกฎหมายเพิ่มได้อีกเช่นกัน


ที่มา : www.krungsri.com

 860
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

HR Articles

โซลูชั่นเพื่อการคิดคำนวณเวลาขององค์กรโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ค่าใช้จ่าย จะมุ่งเป้าไปยังการคิดและคำนวณเวลาทำงานของพนักงาน รวมถึงค่าตอบแทน หน้าที่และแผนกที่สังกัด ทั้งยังให้ส่วนบริหารตรวจสอบและติดตามผล พร้อมกับตรวจวัดประสิทธิภาพการทำงานได้ด้วย ต่อไปนี้เป็นการตรวจสอบและตรวจวัดที่คุณอาจนำไปใช้ เพื่อประเมินชุดซอฟต์แวร์สำหรับงานดังกล่าว
3421 ผู้เข้าชม
อาการแบบนี้เกิดขึ้นกับพนักงานของท่านหรือเปล่า - อาการป่วยเป็นนิจ ลากิจเป็นประจำ - อาการป่วยการเมือง - อาการป่วยจริง - ลางานเป็นประจำ หรือ ขาดงานอยู่บ่อยๆ จนหัวหน้าต้องตาม จะทำอย่างไร? เมื่อพนักงานของท่านขาดงาน
15267 ผู้เข้าชม
ยื่นเสียภาษี จำเป็นต่อการขอสินเชื่อกู้บ้านจริงหรือ..? แล้วถ้าคนที่ยังไม่ได้เริ่มเสียภาษี ไม่มีสิทธิกู้ซื้อบ้านเลย จริงหรือไม่ วันนี้เรามาหาคำตอบกัน
2308 ผู้เข้าชม
ก็ยังได้รับคำถามในแนวนี้อยู่ ก็คือ หน้าที่ในการพัฒนาพนักงานเป็นหน้าที่ของใครกันแน่ การที่จะส่งพนักงานไปอบรม หรือการที่เราจะวางแผนพัฒนาพนักงานในเรื่องใดนั้น ตกลงเป็นหน้าที่ใคร
2976 ผู้เข้าชม
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์