คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลาเราเจอใครครั้งแรก ความรู้สึกที่จะบอกว่าจะชอบ หรือไม่ชอบนั้น ส่วนหนึ่งมาจากบุคลิก ท่าทางการแสดงออก การแต่งเนื้อแต่งตัวของฝ่ายตรงข้าม ณ เวลานั้น หลังจากนั้นจึงไปสู่ขั้นตอนของการพูดจา เพื่อทำความรู้จักกับทัศนคติ และตัวตนที่ลึกซึ้งต่อๆ ไป
เรื่องของการสร้างบุคลิกภาพให้น่าสนใจนั้น ประณม ถาวรเวช ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลิกภาพ จอห์นโรเบิร์ต พาวเวอร์ส แนะนำว่า นอกจากสร้างบุคลิกภาพที่น่าประทับใจ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนใหม่ๆ แล้ว การรักษาความสัมพันธ์ที่มีอยู่แล้วก็เป็นสิ่งจำเป็นด้วยเช่นกัน และการที่คนคนหนึ่งมีบุคลิกภาพที่ดี และประทับใจต่อคนรอบข้างนั้น ถือว่าคนคนนั้นมีต้นทุนที่ดีอยู่แล้วที่จะพบกับความสำเร็จได้โดยง่าย และบุคลิกที่ดีก็เป็นต้นทุนที่ไม่ต้องซื้อหา ไม่ต้องใช้เงิน เป็นต้นทุนที่มีมาตั้งแต่เกิด แต่ก็สามารถฝึกฝนกันได้ตลอดเวลา อ่านเพิ่มเติม:บุคลิกภาพของผู้สมัครงานที่นายจ้างต้องการ
การที่จะสร้างบุคลิกภาพให้น่าประทับใจนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพียงก่อนอื่นต้องปรับทัศนคติให้ได้เสียก่อน ว่าต้องการจะมีบุคลิกภาพที่ดี หลังจากนั้นก็ต้องรู้จักระมัดระวังตัว มีสติรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ และวางตัวให้เหมาะกับกาลเทศะ ซึ่งอาจารย์ประณมแนะนำว่าต้องเริ่มตั้งแต่การแต่งตัว การพูดจา การเดิน การนั่ง ไปจนถึงการตรงต่อเวลากันเลยทีเดียว
การแต่งกาย
ก่อนอื่นจะต้องถามตัวเองเสียก่อนว่าวันนี้จะไปที่ไหน ไปพบใคร เนื่องจากการแต่งกายให้เหมาะสมกับกาลเทศะ นับว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นการให้เกียรติกับสถานที่ ให้เกียรติกับเจ้าของงาน และที่สำคัญเป็นการให้เกียรติกับองค์กรที่เราทำงานอยู่ เพราะตัวเราต้องเป็นภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร
นอกจากนั้น การแต่งตัวก็ต้องให้ดูสะอาดสะอ้าน เลือกแบบของเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับงานที่จะไป และเหมาสมกับบุคลิกภาพของตนเองให้มากที่สุด ส่วนคนที่กังวลกับการแต่งตัวว่าจะแต่งตัวได้เหมาะสมหรือไม่นั้น อ.ประณม แนะนำว่า หากแต่งตัวไม่เป็น หรือไม่รู้ว่าจะแต่งอย่างไร ทางที่ปลอดภัยที่สุด ก็คือ ให้เลือกเสื้อผ้าที่เรียบง่ายที่สุด จะได้ไม่ดูขัดกับสายตาคน และก็ไม่ต้องวิ่งตามแฟชั่น หรือตามเทรนด์แฟชั่นมากจนเกินไป เนื่องจากการแต่งตัวที่เรียบๆ ง่ายๆ ไปที่ไหนผู้คนจะให้การยอมรับ เช่น อาจจะใส่สูท หรือ กระโปรงตัวหนึ่งกับเสื้อเชิ้ตอีกตัวหนึ่งก็สามารถไปได้ทุกที่แล้ว
การพูดจา
การพูดจาก็ถือเป็นอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญในการสร้างความ ประทับใจ ซึ่งการพูดจาที่ดีจะต้องรู้ว่าควรจะพูดอะไร พูดกับใคร จะต้องใช้น้ำเสียงอย่างไร ต้องใช้อากัปกิริยา สีหน้า และท่าทีอย่างไรในการสื่อสาร เช่น ถ้าคุยกับผู้ใหญ่อาจจะต้องเพิ่มเรื่องของหางเสียง คะ ขา เข้าไป และต้องใช้น้ำเสียงให้ดูนุ่มนวลขึ้น
ความสำคัญของการพูดจาให้เกิดความประทับใจ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประโยคแรกของการทักทาย ซึ่งการที่ใช้น้ำเสียงนุ่มนวลน่าฟัง ก็จะทำให้ผู้ที่ได้รับฟังรู้สึกดี และยิ่งประกอบกับสีหน้าท่าทางที่ดูเป็นมิตร ความประทับใจก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย และคนจะชอบหรือไม่ชอบเราก็อยู่ตรงนี้เอง
“เคยเห็นไหมบางคนที่หน้าตาสวยมาก แต่พอพูดแล้วความสวยหายไปหมด ในขณะที่บางคนไม่สวย แต่เวลาพูดแล้วดูน่าฟัง ดูมีเสน่ห์จังเลย อย่างที่บอกว่าความสวยสร้างขึ้นได้จากการมีบุคลิกภาพที่ดี เรื่องของน้ำเสียงก็มีความสำคัญเช่นกัน อาจจะพูดได้ว่าน้ำเสียงมีความสำคัญกว่าคำพูด ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ความประทับใจใครสักคน 55% จะมาจากภาษาท่าทาง เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ในขณะที่ 38% เป็นทั้งเรื่องของการวางตัว น้ำเสียง เสียงค่อย เสียงดัง พูดช้าเร็ว รวมไปถึงคุณภาพเสียง ส่วนอีก 7% ที่เหลือจะเป็นเรื่องของคำพูด”
การเดิน
การเดินอย่างสง่างามเป็นสิ่งหนึ่งที่จะสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่พบเห็นได้ เพราะสิ่งที่คนอื่นๆ มองเห็นตัวเรานอกเหนือไปจากการแต่งกายแล้วก็คือการเคลื่อนไหวนั่นเอง ซึ่งการเคลื่อนไหวที่จะทำให้เราดูน่าสนใจของผู้หญิงก็คือ การเดินให้สง่า เดินให้หลังตรง ไหล่ตรง ไม่ก้มหน้า ส่วนลักษณะการเดินของผู้ชายก็อย่างที่รู้ๆ กันว่าต้องมีลักษณะอกผาย ไหล่ผึ่ง ถึงจะเป็นการเดินที่สง่าแล้ว
“การเดินคนเดียวเราจะเดินให้สง่า เริ่ด เชิดอย่างไรก็ได้ ยิ่งเดินบนส้นสูงด้วยแล้ว ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกว่าต้องเดินให้สง่างามเข้าไว้ แต่ถ้าหากว่าเดินไปพบกับคนรู้จัก หรือจำเป็นต้องคุยกับคนอื่น บุคลิกภาพของการเดินเพียงอย่างเดียวก็อาจจะต้องมีเรื่องของการปรับท่าที เพื่อให้เหมาะสมกับกาลเทศะมาเป็นส่วนประกอบด้วย ว่าการที่ต้องพูดคุยกับใครสักคน ควรที่จะใกล้ชิด หรือห่างขนาดไหนที่จะทำให้ทั้งเขาและเราไม่รู้สึกว่าอึดอัด หรือถ้าอยู่ห่างกันจนเกินไปจะต้องตะโกนคุยกับเขาหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของการวางตัวเหมือนกัน และก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพที่ดีเช่นกัน”
การนั่ง
ส่วนใหญ่เวลานั่งคนเรามักจะปล่อยตัวไปตามสบาย บางครั้งก็ปล่อยให้ไหลลู่ไปตามลักษณะของเก้าอี้ที่นั่ง แทนที่จะนั่งหลังตรง เพื่อให้ดูมีพลัง เนื่องจากทุกการเคลื่อนไหวของร่างกาย สามารถบ่งบอกได้ถึงพลังที่มีในตัวได้ แต่ถ้านั่งหลังไม่ตรง ความน่าเชื่อถือ และความน่าสนใจในบุคคลนั้นก็จะไม่มี โดยไม่ว่าจะไปนั่งที่ไหนทุกๆ ที่ยกเว้นที่บ้านเราจะต้องระวังไม่ได้ปล่อยตัวตามสบาย เพื่อให้มีบุคลิกภาพที่ดี ซึ่งเรื่องแบบนี้สามารถฝึกฝนกันได้ เนื่องจากคนที่ระมัดระวังในการนั่งอยู่เป็นประจำ ถึงจะนั่งสบายๆ แต่ก็ยังมีมาดอยู่ในตัว
“การนั่งเก้าอี้ถ้าจะถามว่านั่งแบบไหนต้องนั่งเต็มเก้าอี้หรือเปล่า อันนี้ต้องแล้วแต่ว่านั่งที่ไหน และสถานการณ์อย่างไร ถ้านั่งประชุมเป็นเวลานานๆ นั่งครึ่งเก้าอี้ก็อาจจะไม่ได้ ก็ต้องนั่งเต็มเก้าอี้ แต่ก็ไม่ต้องลู่ตัวลงมา แต่ถ้านั่งคุยกับใครสักคน และใช้เวลาไม่นานก็อาจจะนั่งสักเศษ 3 ส่วน 4 ของเก้าอี้ เพื่อให้หลังไม่รู้สึกว่าพิงพนัก เพราะหลังนี่มีความสำคัญมาก ถ้าหลังตรงจะทำให้เราดูดี และคนที่ทำอยู่เป็นประจำก็จะรู้สึกไม่เมื่อย แต่เมื่อไหร่ห่อตัวจะรู้สึกว่าเมื่อย หายใจไม่สะดวก ข้อดีของการนั่งหลังตรงจะทำให้การหายใจดีขึ้น การพูดก็ดีขึ้น เพราะลมจะต้องออกมาจากท้อง การนั่งห่อตัวจะทำให้ลมออกมาได้ลำบาก”
การตรงต่อเวลา
ประณม บอกว่า ข้อแรกของการมีมารยาทสังคม ที่ดีก็คือการฝึกตัวเองให้เป็นคนตรงต่อเวลา เพราะ ถือเป็นสิ่งที่จะสร้างเสริมให้เรากลายเป็นคนที่มีบุคลิกภาพที่ดี และน่าประทับใจไม่ว่าจะในเรื่องใดก็ตาม เช่น การนัดหมาย การประชุม เพราะจะแสดงถึงการเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ และหากว่าใครที่ได้รับเชิญให้ไปออกงานสังคมบ่อยๆ นั้น เรื่องของเวลาเป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน และถือเป็นมารยาทสำคัญที่จะต้องไปให้ตรงเวลาก่อนงานเริ่มสักเล็กน้อย โดยจะต้องดูเวลาที่กำหนดเอาไว้ในบัตรเชิญ เช่น ถ้าเป็น งานค็อกเทล อาจจะไปช้ากว่าในบัตรเชิญประมาณ 15-30 ไม่ถือว่าเสียมารยาท แต่ถ้างานนั้นเป็นบุฟเฟ่ต์ หรือโต๊ะจีน จะต้องมาให้ตรงเวลา
“การที่จะกลายเป็นคนที่มีบุคลิกภาพที่ดีได้นั้น หากฝึกไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะเป็นไปโดยธรรมชาติเอง แต่ก่อนอื่นคงต้องปรับทัศนะคติก่อน ถ้าปรับทัศนะคติได้ว่าอยากจะสร้างบุคลิกให้ดี ก็จะทำได้ทุกวันจนเกิดเป็นความเคยชิน และกลายเป็นนิสัย และเป็นการกระทำใหม่ที่เราไม่รู้สึกอึดอัด เพราะเคยมีการสำรวจว่าการที่เราทำอะไรทุกวันเป็นระยะเวลา 21 วันจะกลายเป็นนิสัยใหม่ได้” ประณม กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : http://www.jobjob.co.th