ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ รูปแบบหนึ่งของการเสียภาษี โดยเงินรายได้ของเราจะถูกหักทันทีจากผู้จ่ายเพื่อนำส่งให้สรรพากร
|
ตัวอย่างเช่น ยุ้ย พนักงานออฟฟิศ มีรายได้เดือนละ 30,000 บาท และโบนัสปีละ 1 เดือน จากข้อมูลนี้ ช่วยให้ฝ่ายบัญชีของบริษัทสามารถประมาณรายได้ทั้งปีของยุ้ยได้เป็น 30,000 x 13 = 390,000 บาท ยุ้ยเคยให้ข้อมูลกับทางบริษัทว่า เธอทำประกันชีวิตไว้ปีละ 20,000 บาท ซึ่งบริษัทจะเก็บข้อมูลนี้เพื่อคำนวณเป็นค่าลดหย่อน และคำนวณเป็นภาษีเงินได้ที่ยุ้ยจะต้องจ่ายในปีนั้น ๆ ก่อนที่จะหารด้วย 12 เพื่อเฉลี่ยเป็น “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย” ที่จะถูกหักออกจากเงินเดือนของยุ้ยในทุก ๆ เดือนนั่นเอง เมื่อถึงปลายปี บริษัทจะส่งหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อสรุปเงินได้ของยุ้ย และยอดภาษี ณ ที่จ่าย ที่ถูกหักไปตลอดทั้งปี ซึ่งหากยุ้ยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายได้ หรือค่าลดหย่อนตามที่แจ้งไว้กับบริษัทแล้ว ยุ้ยก็ไม่ควรจะต้องเสียภาษีเพิ่มเติมอีก แต่หากยุ้ยมีรายได้เสริม เช่น รับจ้างเขียนบทความ ยุ้ยก็มีหน้าที่ต้องแสดงหลักฐานเพิ่มสำหรับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ได้รับจากบริษัทที่ว่าจ้างยุ้ยเขียนบทความ เพื่อคำนวณหารายได้รวมจากทั้งสองงาน ภาษีที่ควรจะต้องชำระ และนำมาเปรียบเทียบกับยอดภาษีหัก ณ ที่จ่าย รวมทั้งปี เพื่อพิจารณาว่า จะได้รับภาษีคืน หรือต้องชำระเพิ่ม
ที่มา : www.krungsri.com