ซื้อประกันชีวิตแล้ว นำไปลดหย่อนภาษีได้อย่างไร

ซื้อประกันชีวิตแล้ว นำไปลดหย่อนภาษีได้อย่างไร

หลักการในการลดหย่อนภาษีคือการนำค่าใช้จ่าย หรือภาระที่มีมาใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ หากใครมีภาระหนัก มีภาระต้องใช้จ่ายมาก ก็สามารถนำค่าใช้จ่ายส่วนนั้นมาหักลดได้ เช่น ค่าเลี้ยงดูตนเอง พ่อแม่ และลูก ค่าดอกเบี้ยผ่อนบ้าน ค่าการศึกษาของลูก เป็นต้น สำหรับการทำประกันชีวิตก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่นิยมใช้กันมาก กระนั้นก็ตาม หลายคนก็ยังอาจสงสัยว่าทำไมเบี้ยประกันชีวิตถึงนำมาลดหย่อนภาษีได้ และประกันชีวิตที่มีอยู่หลากหลายรูปแบบนั้น ประเภทใดบ้างที่เราสามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้และได้เท่าไร


ทำไมประกันชีวิตถึงลดหย่อนภาษีได้

การทำประกันชีวิตดูจะเป็นสิ่งที่ใครจะทำหรือไม่ทำก็ได้ บางคนจึงอาจมองว่าภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ได้จำเป็นเท่าไร แล้วทำไมรัฐบาลถึงให้สิทธิลดหย่อนกับคนที่ทำประกันชีวิต ที่เป็นเช่นนี้เพราะการทำประกันชีวิตก็คือการสร้างความมั่นคงอย่างหนึ่งคล้ายกับการออมเงินเผื่ออนาคตและเหตุการณ์ไม่คาดฝัน โดยเงินที่ทำประกันสามารถให้ผลตอบแทนหรือชดเชยความเสียหายได้ เช่น มีเงินเลี้ยงดูตนเองเมื่อเกษียณหรือชรา หากเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุก็ได้รับเงินชดเชย หากเสียชีวิต ครอบครัวก็จะได้เงินค่าสินไหมจากประกันหรือเป็นการออมเงินสำหรับการศึกษาของลูก ดังนั้น รัฐบาลจึงสนับสนุนให้ประชาชนทำประกันชีวิตโดยการให้สิทธิลดหย่อนภาษีนั่นเอง เพื่อลดความลำบากและปัญหาของพลเมืองได้


ประกันชีวิตแบบใดบ้างที่นำมาลดหย่อนภาษีได้

กรมสรรพากรได้ระบุสิทธิการลดหย่อนภาษีโดยการนำเบี้ยประกันชีวิตมาหักลดได้ โดยประกันชีวิตที่ทำต้องคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป โดยประเภทของประกันชีวิตที่สามารถนำเบี้ยมาลดหย่อนภาษีได้ก็มี 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ ประกันชีวิตแบบทั่วไป และประกันชีวิตแบบบำนาญ

ประกันชีวิตแบบทั่วไป

ประกันชีวิตแบบทั่วไป สามารถนำเบี้ยมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงสูงสุดถึง 100,000 บาท โดยประกันชีวิตแบบทั่วไปนั้น ได้แก่

  • ประกันชีวิตชั่วระยะเวลาที่เน้นคุ้มครองชีวิตจากการเสี่ยงภัยในระยะไม่กี่ปี เช่น 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี เป็นต้น (ประกันชีวิตประเภทนี้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ หากมีอายุกรมธรรม์ 10 ปี ขึ้นไป)
  • ประกันชีวิตตลอดชีพ คือ ประกันที่คุ้มครองชีวิตยาวนานจนถึง 90 หรือ 99 ปี โดยอาจจะมีระยะเวลาการชำระเบี้ยประกันประมาณ 10 15 หรือ 20 ปี เพื่อเป็นมรดกให้กับคนข้างหลังในวันที่ผู้ทำประกันเสียชีวิต
  • ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เป็นประกันที่ทั้งคุ้มครองชีวิตและเป็นเงินออมในขณะเดียวกัน ซึ่งผู้ทำประกันจะได้รับเงินตามจำนวนที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์เมื่อเสียชีวิตหรือเมื่อสัญญาครบกำหนด ซึ่งมีระยะเวลาตั้งแต่ 10 ปี 20 ปี หรือ 30 ปี หรือครบอายุผู้เอาประกัน 60 ปี ทั้งนี้ ถ้าหากได้รับเงินหรือผลประโยชน์จากประกันในระหว่างอายุกรมธรรม์ จะต้องได้ไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี จึงมีสิทธินำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้

ประกันชีวิตแบบบำนาญ

ประกันชีวิตแบบบำนาญหรือแบบเงินได้ประจำเป็นประกันชีวิตที่ทำเพื่อเป็นรายได้ยามชรา โดยบริษัทประกันชีวิตจะจ่ายให้ผู้เอาประกันเป็นงวดๆ เหมือนเงินบำนาญนับตั้งแต่ปีที่สัญญาครบกำหนด เช่น เมื่อผู้เอาประกันอายุ 55 ปี - 85 ปี หรือมากกว่านั้น
 
เบี้ยประกันชีวิตประเภทนี้ที่จ่ายในแต่ละปี สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้มากกว่าประกันชีวิตแบบทั่วไป คือ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด 200,000 บาท โดยต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้ เมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เงินที่ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท


ควรทำประกันชีวิตแบบใด

แม้การทำประกันชีวิตจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่ก็ไม่ควรมองการทำประกันชีวิตไปเพื่อลดหย่อนภาษีเป็นหลัก แต่ควรมองจุดประสงค์ที่แท้จริง นั่นคือ การคุ้มครอง และเลือกประเภทประกันชีวิตให้เหมาะกับเป้าหมายของเราเอง ซึ่งเราสามารถตรวจสอบเป้าหมายให้เหมาะสมกับประเภทประกันชีวิตได้จากตารางสรุปต่อไปนี้

ประเภทประกันชีวิต เป้าหมายการทำประกันชีวิต สิทธิลดหย่อนภาษี
ประกันชีวิตชั่วระยะเวลา
  • คุ้มครองชีวิตระยะสั้น
  • คุ้มครองชีวิตจากความเสี่ยง
ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท
ประกันชีวิตตลอดชีพ
  • คุ้มครองชีวิตตลอดชีพ หรือตามสัญญา
  • ออมเงินเพื่อใช้เมื่อชราหรือเมื่อหมดสัญญา
  • เป็นค่าใช้จ่ายหรือมรดกให้กับครอบครัวหรือญาติเมื่อเสียชีวิต
ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
  • เพื่อออมเงินพร้อมกับได้รับการคุ้มครอง
  • เพื่อออมเงินให้บุตรหลาน
ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท
ประกันชีวิตแบบบำนาญ
  • เพื่อออมเงิน
  • เพื่อให้มีเงินใช้เมื่อชราไปตลอดจนกว่าจะเสียชีวิตหรือหมดสัญญา
ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 200,000 บาท ซึ่งไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน

** เมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ กบข. เงินที่ลงทุนในกองทุนรวม RMF และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท


เมื่อเราทราบแล้วว่า เป้าหมายของเราเหมาะกับการทำประกันแบบใด เราก็ค่อยวางแผนจัดสรรเงินมาทำประกันชีวิตตามที่เราต้องการ เช่น ต้องการทิ้งมรดกให้กับครอบครัวเพื่อให้พอกับค่าใช้จ่ายประจำวันเป็นเวลากี่ปี ควรทำประกันชีวิตตลอดชีพเท่าไร ต้องการออมเงินในประกันแบบสะสมทรัพย์ควรลงทุนเดือนละเท่าไรของรายได้เพื่อให้การใช้จ่ายเงินยังคล่องตัว หรือต้องการมีเงินใช้ตอนเกษียณ 20,000 บาท ต่อเดือน จะต้องออมในประกันชีวิตแบบบำนาญงวดละเท่าไร เป็นต้น จากนั้นจึงค่อยมาดูว่าเบี้ยประกันชีวิตของเราสามารถลดหย่อนภาษีได้เท่าไร


ทั้งนี้ นอกจากการทำประกันชีวิตที่สามารถช่วยลดหย่อนภาษีได้แล้ว ก็ยังมีประกันประเภทอื่นที่สามารถลดภาษีได้เช่นกัน แต่ไม่สามารถลดหย่อนได้มากเท่าประกันชีวิต นั่นคือ ประกันสุขภาพ ซึ่งคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้เท่าจำนวนเบี้ยที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และเงินฝากที่จ่ายไว้กับธนาคารที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

การทำประกันชีวิตสามารถลดหย่อนภาษีได้เพราะรัฐบาลเล็งเห็นว่าประกันชีวิตเป็นการสร้างความมั่นคงทางหนึ่งของประชาชน กระนั้นก็ตามจุดประสงค์หลักของประกันชีวิตยังคือการคุ้มครองชีวิต หากคุณต้องการลดหย่อนภาษีก็ยังมีอีกหลากหลายวิธีที่สามารถนำมาวางแผนลดหย่อนภาษีได้ นอกจากนี้คุณยังสามารถคำนวณสิทธิลดหย่อนภาษีเพื่อหาช่องทางลดหย่อนภาษีอย่างถูกกฎหมายเพิ่มได้อีกเช่นกัน


ที่มา : www.krungsri.com

 861
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

HR Articles

หากคุณมีลูกเล็กๆ หรือเคยมีประสบการณ์กับการเลี้ยงเด็ก จะพบว่าเด็กเล็กๆ ที่ยังไม่สามารถพูดได้ ก็ต้องการการสื่อสาร พูดคุยเหมือนกัน จริงๆ แล้ว คนเราเกิดมาต้องการการสื่อสารทันทีที่คลอดเลยด้วยซ้ำ ดูได้จาก หากเด็กที่คลอดออกมาแล้วไม่ร้อง หมอจะตีหรือทำทุกวิธีที่ให้เด็กร้องเพื่อปอดจะได้เริ่มทำงาน พอโตขึ้นมาหน่อยก็เริ่มพูดเพื่อสื่อสารให้คนรอบข้างเข้าใจ
2599 ผู้เข้าชม
กิจการใดที่มีลูกจ้างเกิน 100 คน ต้องจ้างคนพิการอย่างน้อย 1 คน ถ้าบริษัทไม่จ้างไม่ว่าเหตุผลใดก็ตาม ต้องจ่ายเข้ากองทุนพัฒนาชีวิตคนพิการ (ค่าแรงขั้นต่ำ x 365) กรณีมีพนักงาน 200 คน ต้องจ้างคนพิการ 2 คน แต่มีพนักงานคนพิการเพียงแค่ 1 คน ถือว่าไม่เป็นไปตามข้อบังคับ บริษัทต้องจ่ายเข้ากองทุนดังกล่าวทดแทนคนพิการอีก 1 คน
2443 ผู้เข้าชม
จากสถิติประชากรศาสตร์ของประเทศนั้น จะเห็นว่า อีก 15 ปีข้างหน้า คนไทยอายุเกิน 60 ปี จะมีมากถึง 1 ใน 4 ของประเทศ ทำให้มีการผลักดันการแก้กฎหมาย โดยมีการเพิ่มมาตรา 118/1 ให้ถือว่าการเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรค 2 เพื่อให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง และกำหนดอายุของการเกษียณอายุไว้ที่ 60 ปีบริบูรณ์
2287 ผู้เข้าชม
งาน HR ในปัจจุบัน มีความสำคัญต่อองค์กรมากขึ้นกว่าในอดีต เพราะปัจจุบันทรัพยากรบุคคลถือเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดขององค์กร HR จึงเปรียบเสมือนหุ้นส่วนทางธุรกิจ ซึ่งไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่ คัดคนเข้า เอาคนออก ตรวจบัตรตอก ออกใบเตือน อย่างที่คนภายนอกเข้าใจอีกต่อไป
5649 ผู้เข้าชม
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์