กระบวนการสมัครงานของคุณได้ผ่านพ้นไปแล้วตั้งแต่ขั้นตอนการส่งประวัติส่วนตัวไปยังนายจ้างการสัมภาษณ์งานในแต่ละรอบ จนตอนนี้คุณคือผู้ถูกเลือกจากนี้ไปคุณต้องทำอะไรบ้าง
"ตรวจสุขภาพ" บางบริษัทอาจส่งคุณไปตรวจร่างกาย ว่าคุณมีสุขภาพดีสามารถทำงานให้เขาได้หรือไม่ ซึ่งหากไม่ได้เป็นโรคร้ายแรง ส่วนใหญ่ก็ไม่มีปัญหา ได้ทำงานแน่นอน
"หาผู้ค้ำประกัน" หากเป็นงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเงิน ๆ ทอง ๆ อาจต้องมีผู้ค้ำประกัน ซึ่งบางแห่งไม่อนุญาตให้ญาติเป็นผู้ค้ำประกัน ผู้สมัครงานจึงต้องหาผู้ใหญ่ที่เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับนับถือมาเป็นผู้ค้ำประกันให้
"ทำสัญญาว่าจ้าง" โดยทั่ว ๆ ไปเป็นสัญญามาตรฐานว่ามีการตกลงว่าจ้างงานกัน รวมถึงเรื่องอัตราค่าจ้าง ผลตอบแทนต่าง ๆ และข้อบังคับของบริษัท
"ทดลองงาน" แม้คุณจะได้เข้าทำงานแล้ว แต่คุณยังไม่ได้เป็นพนักงานเต็มตัว ต้องผ่านการทดลองงานเสียก่อน โดยปกติแล้วใช้เวลา 3-6 เดือน จึงจะได้บรรจุเป็นพนักงานประจำ
การเตรียมตัวสำหรับพนักงานใหม่
"เรียนรู้ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของบริษัทให้เข้าใจ" รวมถึงเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กร สไตล์การทำงาน และพยายามปรับตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมใหม่
"ตรียมเครื่องแต่งกายตามระเบียบของบริษัท" ต้องมีเครื่องแบบหรือไม่ ควรใส่กางเกง หรือกระโปรง ความสั้น-ยาวที่เหมาะสม รูปแบบของรองเท้าที่อนุญาตให้ใส่ได้
"ตรวจสอบเวลาในการเข้างานและเลิกงาน" ข้อปฏิบัติในการขาด ลา มาสาย
"ทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างาน" แม้ว่าฝ่ายบุคคลจะ เป็นคนพาคุณไปทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมงาน และพนักงานในแผนกต่าง ๆ แล้วก็ตาม ที่เหลือคือหน้าที่ที่คุณจะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนอื่น ๆ ต่อไปเอง โดยหลักแล้วพนักงานใหม่ควรมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ไม่ควรรอให้ผู้อื่นเข้ามาหา แต่ควรเป็นผู้เริ่มทำความรู้จักกับผู้อื่นก่อน อาจจะเป็นการขอความรู้ ขอคำแนะนำในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งทุก ๆ คนพร้อมจะให้ความช่วยเหลือคุณในฐานะน้องใหม่อยู่แล้ว
"เรียนรู้การทำงานจากหัวหน้างาน" หรือเพื่อนร่วมงานที่ได้รับมอบหมายให้สอนงานคุณ แสดงความสนใจใฝ่รู้ และกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ คิดตาม ซักถามข้อสงสัยต่าง ๆ หากต้องการเรียนรู้ได้ไว ต้องไม่อายที่จะถามให้เข้าใจ แล้วตั้งใจลงมือทำให้ดีที่สุด หรือลองอ่านเพิ่มเติมจากบทความนี้ได้ครับ:10 เรื่องเล็ก ๆ ของการทำงาน ฯเป็นเรื่องเล็กๆของการทำงานที่สามารถนำไปใช้ได้จริงครับ
การสร้างความประทับใจในวันแรกจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับคุณ ควรทำตัวน้ำครึ่งแก้วที่พร้อมที่จะเติมทุก ๆ สิ่ง ยอมรับสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ
ที่มา : Prosoft HCM