ยุทธการปราบเพื่อนเลี่ยงงาน

ยุทธการปราบเพื่อนเลี่ยงงาน


      สัปดาห์ที่แล้วได้นำเสนอปัญหาสังคมของคนทำงานที่นับเป็นปัญหาท็อปฮิตมาก ที่สุดปัญหาหนึ่ง คือการมีเพื่อนร่วมงานที่มีพฤติกรรมเป็น “เพื่อนเลี่ยงงาน” ที่สร้างความขมขื่น น่ารำคาญ ให้กับเพื่อนร่วมงานที่ขยันขันแข็งเป็นอย่างยิ่ง เพราะคนตั้งใจทำงานจะรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ จากนั้นก็มีคำถามตามมาว่า เรา (คนที่ถูกเอาเปรียบโดยเพื่อนเลี่ยงงาน) จะจัดการกับปัญหาเรื่องนี้อย่างไรดี ทั้งนี้ ผู้เขียนได้เชิญชวนให้ท่านผู้อ่านได้ e-mail เล่าประสบการณ์ที่ได้พานพบกับเพื่อนเลี่ยงงานให้ฟัง รวมถึงวิธีการต่างๆ ที่ได้เคยใช้ในการจัดการกับเพื่อนเลี่ยงงานด้วย


     
ปรากฏว่าในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีผู้อ่านส่งเรื่องราวเกี่ยวกับเพื่อนเลี่ยงงานมายังผู้เขียนหลายท่าน ล้วนเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าเห็นใจทั้งสิ้น โดยหลายๆ เรื่องไม่อยากจะเชื่อว่าฝ่ายบริหารขององค์กรสามารถปล่อยให้พนักงานบางคนทำ ตัวเป็นเพื่อนเลี่ยงงานได้แสบขนาดนั้น ผู้เขียนได้คัดเลือกเรื่องราวที่น่าสนใจบางเรื่อง เพื่อนำมาเล่าในคอลัมน์นี้ ซึ่งเป็นประสบการณ์จากองค์กรของไทย นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้นำเรื่องราวของมนุษย์ทำงานจากประเทศอื่นมาเล่าผสมกันด้วย แล้วท่านจะเห็นว่าปัญหาเรื่องเพื่อนเลี่ยงงานนี้ เป็นปัญหาระดับอินเตอร์จริงๆ ลองมาเรียนรู้ประสบการณ์ของพวกเขากันดูที


(ไทย)
      “ฉันทำงานหนักมาตลอด 12 ปีที่ผ่านมา และเบื่อหน่ายที่ต้องเจอเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งที่เวลาผู้จัดการไม่อยู่จะเข้า ทำงานสายเป็นประจำ หยุดพักเที่ยงนานกว่า 1 ชั่วโมง และกลับบ้านเร็วกว่าเวลาเลิกงาน แต่พอเวลาผู้จัดการอยู่ในออฟฟิศ เขาจะเข้าไปพบผู้จัดการเพื่อขอคำปรึกษาในการทำงาน และอยู่ที่โต๊ะทำงานทั้งวัน (อันที่จริงใช้เวลาส่ง e-mail เสียมากกว่า) ทุกคนในออฟฟิศรู้กันทั้งนั้น แต่ไม่มีใครรายงานผู้จัดการ ฉันอยากจะรายงานผู้จัดการเหมือนกัน แต่กลัวโดนผู้จัดการเข้าใจผิด และกลัวโดนคนอื่นกล่าวหาว่าฉันเป็นคนขี้ฟ้อง”

(ต่างชาติ)
      “ฉันมีเพื่อนร่วมงานยอดขี้เกียจและเลี่ยงงานเก่งเป็นยอดคนหนึ่ง ฉันรู้สึกหงุดหงิดใจมากที่ต้องทำงานร่วมกับเขาคนนี้ เขาไม่เคยเตรียมพร้อมเลย ทำงานด้วยกันทุกครั้งฉันต้องเป็นคนเตรียมข้อมูลป้อนให้เขา และเวลาเขาออกความเห็นอะไรก็ล้วนเป็นความเห็นทื่อๆ โง่ๆ ที่ฟังแล้วรู้เลยว่าเขาไม่ได้ทำการบ้านมา ฉันเคยพูดกับเขาตรงๆ เรื่องนี้ และขอให้เขาปรับปรุงตัว ตั้งแต่นั้นมาเขาเรียกฉันลับหลังว่า ‘ยายตัวแสบ’ และไปฟ้องนายว่าฉันทำให้ทีมงานรู้สึกแย่ ซึ่งฉันไม่รู้เลยว่านายมองฉันในภาพลบอยู่นาน อย่างไรก็ตาม ในที่สุดเพื่อนเลี่ยงงานคนนี้ก็ลาออกไปอยู่รัฐอื่น ฉันนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ถ้าเขายังไม่ลาออก ฉันจะโดนแทงข้างหลังอีกกี่แผล!”

(ไทย)
      “ผมมีเพื่อนเลี่ยงงานคนหนึ่งที่มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผม คิดดูสิครับว่ามีเพื่อนเลี่ยงงานที่ทำงานอยู่ในระดับเดียวกันก็แย่พอแล้ว แต่ถ้าเจอหัวหน้าที่เป็นนักเลี่ยงงานตัวยงจะเศร้าแค่ไหน หัวหน้าของผมชอบโละงานให้ลูกน้องทำ แต่ความดีความชอบเป็นของหัวหน้าหมด ผมไม่รู้ว่าจะหนีสถานการณ์นี้ได้อย่างไร รู้สึกลำบากใจจริงๆ มีข้อแนะนำบ้างไหมครับ?”

(ต่างชาติ)

      “ฉันมีประสบการณ์ทำงาน 15 ปี 2 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่แย่มากๆ สำหรับฉัน ฉันมีเพื่อนที่ทำงาน อ้อ! ไม่ใช่เพื่อนสิ! เขาเป็นคนที่ทำงานในแผนกเดียวกับฉัน วันๆ ไม่ทำอะไร อ่านแต่นิตยสาร Sport Illustrated ที่มีแต่รูปสาวๆ นุ่งน้อยห่มน้อย ไม่ก็เปิดเว็บไซต์ภาพลามก ฉันเคยพูดคุยกับหัวหน้าเกี่ยวกับพฤติกรรมของเขา แต่กลับได้รับคำตอบว่ามันเป็นพฤติกรรมปกติของผู้ชาย! และฉันไม่ควรคิดมาก ฉันรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมเลย ที่ผู้ชายคนนี้นั่งสบายอารมณ์ ในขณะที่คนอื่นตั้งหน้าตั้งตาทำงาน พอสิ้นเดือนก็ได้รับเงินเดือนเหมือนกัน ความเครียดในเรื่องนี้ทำให้ฉันนอนไม่หลับ อารมณ์หงุดหงิด ทั้งในที่ทำงาน แล้วพาลทำให้ชีวิตครอบครัวของฉันเกือบพินาศไปด้วย สุขภาพของฉันแย่ลง ต้องกินยาคลายเครียด ฉันต้องใช้ทั้งเงินและเวลาในการรักษาสุขภาพจิตของตัวเองเกือบครึ่งปี กว่าจะทำใจยอมรับแล้วพยายามลืมเรื่องนี้ไปให้ได้ มันไม่คุ้มค่าเลยค่ะที่เราต้องมีชีวิตที่ย่ำแย่เพราะคนเพียงคนเดียว เดี๋ยวนี้ฉันรู้จักเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แล้วเริ่มทำตัวสบายๆ บ้าง งานไม่เสร็จก็ช่างมัน ทีคนอื่นยังทำได้ ฉันก็ทำได้ ใครจะว่าว่าทางแก้ปัญหาของฉันไม่สร้างสรรค์ก็ช่าง!”

(ไทย)

      “ฉันรู้สึกยอมไม่ได้ที่จะเห็นคนเลี่ยงงานลอยนวลอยู่ในสำนักงาน ฉันพยายามทำทุกวิถีทางตั้งแต่นัดพูดคุยกับเพื่อนเลี่ยงงานคนนั้น ซึ่งเขาปฏิเสธคอเป็นเอ็นว่าเขาทำงานหนัก แต่ฉันมองไม่เห็นเอง เมื่อไม่เป็นผล ฉันก็ลองพยายามพูดกับหัวหน้าดู หัวหน้าเองก็ไม่ค่อยชอบเขาเท่าไหร่ แต่หัวหน้าก็ไม่กล้าว่ากล่าวตักเตือนเขามากนัก เพราะหัวหน้าเป็นคนขี้เกรงใจคน ฉันเลยใช้วิธีใหม่ด้วยการล็อบบี้เพื่อนฝูงในที่ทำงานที่ถูกคนคนนี้โบ้ยงาน ให้ร่วมกันกดดันเขา เริ่มจากทีแรกไม่พูดด้วย ไม่ชวนไปทานข้าวด้วย เวลาหัวหน้าสั่งงานเราก็จะปฏิเสธไม่ร่วมงานกับเขา ทำให้เขาเป็นคนนอกกลุ่ม หนักๆ เข้าเขาทนไม่ไหวก็ต้องปรับนิสัย”

(ต่างชาติ)

      “ผมเจอเพื่อนเลี่ยงงานตลอดชีวิตการทำงานของผมเลยล่ะ ทุกบริษัทมีคนประเภทนี้ และฝ่ายบริหารก็ปล่อยปละละเลยให้คนพวกนี้ สามารถเอารัดเอาเปรียบพนักงานคนอื่นๆ อย่างสบายๆ วิธีรับมือของผมก็คือ เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำงานอะไร ผมจะขอรายละเอียดเรื่องเป้าหมาย ขั้นตอนการทำงาน และบุคคลที่จะรับผิดชอบงานแต่ละขั้นตอนโดยละเอียด พูดง่ายๆ คือ ต้องให้เคลียร์กันตั้งแต่ต้นไปเลยว่าใครรับผิดชอบเรื่องอะไร วิธีนี้ช่วยลดปัญหาลงไปได้มากเลย แต่สำคัญว่าคุณต้องเป็นคนมองงานออกนะ ว่างานแต่ละชิ้นควรมีขั้นตอนการทำงานอะไรบ้าง เพราะถ้าเจอหัวหน้าที่มองงานไม่ออก แล้วสักแต่ว่าสั่งงานมาให้พนักงานจัดการกันเอง ก็ลำบากหน่อย เพราะแต่ละคนก็พยายามไม่ทำงานกันทั้งนั้น!”

      ยกตัวอย่างมามากพอสมควรแล้วนะคะ สำหรับเนื้อที่ของคอลัมน์นี้ จะเห็นได้ว่ามีวิธีการอยู่หลายวิธีด้วยกันในการรับมือกับเพื่อนเลี่ยงงาน ซึ่งมีตั้งแต่พยายามพูดจาปรับความเข้าใจกับเพื่อนเลี่ยงงานโดยตรง พูดกับหัวหน้างานให้ตักเตือน เลี่ยงงานบ้างเป็นการตอกกลับ ล็อบบี้คนอื่นๆ ให้บอยคอตเพื่อนเลี่ยงงาน หรือบางคนก็ทนเอา และรอจนกว่าเพื่อนเลี่ยงงานจะลาออกไป สารพัดวิธีเหล่านี้เป็นวิธีที่คนไทยและคนต่างชาติใช้ในการแก้ปัญหา คราวนี้ผู้เขียนขอนำเสนอวิธีแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยอิงกับหลักการของผู้เชี่ยวชาญบ้าง


วิธีแก้ปัญหาเพื่อนเลี่ยงงานอย่างมืออาชีพ

      1.วิเคราะห์ผลกระทบของปัญหา ผู้เชี่ยวชาญโดยมากไม่แนะนำให้ “จัดการ” กับเพื่อนเลี่ยงงานโดยผลีผลาม ทั้งนี้ คุณต้องวิเคราะห์ก่อนว่าคุณพอจะทนได้ไหม และเพื่อนเลี่ยงงานคนนี้ได้สร้างปัญหาที่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ผลงาน รวมทั้งผลตอบแทนของคุณหรือไม่ หากเขาเพียงทำให้คุณเบื่อหน่ายเป็นบางเวลา ก็ขอให้เลิกสนใจพฤติกรรมของเขา ถือเสียว่าธุระไม่ใช่ แต่หากมันมีผลกระทบต่อคุณดังกล่าว ก็ขอให้อ่านวิธีการแก้ปัญหาในข้อต่อไป

      2.พยายามแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อน ผู้เชี่ยวชาญไม่เห็นด้วย หากคุณจะปรี่เข้าพบหัวหน้างานเพื่อขอความช่วยเหลือ โดยไม่พยายามแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อน ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า บรรดาผู้จัดการหรือผู้ที่เป็นหัวหน้างานนั้น ส่วนใหญ่แล้วต่างคาดหวังว่าพนักงานควรมีความสามารถที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ในที่ทำงานได้ในระดับหนึ่ง ไม่ใช่เอะอะอะไรก็วิ่งหานายเรื่อย นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องเพื่อนเลี่ยงงานเป็นปัญหาที่ค่อนข้างจะซับซ้อน โดยที่ผู้จัดการส่วนหนึ่งมองว่าเป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน ร่วมงาน ควรพูดจาตกลงกันเองได้ ดีไม่ดีจะหาว่าคุณมีปัญหาเข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้เสียอีกแน่ะ ดังนั้น ลองแก้ไขปัญหาด้วยตนเองก่อน โดยอาจเริ่มจากการพยายามพูดคุยปรับความเข้าใจเรื่องความรับผิดชอบงานกับ บุคคลนั้นก่อน และถ้าเขาคนนั้นไม่ได้จงใจเลี่ยงงานแบบเต็มๆ แต่เป็นเรื่องของความสับสนในหน้าที่ คุณก็อาจเคลียร์กันได้ แต่ถ้าเขาเลี่ยงงานอย่างจงใจก็ต้องใช้วิธีอื่นดังนี้

     
เวลาเจ้านายสั่งงานมาให้ทำ ก็ขอเคลียร์กับเจ้านายก่อนเริ่มงานเลยว่าจะให้คุณและคนอื่นๆ รับผิดชอบในเรื่องอะไรบ้าง จากนั้นก็ให้ทำบันทึกคำสั่งการปฏิบัติการ และระบุรายชื่อผู้รับผิดชอบงานส่วนต่างๆ ไว้เป็นหลักฐาน เวลาทำงานจะได้ไม่ต้องมานั่งถกกัน และเกี่ยงกันว่าใครต้องทำอะไร
 

      ใช้วิธีบอยคอตเพื่อนเลี่ยงงาน แน่นอนที่บางครั้งคงไม่สามารถกำหนดความรับผิดชอบงานให้เคลียร์กันตั้งแต่ต้นได้ เปิดโอกาสให้คนบางคนทำตัวเป็น “นินจา” คือชะแว้บ! หายตัวไม่มาทำงานได้ หากเป็นอย่างนั้นบ่อยๆ ก็รวมกลุ่มกับเพื่อนคนอื่นๆ ทำการบอยคอตไม่พูดด้วยซะเลย กดดันคนเลี่ยงงานให้สำนึกตัวเสียบ้าง!
 

      ให้ทำบันทึกทุกครั้งที่เพื่อนเลี่ยงงานหายตัวไม่มาทำงาน เช่น เก็บสถิติการเข้างาน การพักเที่ยง การขาดประชุมของบุคคลคนนั้น ถ้าสามารถบันทึกภาพเวลาเขาหายตัวจากที่ทำงานไปนั่งร้านกาแฟจีบสาวได้ยิ่งดี เก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้เตรียมให้เจ้านายดู จะได้จนมุมด้วยหลักฐาน

     
3.การเข้าพบเจ้านายเพื่อรายงานพฤติกรรมของเพื่อนเลี่ยงงาน หากได้ทดลองแก้ปัญหาด้วยตนเองหลายวิธีแล้วยังไม่ได้ผล ก็คงต้องพึ่งผู้บังคับบัญชา แต่ก็ต้องวิเคราะห์ดูนิสัยของเจ้านายก่อนว่าเป็นคนมีใจยุติธรรม ไม่ลำเอียง และกล้าฟันธงหรือไม่ หากเจ้านายคอยให้ท้ายเพื่อนเลี่ยงงานก็แย่หน่อย หรือถ้าเป็นคนใจดีไม่กล้าดุลูกน้องก็แย่อีกเช่นกัน ดังนั้น จะเหลือทางเลือกอีกไม่มาก คือ เก็บหลักฐานการเลี่ยงงานทั้งหลายส่งเข้าแผนก HR ซึ่งก็เสี่ยงกับการถูกเจ้านายกลั่นแกล้ง เพราะไม่พอใจที่คุณข้ามขั้นตอน แต่ถ้าตรองดูแล้วว่าคุ้มก็ให้เดินหน้าไปเลย แต่ต้องแน่ใจว่ามีหลักฐานพร้อมจริงๆ หลักฐานนี่แหละจะช่วยให้คุณไปรอด

     
จะเห็นว่ายุทธการปราบเพื่อนเลี่ยงงานนี้ไม่ใช่ของง่าย แต่เราก็ขอเอาใจช่วยให้คุณเอาชนะคนเอาเปรียบให้ได้นะคะ แต่ถ้าทนไม่ไหวจริงๆ ก็หาที่ทำงานใหม่เถิดค่ะ ยังมีงานดีๆ รอคนขยันอย่างคุณอีกมาก


ที่มา : http://www.jobjob.co.th

 3550
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

People Management

ไม่พบรายการที่คุณค้นหา
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์