ในบางครั้งหัวหน้างานหลายต่อหลายคนอาจจะประสบปัญหา “ เหนื่อยใจ ” กับลูกน้องที่ตนต้องดูแลรับผิดชอบ เหตุเพราะหัวหน้างานจะต้องเผชิญกับลูกน้องที่แสดงออกด้วยพฤติกรรมในแบบฉบับที่แตกต่างกันไป บางคนก้าวร้าวไม่ยอมทำตาม ชอบท้าทายและพิสูจน์ “ กึ๊น ” ของหัวหน้างาน ลูกน้องบางคนเอาแต่เล่น MSN หรือ Chat ทั้งวัน ไม่ใส่ใจในงานที่รับผิดชอบ หรือบางคนชอบพูดจาซุบซิบนินทาหัวหน้างาน ชอบให้ร้ายหรือว่าร้ายหัวหน้างานกับคนอื่น ๆ
อลิสว่าหัวหน้างานต้องเจอะเจอกับลูกน้องจำพวกนี้ไม่มากก็น้อย เพื่อนอลิสบางคนเจอลูกน้องที่ชอบลองภูมิหัวหน้างาน ดูว่าหัวหน้าจะเก่งแค่ไหน ไม่ยอมให้ข้อมูล หรือให้ข้อมูลที่ถูกบ้างผิดบ้าง คุณรู้ไหมค่ะว่า เกิดอะไรขึ้นกับเพื่อนของอลิสคนนี้ ในที่สุดเขาลาออกจากงานไป เพราะทนปกครองลูกน้องจำพวกนี้ไม่ได้
อลิสคิดว่าการลาออกไม่ใช่หนทางในการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด ทางเลือกมีอยู่มากมายค่ะ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เองถือได้ว่าเป็นสิ่งเร้าที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดหัวหน้างานมีพฤติกรรมการตอบสนองหรือตอบรับที่แตกต่างกันออกไป การตอบสนองที่ดีมิใช่การหลีกหนี หลีกเลี่ยง กลัว ไม่กล้าที่จะเผชิญกับสิ่งเร้าที่เกิดขึ้น ความรู้สึกเหนื่อยใจจนถอนตัวออกจากองค์การนั้น ๆ ไป ถือว่าคุณกำลังจะเป็น “ ผู้แพ้ ” ที่ยังไม่ลองสู้ (กันสักตั้ง) เอาแบบสุด ๆ ไปเลย เมื่อคุณเจอกับพฤติกรรมของลูกน้องที่ไม่ได้ดังใจหรือไม่เป็นไปตามที่ใจปรารถนา อลิสขอให้คุณอดทนและพยายามหาเทคนิควิธีการบริหารจัดการกับพฤติกรรมของลูกน้องที่ทำให้หัวหน้างานต้องเหนื่อยใจให้ได้ อลิสมีเทคนิคง่าย ๆ ลองไปใช้ปฏิบัติกัน ดังต่อไปนี้ค่ะ
รู้จักลูกน้องให้ดีพอ คุณต้องถามตนเองก่อนว่าได้รู้จักลูกน้องคนนั้นพอหรือไม่ เคยเข้าไปสอบถามความต้องการหรือสิ่งที่ลูกน้องคาดหวังบ้างหรือไม่ คุณรู้หรือไม่ว่าลักษณะนิสัยของลูกน้องแต่ละคนเป็นอย่างไร การที่หัวหน้างานมี ego สูงที่คิดว่าตนเองเป็นหัวหน้างานแล้ว ลูกน้องต้องเคารพและต้องเข้าหาตนเองก่อน คิดผิดถนัดค่ะ การเริ่มต้นเข้าไปพูดคุยกับพวกเขา ถามไถ่ทุกข์สุข และการพยายามศึกษานิสัยที่แท้จริงของลูกน้อง รวมถึงสาเหตุหรือที่มาของนิสัยและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นของลูกน้องแต่ละคน เป็นสิ่งที่หัวหน้างานควรกระทำเป็นอย่างยิ่งค่ะ
แสดงผลงานให้ยอมรับ จงพยายามเร่งสร้างผลงานให้ลูกน้องยอมรับในตัวคุณ เพราะผลงานที่ถูกยอมรับจะช่วยให้ลูกน้องเคารพและศรัทธาในตัวคุณได้ หากคุณไม่มีผลงานหรือแสดงพฤติกรรมตามแบบที่ลูกน้องคิดไว้ โดยไม่เคยแสดงกึ้นให้ลูกน้องรับรู้เลย แน่นอนว่าพวกเขาจะปฏิเสธและยอมรับฟังในสิ่งที่คุณต้องการให้พวกเขาไปปฏิบัติ
สร้างบารมีเพื่อผูกมิตรสัมพันธ์ หากคุณเจอกับลูกน้องที่ทำให้ต้องเหนื่อยใจมาก ๆ การสร้างบารมีเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง บารมีมิใช่กฎระเบียบ ข้อบังคับที่นำมาใช้เพื่อลงโทษเมื่อลูกน้องไม่ทำตามคำสั่งที่คุณมอบหมาย แต่บารมีนั้นเป็นการผูกจิต ผูกใจให้ลูกน้องรัก และอยากทำงานให้กับหัวหน้างาน แบบว่า “ ถวายหัว ” เอาเลยก็ว่าได้ เทคนิคการสร้างบารมีนั้นง่ายมาก นั่นคือพยายามหาวิธีการตีสนิทกับลูกน้อง ไม่ว่าจะเป็นด้วยการพูดหรือการกระทำ
ให้มองทางบวก เมื่อคุณพยามปรับพฤติกรรมเท่าไหร่ ลูกน้องก็ยังซุบซิบนินทาคุณอยู่เหมือนเดิม หรือยังไม่ชอบหน้าคุณขึ้นมาเลย อลิสแนะนำว่าคุณไม่ต้องไปใส่ใจอะไรหรอกนะคะ ต้องยอมรับค่ะว่าพฤติกรรมคนยากแท้หยั่งถึง คนเรานานาจิตตัง ถ้าเราปรับเขาให้ยอมรับและปฏิบัติตามในสิ่งที่คุณเองมอบหมายให้ไม่ได้ ง่ายนิดเดียวค่ะ ก็ปรับความคิดของตนเองแล้วกัน ไม่ต้องไปโกรธ หรือถือโทษ ต่อว่าลูกน้องคนนั้น ต้องคิดเสมอว่า “ เจอลูกน้องแบบนี้บ้าง ท้าทายดีเหมือนกัน ” คุณอย่าเพิ่งถอนตัวไปซะก่อน การลาออกไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีสุด แต่การเผชิญหน้ากับสิ่งเร้าที่ท้าทายนี้ เป็นการทางออกหรือทางเลือกที่คุณควรทำ
ดังนั้น การปรับพฤติกรรมของลูกน้องจึงเป็นเรื่องที่ไม่ยากและไม่ง่ายนักสำหรับผู้บริหาร หรือผู้จัดการที่ต้องปกครองดูแลลูกน้อง หัวหน้างานที่ดีไม่ควรละเลยที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกน้องเพื่อให้ลูกน้องยอมรับ ศรัทธา และให้ใจพร้อมที่จะช่วยเหลือภาระงานต่าง ๆ ของหัวหน้างาน