ปรับความคิด เปลี่ยนมุมมองใหม่ในที่ทำงาน

ปรับความคิด เปลี่ยนมุมมองใหม่ในที่ทำงาน

 
      Post Today - หากว่าคุณไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัท เจ้าขององค์กร มีธุรกิจส่วนตัว หรือประกอบอาชีพอิสระ แน่นอนคุณย่อมเป็นหนึ่งในรายชื่อมนุษย์เงินเดือน อาจจะเป็นภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน แต่นั่นก็เรียกได้ว่าคุณมีอาชีพ “รับจ้าง” รับจ้างทำงานตามความสามารถ ตามความเชี่ยวชาญที่มี และก็เซ็นสัญญาเป็นพนักงานขององค์กรบริษัทนั้นๆ อย่างเต็มตัว และก่อนที่คุณจะตัดสินใจเข้าไปทำงานที่บริษัทหรือ องค์กรนั้นๆ เชื่อว่าคุณคงเลือกและมั่นใจแล้วว่าองค์กรนั้น สามารถสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตหน้าที่การงานได้ในระดับที่คุณต้องการ


      ในช่วงแรกของการทำงาน คุณอาจมองว่าเป็นไปด้วยความราบรื่น มีความสุขในที่ทำงานทุกวัน แต่พอเริ่มทำไปได้สักระยะ เป็นเดือน เป็นปี และหลายๆ ปี เชื่อว่าคงมีหลายคนไม่น้อยที่อาจจะเริ่มรู้สึกว่า “ฉันคงไม่เหมาะกับที่นี่แล้ว” หรือ “ฉันเบื่อกับปัญหาซ้ำซากจำเจเหลือเกิน” “ทำไมต้องเกิดปัญหากับตัวฉันตลอดเวลา” ฯลฯ ทำให้รู้ว่าปัญหาและอุปสรรคเริ่มจะรุมเร้าคอยบั่นทอน จิตใจ จนบางครั้งจะทนรับไม่ไหว และเกิดความคิดแวบเข้ามาในความคิดว่าอยากจะลาออก เพื่อไปหางานที่อื่น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วทุกที่ย่อมมีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น หลายคนอาจเคยได้ยินคำพูดบ่อยๆ ว่า “คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า” หากมองให้ดีปัญหาทุกอย่างย่อมมีทางออกเสมอ ขอเพียงอย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจ ให้ลอง10วิธีนี้ก่อนครับ:10 ขั้นตอนช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ

      ประไพรัตน์ ภวสันต์ เอ็กซ์คลูซีฟ ไดเร็กเตอร์ APM Group ให้ความคิดเห็นถึงแนววิธีการแก้ปัญหาเพื่อลดภาวะสถานการณ์ตึงเครียดในที่ทำ งานให้เบาลง และคลี่คลายเหตุการณ์ให้ดีขึ้น

สาเหตุความกดดัน

      ก่อนอื่นต้องมองว่าปัญหาส่วนใหญ่มาจากปัญหา ส่วนตัว หรือว่าระบบกระบวนการที่มีการเปลี่ยนแปลง ในองค์กร แต่ส่วนใหญ่แล้วที่มากที่สุดจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น อาจจะมีการเปลี่ยนหัวหน้า เปลี่ยนแปลงในรูปแบบของการทำงาน อาจจะมีเปลี่ยน โดยการขยายลักษณะการทำงานให้มากขึ้น ซึ่งในสมัย นี้หลายคนไม่สามารถโฟกัสกับการทำงานที่กำหนดแบบเดิมได้ งานของคุณอาจจะขยายครอบคลุม ขยายความรับผิดชอบมากขึ้น หรือจะเกิดจากเปลี่ยนแปลงในเรื่องของใหญ่ขึ้น เช่น เผชิญกับสถานการณ์ภายนอกที่ทำให้องค์กรจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยน ระบบขององค์กร ข้างในบางอย่างก็เลยกระทบกับการทำงานในเรื่องของ การเปลี่ยนในเรื่องโครงสร้าง

      โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ตัวอย่าง ธุรกิจ ไฟแนนช์ มีการรวมตัวของธุรกิจกันมากขึ้น ทำให้อาจต้องปรับในเรื่องของโครงสร้างเพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้ดี เป็นต้น รวมถึงคนที่รู้สึกดีๆ กับองค์กรมาโดยตลอด เมื่อวันหนึ่งองค์กรปรับกระบวนการ นำกระบวนการใหม่ๆ เข้ามาใช้ คนเราจะมีความรู้สึกกระทบปุ๊บเขาก็จะ มีความรู้สึกว่าเมื่อก่อนที่เขารักองค์กรมาก ความรู้สึกรักตรงนั้นหรือรู้สึกผูกพันมันก็อาจจะลดลง

      อย่างไรก็ดี ก็อาจเป็นเรื่องของคนบางคน เป็นแผนก หรือถ้าเป็นภาพใหญ่ขององค์กร ก็เป็นอย่างหนึ่งที่อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกกดดัน เกิดความเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายคนอาจจะอยู่ไม่ได้ เนื่องจากสภาวะแรงกดดันจะทำงานตรงนั้นได้ไม่ดีพอ

หมั่นตรวจสอบตัวเอง  เพื่อประสิทธิภาพ

      เมื่อมีสภาวะแรงกดดันมากขึ้น คุณอาจจะเกิดผลกระทบข้างเคียงโดยไม่รู้ตัว เช่น ไม่อยากมาทำงาน รู้สึกเพลีย รู้สึกปวดหัว หรือลางานบ่อย หรือบางคน ก็จะปวดหัวตลอดเวลา บางคนหัวใจเต้นแรง บางครั้งอ่านอะไรได้นิดเดียวรู้สึกเวียนหัว ตื่นขึ้นมาไม่มีกำลัง ซึ่งปัญหาเหล่านี้บางทีเกิดมาจากความเครียด ซึ่งอาจจะไม่รู้ตัว แต่ว่าสาเหตุความเครียด ความกดดัน นั้น ได้มากระทบกับการทำงานในชีวิตประจำวันเข้าแล้วนั่นเอง อาจส่งผลทำให้ระบบการสื่อสารภายในขององค์กรเองมีประสิทธิภาพลดน้อยลง หากเกิดขึ้นกับคนหนึ่งคน ผลกระทบก็อาจจะน้อย แต่ถ้าเป็นคนส่วนใหญ่ ผลกระทบก็อาจมากขึ้นตามลำดับ

      ประไพรัตน์ กล่าวว่า ในความคิดเห็นส่วนตัวนั้น จริงๆ แล้วความรู้สึกเครียด กดดัน ในความเป็นจริง ไม่ได้เกิดมาจากสิ่งรอบข้าง หากแต่เกิดมาจากคุณเอง เหมือนกับว่าคุณไปสร้างตรงไหนให้เกิดความเครียด หรือว่าเป็นคนสร้างให้รู้สึกว่าไม่ชอบ หรือรับไม่ได้ หรือไปสร้างให้เป็นปัญหา

      ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเป็นหัวหน้าคน ต้องบริหารลูกน้อง ลูกน้องไม่ยอมรับ ทำให้รู้สึกว่านิสัยคุณเป็น แบบนี้ คนไม่ยอมรับก็คือว่าอยู่ด้วยกันไม่ได้ ซึ่งคุณอาจจะรู้สึกอย่างนั้นด้วยตัวของตัวเอง เพราะว่าเป็นตัวตั้งปัญหาและตั้งให้เกิดความเครียด ส่งผลให้เกิดแรงกดดัน ซึ่งคุณสร้างให้คุณเองไม่ยอมรับ แต่ในความเป็นความจริงทุกอย่างคืออยู่ที่ตัวคุณทั้งหมดนั่นเอง


ปรับเปลี่ยนทัศนคติ   เพื่อสิ่งที่ดีกว่า

      ดังนั้น หากคุณอยู่ในสภาวะเช่นนี้ ก่อนอื่นต้องทำใจให้ยอมรับ และทำการเริ่มต้นบริการความสุข อ่านต่อ:บริหารความสุขในที่ทำงานกับหลัก P-D-C-A ซึ่งดูจะพูดง่ายแต่ถึงเวลาทำจริงก็ลำบากไม่เบามีคำพูดที่ว่า “ถ้าเราปรับทัศนคติสักนิดหนึ่งอาจทำให้มุมมองเราต่างออกไป” สมมติว่าองค์กรปรับเปลี่ยน คุณเคยทำงานอย่างเดิมแล้วต้องเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น คุณก็มองว่ายากมาก แน่นอนก็ส่งผลให้คุณเครียด แล้วก็จะกลายเป็นปัญหา แต่ถ้าเปลี่ยนทัศนคติว่า

     •  สิ่งอะไรที่เข้ามาจะทำให้การทำงานคุณดีขึ้นไปกว่าเดิมก็ได้ มองทุกอย่างให้เป็นโอกาส เป็นการท้าทายความสามารถ ซึ่งคนอื่นอาจจะไม่มีโอกาสได้เปลี่ยนแปลงโยกย้ายเหมือนคุณก็ได้ ลองมองเป็นความโชคดี ดูสิทุกอย่างอาจจะง่ายขึ้นก็ได้ ที่สำคัญต้องรู้จักควบคุมตัวเองไม่ให้ลื่นไถลไปตามเหตุการณ์ ปล่อยโอกาสพิสูจน์ฝีมือไปง่ายๆ
 

     •  คุณควรจะต้องเข้มแข็ง เพราะความเข้มแข็งที่เกิดขึ้นอาจจะมองในแง่ของการทำงานได้ว่า จะทำอย่างไรให้งานของตัวเองออกมาดีที่สุด ลองมองสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกับว่ากำลังสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เพราะว่าคนเหล่านี้จะช่วยผลักดันความเข้มแข็งที่เกิดขึ้น
 

     •  มองโลกในแง่ดี เรียกว่า อยู่ที่วิธีการจัดการของคุณเองว่าบริหารอย่างไร เช่น การเปรียบเทียบหัวหน้าเก่ากับหัวหน้าใหม่ ซึ่งเมื่อเกิดความกดดันเมื่อไรก็มักจะแสดงออกมาในแง่ลบ เหมือนกับว่าเรื่องนิดเดียวสามารถทำให้โลกแตกได้ จริงๆ แล้วปัญหาที่เกิดแทบจะเกิดขึ้นทุกองค์กรเป็นเรื่องปกติ เพราะว่าการทำงานตรงนี้ เกี่ยวข้องกับคนทั้งสิ้น ซึ่งธรรมชาติของคนบางทีไม่มีอะไรมาบอกว่าผิดหรือถูก
 

     •  เวลาได้ยินอะไรมาอย่าเพิ่งด่วนแปรความหมาย โดยเฉพาะในเรื่องร้ายๆ เพราะนั่นกำลังบอกว่าสิ่งนั้นทำให้คุณบอกกับตัวเองว่าทำให้ “ฉันไม่สามารถจะทำได้ หลายๆ คนมักจะพูดว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอก ซึ่งทำให้คุณสร้างนิยาม หรืออาจจะต่อต้านไปก่อน สุดท้ายก็ หมดกำลังใจ ประสิทธิภาพของการทำงานก็ลดลง และหากมีคนคิดแบบนี้มาก อาจส่งผลถึงภาพองค์กรใหญ่ได้ บางทีที่ต่อต้านหรือรู้สึกไม่ดีไปก่อน ทำให้ด่วนต่อการ ตัดสินใจทำบางอย่างลงไปก็ได้ ซึ่งทุกอย่างต้องอาศัยเวลาพิสูจน์
 

     •  อาศัยความอดทนและอดทน เพราะถ้าองค์กรปรับไม่ได้องค์กรก็จะตาย ถ้าเกิดสภาพธุรกิจที่ต้องเปลี่ยน แต่องค์กรคุณไม่ปรับตาม สักวันหนึ่งองค์กรของคุณก็จะตาย เพราะว่าสภาวะข้างนอกผลักดันให้คุณต้องปรับ ถ้าคุณไม่ปรับเหมือนกับคนอื่น หรือยอมรับไม่ได้ก็เท่ากับบังคับตัวเองให้ลาออก ซึ่งอาจไม่ใช่การตัดสินใจที่ถูกต้องเสมอไป
 

     •  คนส่วนใหญ่มักจะอยู่ในองค์กรไม่ได้ ต้องดูว่าเป็นเพราะอะไร จากแรงกดดัน หรืออย่างคนเก่งๆ บางคนมีศักยภาพสูงมาก แล้วองค์กรไม่ซับพอร์ตให้เขาได้ใช้ศักยภาพ เขาก็อาจจะมีความรู้สึกว่า ที่อื่นอาจจะให้โอกาสและได้ใช้ศักยภาพที่มีพอควร ดังนั้น องค์กรเอง ก็ต้องคอยสำรวจประเมินผลงานพนักงานตัวเองด้วย ว่าเขาได้ใช้ศักยภาพเต็มที่หรือยัง
 

     •  พยายามหาอะไรที่ทำให้ตัวเองรีแลกซ์ เพื่อให้หลุดจากความเครียดที่เผชิญอยู่ให้ได้ เพราะความเครียดสะสมมากวันหนึ่งก็จะเป็นแรงกดดันนั่นเอง

     
ใครที่กำลังประสบกับสภาวการณ์เช่นที่กล่าวมานั้น แนะนำว่าแน่นอนที่สุดคือ ต้องเริ่มจากคุณเองก่อน ซึ่งใครที่ทำไม่ได้ก็จะอยู่อย่างไม่มีความสุข ต้องยอมรับว่าการทำงานมีทั้งทุกข์และสุขไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใดก็ตาม ถ้าคุณมีความรู้สึกว่าองค์กรดีมั่นคงก็จะรู้สึกดีกับองค์กรนั้น เอาเป็นว่ามองโลกในแง่ดีเต็มที่ดีกว่าเพื่อความสุขของการทำงาน

      อย่าลืมว่าปัญหามีทุกที่ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็ตาม สิ่งที่ดีที่สุดคือ คุณควรจะปรับเปลี่ยนอย่างไรเข้าสู่สิ่งที่องค์กรเป็น (ซึ่งคุณเป็นคนเลือกทำงานที่นั่นด้วยตนเองอีกต่างหาก) ซึ่งถ้าคุณทำตรงนั้นได้ก็คือ การสร้างโอกาสให้กับตัวเอง แล้วคนที่จะทำงานมีความสุขขึ้นก็ไม่ใช่ใคร คือ  ตัวคุณนั่นเอง !!


ที่มา : http://www.jobjob.co.th

 5292
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

People Management

ไม่พบรายการที่คุณค้นหา
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์