เป็นที่ทราบกันดีว่า เรซูเม่ที่น่าประทับใจจะเป็นใบเบิกทางให้ผู้หางานเข้าใกล้งานในฝันมากขึ้น ผู้สมัครงานจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญและให้เวลากับการเขียนเรซูเม่ ต่อมาคือการเขียนใบสมัครงานเพื่อที่จะได้รับคัดเลือกเข้าสู่กระบวนการต่อไป นั่นคือ การเรียกสัมภาษณ์งาน ด้วยเทคนิคในการเขียนเรซูเม่อย่างมืออาชีพที่ผู้หางานต้องเรียนรู้และนำไปพัฒนาเรซูเม่ของตนเองให้น่าสนใจและเข้าตานายจ้าง
1. ทำให้นายจ้างเห็นว่า คุณมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ
ในบรรดาใบสมัครงานที่คุณร่อนไปตามบริษัทต่าง ๆ นั้น มีกี่ฉบับที่คุณแสดงให้นายจ้างเห็นว่าคุณเป็นผู้ที่เหมาะสมกับบริษัทอย่างแท้จริง ใบสมัครที่จะเรียกร้องความสนใจจากนายจ้าง และทำให้นายจ้างหันกลับมาพิจารณาเรซูเม่ของคุณ อยากอ่านประวัติของคุณ อยากทำความรู้จักกับคุณเพิ่มขึ้น ใบสมัครนั้นจะต้องแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในตำแหน่งงานนั้น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของบริษัท และนายจ้างพิจารณาว่าความเชี่ยวชาญของคุณสามารถทำประโยชน์ให้แก่บริษัทได้ ไม่ใช่ใบสมัครที่ทำให้นายจ้างรู้สึกเสียเวลาไปกับการอ่านประวัติของผู้สมัครงานที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม เพราะฉะนั้น เพื่อเป็นการประหยัดเวลาของนายจ้าง รวมทั้งของตัวคุณเองด้วย ควรเลือกส่งใบสมัครเฉพาะตำแหน่งงานที่คุณมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ จะดีกว่า
2. ตั้งเป้าหมายในอาชีพ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัท
ผู้สมัครงานควรตอบคำถามตัวเองให้ชัดเจนก่อนว่า งานที่คุณกำลังมองหานั้นเป็นงานประเภทใด มีบทบาทอย่างไรต่อบริษัท คุณจึงจะสามารถเขียนจุดมุ่งหมายในอาชีพได้อย่างเหมาะสม โดยบริษัทจะพิจารณาจุดมุ่งหมายในอาชีพของผู้สมัครว่าสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของบริษัทหรือไม่ แน่นอนว่า ผู้สมัครที่กำหนดเป้าหมายโดยไม่ได้คำนึงถึงบริษัทที่ตนสมัครงานเลย กำหนดความคาดหวังไปกันคนละทิศละทางกับบริษัท หรือแม้แต่กำหนดเป้าหมายในอาชีพโดยยึดตัวเองเป็นหลัก เป็นเป้าหมายที่คำนึงถึงความเติบโตของตัวเองมากกว่าที่จะทำให้บริษัทเติบโต ย่อมไม่มีบริษัทไหนคิดที่จะพิจารณาใบสมัครของคุณต่อ
3. เรซูเม่สำหรับแต่ละบริษัทย่อมไม่เหมือนกัน
เรซูเม่แต่ละฉบับย่อมสร้างขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งโดยเฉพาะ คุณควรสร้างเรซูเม่ที่แตกต่างกันในแต่ละครั้งที่คุณสมัครงาน มากกว่าที่จะทำตัวเหมือนหุ่นยนต์ ด้วยการสื่อสารกับนายจ้างทุกคนด้วยข้อความเดียวกันหมด แล้วคุณจะเข้าถึงความต้องการที่แตกต่างกันของนายจ้างแต่ละคนได้อย่างไร จงใช้เวลาในการสร้างสรรค์เรซูเม่แต่ละฉบับให้น่าประทับใจ เพื่อตอบโจทย์นายจ้างที่นายจ้างต้องการมากที่สุด เช่นนี้แล้ว ไม่ว่านายจ้างคนใดก็ตามจะไม่มองข้ามเรซูเม่ของคุณไปอย่างแน่นอน
4. เชื่อมโยงทักษะในตำแหน่งงานเดิมไปสู่ตำแหน่งงานใหม่
แม้คุณจะไม่มีประสบการณ์ตรงในตำแหน่งงานที่คุณสมัคร แต่คุณก็สร้างความโดดเด่นให้กับเรซูเม่ของคุณได้ เพียงคุณแสดงให้นายจ้างเห็นว่าคุณสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์และทักษะที่คุณมีในตำแหน่งงานเดิม ไปสู่คุณสมบัติในตำแหน่งงานใหม่ได้อย่างไร ประสบการณ์อันมีค่าของคุณสามารถทำประโยชน์ให้แก่บริษัทได้อย่างไร เมื่อนายจ้างเล็งเห็นถึงความสามารถของคุณ คุณก็จะกลายเป็นม้ามืดที่มาแรงแซงทางโค้งยิ่งกว่าผู้สมัครคนอื่น ๆ ที่มีประสบการณ์ตรงแต่ไม่สามารถเชื่อมโยงความสามารถมาใช้กับตำแหน่งงานใหม่ได้
5. เก็บรายละเอียดให้ถี่ถ้วน
ผู้สมัครจำนวนไม่น้อยที่ตกม้าตายกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ความบกพร่อง สะเพร่า ประมาท เลินเล่อ ในการเก็บรายละเอียดการสะกดคำ บางคนสะกดชื่อบริษัทผิด หรือสะกดชื่อตำแหน่งผิด พิมพ์ข้อความตก ๆ หล่น ๆ สร้างความไม่ประทับใจให้แก่นายจ้าง แสดงให้นายจ้างเห็นว่าคุณเป็นคนไม่รอบคอบ แม้ในเรื่องที่คุณสามารถเตรียมการได้ก่อนล่วงหน้า คุณก็ยังแสดงความบกพร่องออกมา และความบกพร่องเช่นนี้เองที่อาจส่งผลต่อความไม่รอบคอบในการทำงานใหญ่ ซึ่งอาจเกิดความเสียหายต่อบริษัทได้ ผู้สมัครจึงควรตรวจทานเรซูเม่ให้เรียบร้อยก่อนส่ง เพราะสิ่งเล็กน้อยที่คุณมองข้ามสามารถชี้ชะตาของคุณได้อย่างไม่น่าเชื่อ