• หน้าแรก

  • HR Articles (hide)

  • ระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible Working System) สำหรับองค์กรยุคอนาคต

ระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible Working System) สำหรับองค์กรยุคอนาคต

  • หน้าแรก

  • HR Articles (hide)

  • ระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible Working System) สำหรับองค์กรยุคอนาคต

ระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible Working System) สำหรับองค์กรยุคอนาคต

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามโลกยุคไร้พรมแดนและการปฎิวัติวิชาชีพ (Career Disruption) ในยุคนี้ก็คือระบบการทำงานยุคใหม่ที่ยืดหยุ่นและเอื้อประโยชน์ให้กับบุคลากรทั่วโลกในการมาร่วมแจมการทำงานโดยปรับเปลี่ยนเงื่อนไขไปตามการจ้างงานของแต่ละคน อีกหนึ่งเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานกันใหม่นี้ก็คือการแข่งกันแย่งคนที่มี Working Talent มาร่วมงานกับองค์กร ซึ่งปัจจุบันมีคนเก่งที่มีศักยภาพเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก และใครที่สามารถปรับเปลี่ยนข้อจำกัดขององค์กรตัวเองเพื่อรองรับการทำงานให้สะดวกที่สุด องค์กรนั้นก็จะได้คนที่มีศักยภาพเข้าไปร่วมงานได้มากที่สุดอีกด้วย

ระบบการทำงานที่ยืดหยุ่นในยุคปัจจุบัน

ระบบการทำงานรูปแบบใหม่ในยุคนี้เกิดขึ้นมากมาย ทั้งนี้เพราะองค์กรต้องการจ้างงานคนที่มีพรสวรรค์ (Talent) ที่โดดเด่นให้เข้ามาร่วมงานกับตนให้มากที่สุดโดยยืดหยุ่นวิธีการต่างๆ ให้เหมาะสมกับแต่ละคน รวมถึงพฤติกรรมการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไป ก็เป็นผลที่ทำให้เกิดระบบการจ้างงานที่หลากหลายรูปแบบในยุคปัจจุบันนี้ด้วย ซึ่งระบบการจ้างงานต่างๆ มีตัวอย่างน่าสนใจดังต่อไปนี้

การจ้างงานแบบสัญญาจ้างระยะสั้น (Short Term Contract)

ในยุคก่อนการจ้างงานระยะสั้นอาจไม่ใช่ความต้องการของผู้สมัครงานทั่วไปมากนัก แต่ในยุคสมัยและพฤติกรรมคนยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป สัญญาการจ้างงานระยะสั้นกลับกลายเป็นที่ต้องการมากที่สุด สัญญาจ้างงานระยะสั้นนี้มีข้อดีและข้อเสียมากมาย แต่ในยุคนี้กลับกลายเป็นข้อดีของทั้งฝั่งบริษัทผู้จ้างงานกับแรงงานเสียมากกว่า ซึ่งข้อเสียกลายเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปแล้ว โดยข้อดีของบริษัทนายจ้างก็คือการได้ทดลองทำงานกับคนใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ เสมอ ในขณะที่ข้อดีของเด็กรุ่นใหม่ก็คือไม่ต้องเบื่อกับการทำงานเดิมซ้ำๆ ในระยะยาว แต่ก็ได้หาประสบการณ์โดยไม่ต้องเกรงว่าประวัติจะเสียด้วย ซึ่งสัญญาจ้างแบบนี้เหมาะกับผู้ที่ต้องการหาประสบการณ์ไม่ซ้ำซากจำเจ ไม่ชอบทนอยู่กับสิ่งใดนานๆ ต้องการหาประสบการณ์หลายๆ อย่าง ต้องการทำงานกับหลายๆ องค์กร สัญญาจ้างระยะสั้นโดยมากนั้นมักจะมีระยะเวลาตั้งแต่ 3 เดือน – 1 ปี เหมาะกับงานที่ต้องการประสบการณ์จากคนใหม่ๆ อยู่เสมอ งานที่เปลี่ยนแปลงตามพฤติกรรมผู้บริโภคตลอดเวลา งานที่ไม่ต้องการความชำนาญในการทำซ้ำ หรืองานที่ต้องการทักษะซ้ำๆ แต่เรียนรู้ได้ไม่ยาก (เพราะคนจะเบื่อง่าย) หรือหลายองค์กรใหญ่ๆ ต่างก็ใช้ Contract ระยะสั้นกับตำแหน่งที่ท้าทายต่างๆ เพื่อดึงดูดคนที่มี Talent ให้อยากมาร่วมงานด้วยได้เหมือนกัน

การจ้าง/ทำงานแบบโปรเจกต์ (Project Base Working)

หลายองค์กรเริ่มปรับเปลี่ยนการทำงานสู่ระบบโปรเจกต์ (Project Base Working) มากขึ้น ทั้งใช้กับคนในองค์กรเอง หรือการจ้างคนใหม่ๆ เข้ามาทำงานด้วย โดยใช้โปรเจกต์เป็นตัวขับเคลื่อน เมื่อมีโปรเจกต์ใหม่ๆ เกิดขึ้นก็จะเรียกคนที่มีความสามารถในองค์กรจากหน่วยต่างๆ มาร่วมกันรับผิดชอบ หรือจัดจ้างคนเฉพาะโปรเจกต์นั้นๆ ไป ตามความเชี่ยวชาญของแต่ละงาน สำหรับในองค์กรเองนั้นการทำงานในระบบนี้ก็เพื่อไม่ให้บุคลากรเกิดความเบื่อหน่ายในงานซ้ำๆ เดิมของตน และเป็นการให้บุคลากรได้พัฒนาศักยภาพในการได้ทำอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลาอีกด้วย ส่วนระบบการจ้างงานแบบโปรเจกต์สำหรับคนนอกนั้น ก็เป็นการได้คนที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญเฉพาะทางมาร่วมงานได้ไม่ยาก เพราะไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องสถานะภาพพนักงาน หรือการจ้างงานที่ต้องผูกมัด สามารถทำหลายๆ โปรเจกต์ได้พร้อมกัน ในกรณีนี้หลายองค์กรประยุกต์ใช้การทำงานใหญ่งานเดียวโดยแบ่งเป็นโปรเจกต์ต่างๆ ย่อยๆ อีกด้วย ทั้งนี้เพื่อการกระจายงาน กระจายความรับผิดชอบ กระจายความสามารถ ซึ่งทำให้งานคล่องตัวและขับเคลื่อนได้ไวมีประสิทธิภาพกว่าอีกด้วยเช่นกัน

การจ้าง/ทำงานแบบงานรายชิ้นหรือรายวันหรือรายครั้ง (Job Base)

ปัจจุบันมีการจ้างงานในลักษณะ Outsource แบบกึ่งทางการอยู่เยอะ ในที่นี้มักจะจ้างงานแบบบุคคลมากกว่าเป็นองค์กรกับองค์กร โดยอาจเป็นระบบจ้างงานรายชิ้น รายครั้ง หรือรายวัน ตามแต่ละรายละเอียด เพื่อให้รับผิดชอบเป็นครั้งๆ ไป หากไม่พอใจก็ยกเลิกได้ง่าย หรือหากต้องการหยุดเมื่อไรก็ได้เช่นกัน รวมถึงสามารถจ้างคนได้หลากหลายขึ้น จำนวนได้มากขึ้นอีกด้วย และบริษัทไม่ต้องรับภาระในการจ้างงานระยะยาวอีกด้วย งานในลักษณะนี้ที่นิยมในยุคนี้ก็ได้แก่งานพวก Marketing, Content, Graphic Design หรือ Tech บางประเภท แล้วข้อดีก็คือการจ้างงานเป็นชิ้นนี้สามารถจ้างบุคลากรที่มีความสามารถได้ทั่วโลก ตามผลงานที่ชอบอีกด้วย

การจ้าง/ทำงานจากที่บ้าน (Work from Home)

เนื่องด้วยสังคมที่เปลี่ยนไป ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ตลอดจนวิถีชีวิตที่ปรับเปลี่ยนทันสมัย ทุกบ้านมีเทคโนโลยีใช้เช่นเดียวกันกับที่ออฟฟิศ หลายองค์กรเลือกจ้างงานแบบ Work from Home หรือให้พนักงานทำงานอยู่บ้านแล้วส่งงานมาที่ออฟฟิศ เข้างานตามระบบปกติ เพียงแต่ว่าอีกฝ่ายนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน การทำงานที่บ้านอาจจะเนื่องมาด้วยสาเหตุ การย้ายถิ่นฐานกระทันหัน, การต้องดูแลผู้ป่วยกระทันหัน, การคลอดบุตร, การประสบอุบัติเหตุ หรือแม้แต่การต้องการลดค่าใช้จ่ายขององค์กร เป็นต้น ก็จะเป็นข้อได้เปรียบของแต่ละฝ่ายที่ต่างกัน

แต่อีกกรณีหนึ่งที่นิยมประยุกต์ใช้ในระบบการทำงานยุคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือการให้สิทธิ Work from Home กับพนักงานที่อยู่ในระบบปกติ โดยอาจให้สิทธิในการ Work from Home สัปดาห์ละ 1-2 วัน คือทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ แต่ต้องมีงานส่งตามกำหนด เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้โควต้าวันพักผ่อนเพิ่มขึ้นอีก 1 วัน ในสัปดาห์นั้นๆ หรือลดความเครียดในการทำงานระบบออฟฟิศให้กับพนักงานได้เช่นกัน

การจ้าง/ทำงานจากที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ (Remote Working)

ระบบการทำงานนี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในองค์กรขนาดใหญ่ไปจนถึงองค์กร Startup เพราะคนมีศักยภาพนั้นมีอยู่ทั่วโลก หากอยากได้คนทำงานเก่งมาร่วมกับตน ก็อาจยื่นข้อเสนอนี้ให้ได้ โดยคนทำงานมีอิสระในการทำงานที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ แต่ต้องทำงานส่งมาให้ทันตามกำหนดเวลา และวัดที่ผลของงานเป็นหลัก ไม่ใส่ใจการบริหารจัดการส่วนบุคคล สำหรับองค์กรที่จ้างงานระบบนี้อาจจะประหยัดไปได้หลายส่วนในการบริหารงานบุคคล และได้คนหลากหลายความสามารถมาร่วมงานได้ง่าย รวมถึงมีตลาดแรงงานกว้างขึ้น มีตัวเลือกทั่วโลก

บางองค์กรก็อาจจะใช้จุดนี้มาเป็นสวัสิดิการให้พนักงาน โดยเฉพาะพนักงานที่เก่งๆ มีศักยภาพที่องค์กรต้องการ โดยให้สิทธิเหมือนพนักงานประจำทุกอย่าง แต่ให้เลือกได้ว่าสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ทั่วโลก เป็นการให้อิสระเต็มที่ในการใช้ชีวิต

การประยุกต์นำเอา Remote Working มาใช้อีกรูปแบบในยุคนี้ ก็คือการเป็นข้อเสนอเพิ่มเติมสำหรับพนักงานที่ต้องการ Vacation ระยะยาว แต่ก็ยังอยากทำงาน อยากได้เงินเดือน แต่อยากเปลี่ยนบรรยากาศแทน แทนที่จะใช้สิทธิ์ Vacation ไม่ต้องแตะงานทำงานใดๆ หรือใช้สิทธิ์ Leave without Pay ที่ขอลาแบบไม่รับเงินเดือนเพื่อสามารถกลับมาทำงานใหม่ได้อีกครั้ง ก็มีทางเลือกเพิ่มขึ้นเป็น Remote Working ระหว่างวันหยุดยาวๆ ได้ด้วย อาจจะเรียกได้ว่า Vacation Working ก็ไม่ผิดนัก คือพนักงานก็สามารถไปเที่ยวที่ไหนบนโลกก็ได้ เปลี่ยนสถานที่ทำงานไปพร้อมกับการเที่ยว โดยอาจใช้ Facility ตามโรงแรม คาเฟ่ หรือแม้แต่ Co-Working Space ต่างๆ ในการดีลงาน ทำงาน ให้กับองค์กร

การจ้าง/ทำงานแบบบริษัทกับบริษัท (B2B in Small Scale)

เด็กยุคใหม่มักอยากสร้างองค์กรและเป็นเจ้าของธุรกิจเอง เพื่ออิสระในการทำงานและการใช้ชีวิต บางคนอาจไม่เลือกทำงานในองค์กรใหญ่ เพราะไม่อยากถูกจำกัดอยู่ในระบบระเบียบ อึดอัดต่อระบบการทำงาน ก็อาจจะเปลี่ยนวิธีการทำงานเป็นการตั้งบริษัทขนาดเล็กขึ้นเพื่อรับทำงานให้บริษัทขนาดใหญ่แทน ก็จะเกิดการดีลธุรกิจแบบ B2B (Business to Business) ขึ้น แต่จะเริ่มปรับเปลี่ยนเป็นการดีลกับองค์กรขนาดเล็กขึ้นนั่นเอง ซึ่งหลายองค์กรใหญ่ก็เริ่มมีการดีลธุรกิจลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้น ข้อดีขององค์กรก็คือลดภาระของการจ้างบุคลากรไปในตัวด้วย และได้จ้างงานเด็กรุ่นใหม่ ไฟแรง และสามารถปรับเปลี่ยน หรือจ้างหลากหลายบริษัทได้ตามชอบอีกด้วย

งานที่นิยมในลักษณะนี้ก็ได้แก่พวก Digital Marketing ทั้งหลาย ที่คนรุ่นใหม่มีความเชี่ยวชาญ และมักออกมาเปิดบริษัทตัวเองเล็กๆ เพื่อรับทำให้กับบริษัทใหญ่ๆ นอกจากนี้ก็ยังมีพวก Content, PR, Graphic Design, Product Design, Law Firm, Accounting, Architect & Interior หรือแม่แต่สาย Human Resource Management ก็เริ่มมี HR Consult ขนาดเล็กที่เป็นหน่วยปรึกษาให้องค์กรใหญ่ เป็นต้น ซึ่งหลายบริษัทยุคใหม่ก็เริ่มปรับตัวในการดีลงานแบบลักษณะ B2B นี้กันมากขึ้น และดีลแบบ Project by Project ไป

การทำงานแบบ B2B มีประโยชน์อีกอย่างในการทำงานข้ามประเทศ ไม่ต้องจัดจ้างค้น หรือองค์กรใหญ่ให้เสียเวลา จัดจ้างองค์กรเล็กที่มีประสิทธิภาพกว่า และคล่องตัวทางธุรกิจกว่า ก็เป็นอีกทางเลือกที่นิยมกัน เป็นการจ้างงานตามความถนัดและความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลแต่ละองค์กรด้วย

การทำงานแบบสตาร์ทอัพและการลงทุนในสตาร์ทอัพ (Startup Business)

ต้องยอมรับว่าเด็กยุคใหม่กำลังสนใจสร้างธุรกิจแบบ Startup กันทั่วโลก และระบบการทำงานแบบ Startup นั้นก็ไม่มีข้อตายตัวใดๆ ทั้งสิ้น การเกิด Startup อาจจะเกิดจากการชักชวนคนที่มีความสามารถมารวมตัวกันทำงาน และหาทุนมาทำงาน ซึ่งก็เป็นการดีลและจ้างงานอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่อยู่ในข้อจำกัดของการทำงานแบบใดๆ แล้วปัจจุบันเทรนด์นี้กำลังนิยมทั่วโลก แถมยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหลายๆ ประเทศในการอุดหนุนเงินทุนอีกด้วย

องค์กรหลายองค์กรใหญ่ก็ผันตัวมาเป็นนายทุนไปพร้อมกันด้วย คอยที่จะหา Startup น่าสนใจเพื่อตัดสินใจลงทุนในส่วนต่างๆ ทั้งส่วนที่เป็นธุรกิจใหม่ไม่เกี่ยวข้องกับตน และธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจหลัก ซึ่งก็จะเกิดรูปแบบการดีลและจ้างงานแบบพิเศษขึ้นมาได้ หรือได้เป็นเจ้าของกิจการภายในการดูแลและปรึกษาจากองค์กรยักษ์ใหญ่ เป็นต้น

การทำงานแบบแชร์ความสามารถส่วนบุคคล (Talent Sharing)

การจ้างงานในลักษณะนี้อาจจะเป็นการรวมตัวกันของหลายองค์กรเพื่อรวมงบประมาณในการจัดจ้างบุคคลที่มีความสามารถมาไว้เป็นส่วนกลางร่วมกัน บุคคลเหล่านี้ก็อาจจะทำงานให้กับหลายๆ งานหรือหลายๆ องค์กรไปพร้อมกัน อาจเป็นการร่วมทุนกันเพื่อสร้างองค์กรเฉพาะกิจที่รวมเหล่าคนมีความสามารถไว้

แต่ก็มี Talent Sharing อีกรูปแบบ ที่นำเสนอความสามารถของตน เพื่อแลกผลประโยชน์การทำงานกัน อาจเป็นการจ้างงานระหว่างกัน หรือการจ้างงานในอัตราที่ถูกกว่า (มีงบประมาณจำกัด) หรือใช้ความสามารถมาแลกเปลี่ยนกัน ไม่จ้างงานกันด้วยเงิน แต่นำเอาความสามารถมาร่วมกันเพื่อหาประโยชน์จากธุรกิจร่วมกัน เป็นต้น ซึ่งมักเห็นในธุรกิจพวก Startup หรือพวก Tech ต่างๆ

การจ้าง/ทำงานแบบฟรีแลนซ์ (Freelance)

คงต้องบอกว่าระบบการทำงานแบบฟรีแลนซ์เป็นวิธีการทำงานที่บุกเบิกการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานไปจากรูปแบบเดิมๆ จากเดิมที่ฟรีแลนซ์มีอยู่ในเฉพาะบางวงการ ปัจจุบันก็ขยายไปแทบทุกวงการ และกลายมาเป็นหนึ่งในระบบการจ้างงานหลักสำหรับทุกวงการไปแล้ว การจ้างงานแบบฟรีแลนซ์นี้อาจเป็นการเลือกทั้งจากฝั่งบุคลากรเอง หรือจากฝั่งบริษัทที่จ้างงานด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน อาทิ บริษัทไม่มีเงินจ้างพนักงานประจำ (ที่ต้องตามมาด้วยภาระอีกมากมาย) ก็จะจ้างฟรีแลนซ์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายแทน และได้งานเหมือนกับจ้างพนักงานประจำ หรือพนักงานไม่ต้องการทำงานประจำ ไม่ต้องการผูกมัด ไม่อยากอยู่ในกฏระเบียบ รวมถึงสามารถรับงานได้หลายๆ ที่พร้อมกัน ก็จะขอเป็นงานฟรีแลนซ์แทนสัญญาจ้างประจำ ซึ่งคล่องตัวกับการทำงานมากกว่า เป็นต้น

ปัจจุบันมีระบบฟรีแลนซ์ที่แตกสาขาและวิธีการออกไปมากมาย บางทีก็เป็นฟรีแลนซ์ประจำ ที่ทำงานทุกอย่างประหนึ่งพนักงานประจำ มีการจ้างงานสม่ำเสมอ แต่ไม่ใช่สถานะพนักงาน ไม่จำเป็นต้องเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ เป็นต้น หรือ ฟรีแลนซ์เป็นครั้งๆ คราวๆ ไป ซึ่งก็จะคล้ายกับการจ้างงานแบบ Job Base อยู่เหมือนกัน แต่ฟรีแลนซ์จะอิงที่ระบบการทำงานเสียมากกว่าตัวงาน

ที่ปรึกษา (Consult)

ยังคงเป็นกลยุทธ์เก่าแก่แต่ก็ได้รับความนิยมและยิ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงในยุคปัจจุบันนี้สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถอีกด้วย การจ้างงานแบบที่ปรึกษา (Consult) นี้บางครั้งก็เพื่อการสร้าง Connection กับคนที่มีศักยภาพ มีความสามารถ หรืออยากได้มาร่วมงาน แต่งบประมาณไม่เพียงพอ หรือว่าคนคนนั้นทำงานให้กับองค์กรอื่นอยู่แล้ว หากต้องการให้มามีส่วนร่วมกับบริษัท โดยเฉพาะในส่วนบริหารและนโยบาย ก็อาจจ้างงานเป็นที่ปรึกษาแทนได้ ทั้งนี้ก็จะได้หัวสมอง การคิด การบริหาร และความสามารถในด้านอื่นๆ ที่ต้องการ ให้มาร่วมงานกับองค์กรเช่นกัน

ข้อดี-ข้อเสีย ของการจ้างงานแบบประจำและยืดหยุ่น

การจ้างงานแบบประจำในระบบดั้งเดิม และการยืดหยุ่นในการจ้างงานแบบยุคใหม่นั้นมีทั้งข้อดี และข้อเสีย ผสมกันไป เราลองมาดูว่าจะมีอะไรกันบ้าง

การจ้างงานแบบประจำ

ข้อดี

  • ควบคุมการทำงานได้ง่าย เพราะเป็นพนักงานของบริษัท
  • พนักงานมีความมั่นคง บริษัทดูแลระยะยาว
  • พนักงานมีความเชี่ยวชาญในงานที่ทำสูง
  • องค์กรมีความมั่นคงในระยะยาว
  • สามารถพัฒนาศักยภาพพนักงานตามความต้องการขององค์กรได้

ข้อเสีย

  • ใช้งบประมาณในการจ้างเยอะ เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากมายไม่เฉพาะค่าจ้างงาน
  • ได้งานในลักษณะเดิมๆ เพราะเป็นคนกลุ่มเดิมๆ ทำ
  • เกิดความเครียดและเบื่อหน่ายงานได้ง่าย
  • องค์กรเคลื่อนตัวช้า เพราะทำงานตามระบบ
  • ไม่มีโอกาสได้แนวความคิดใหม่ๆ เข้ามาในองค์กร

การจ้างงานแบบยืดหยุ่น

ข้อดี

  • องค์กรไม่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเยอะ
  • ทำงานได้คล่องตัวขึ้น รวดเร็ว ไม่อืด
  • ถ้างานไม่ใช่ ไม่ชอบ ก็ปรับเปลี่ยนได้ไว ไม่ต้องทนกับคนทำงานที่ไม่ใช่
  • มีโอกาสได้ร่วมงานกับคนทั่วโลกได้ง่ายมากขึ้น
  • ควบคุมงบประมาณได้ ปรับเปลี่ยนความต้องการได้ตามงบประมาณที่มี และคนที่ทำงานในแต่ละครั้ง
  • มีอิสระในการทำงาน มีอิสระในการท่องเที่ยว
  • สุขภาพชีวิตดี สุขภาพจิตดี สุขภาพร่างกายก็ดีไปด้วย
  • มีโอกาสได้ความคิดใหม่ๆ จากคนกลุ่มใหม่ๆ ตลอดเวลา
  • งานมีความหลากหลาย ไม่ซ้ำซาก ไม่จำเจ มีแนวคิดใหม่ๆ เสมอๆ

ข้อเสีย

  • ควบคุมการทำงานได้ยาก เพราะเป็นเรื่องนอกองค์กร
  • พนักงานมีทางเลือกมากมายหลายรูปแบบ
  • ไม่เบื่อในการทำงาน มีโอกาสเจองานหลากหลายรูปแบบ
  • ทำงานได้หลายอย่างพร้อมกัน
  • มีรายได้ที่หลากหลายทางกว่า และบางทีอาจสร้างรายได้ได้ดีกว่าการทำงานประจำ
  • ความลับบริษัทอาจรั่วไหลได้ง่าย เพราะไม่ใช่คนในองค์กร

บทสรุป

ทรัพยากรมนุษย์นั้นยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีคุณค่ารวมถึงเป็นกุญแจสำคัญของคงามสำเร็จขององค์กรเสมอไม่ว่าจะยุคสมัยใดก็ตาม แต่การที่จะหาบุคลากรที่ดีมีความสามารถ ตลอดจนมีระบบการจ้างงานบุคลกรนั้นต่างก็ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในยุคปัจจุบันนี้แต่ละองค์กรต่างก็ต้องการคนที่มีพรสวรรค์ (Talent) ในการทำงานมาร่วมงานทั้งสิ้น แล้วนั่นก็เป็นสิ่งที่องค์กรต่างๆ จะต้องแข่งกันเพื่อดึงคนเหล่านี้ให้มาร่วมงานกับตนเองให้มากที่สุด

หนึ่งในวิธีดึงดูดใจ หรือชักชวนให้คนนั้นมาร่วมงานกับองค์กรได้ก็คือการปรับเปลี่ยนตลอดจนยืดหยุ่นในระบบจ้างงานเพื่อให้เกิดความพึงพอใจทั้งสองฝ่าย ซึ่งวิธีการนี้ก็จะเป็นโอกาสที่จะได้คนที่มีความสามารถมาร่วมงานมากขึ้นได้ด้วย และองค์กรก็อาจมีการบริหารหรือทำงานที่คล่องตัวขึ้นได้เช่นกัน อย่างไรก็ดีระบบการจ้างงานในยุคนี้มีความหลากหลายและปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ และระบบการจ้างงานในอนาคตอาจจะมีความน่าสนใจและมีตัวเลือกที่หลากหลายขึ้นอีกก็เป็นได้ ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์กับทุกฝ่ายที่ลงตัวร่วมกันทั้งองค์กรและแรงงานที่มีศักยภาพนั่นเอง

สามารถอ่าน บทความเกี่ยวกับHR และ บทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี้

ที่มา : th.hrnote.asia

 3205
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

HR Articles

ต้องยอมรับว่าทันทีที่โลกก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ทุกสิ่งทุกอย่างก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายและรวดเร็ว นั่นรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางอาชีพ และการปฎิวัติทางการทำงานที่ทุกฝ่ายต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ตั้งแต่ตัวองค์กรเองไปจนถึงพนักงานทุกระดับ
2523 ผู้เข้าชม
จากกระทรวงแรงงานะระบุว่า ปัจจุบันไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 12 ล้านคน พร้อมกันนี้กระทรวงแรงงานโดยคณะกรรมการค่าจ้างได้ประชุมเพื่อพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมสำหรับ การจ้างงานผู้สูงอายุ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว
10386 ผู้เข้าชม
การที่จะรักษาพนักงานให้คงอยู่ได้นั้นเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะกับคนที่มีความสามารถทั้งหลายที่องค์กรจะมีวิธีมัดใจอย่างไรให้เขาเหล่านั้นอยากทำงานกับองค์กร และเกิดความจงรักภักดีในที่สุด และนี่คือเคล็ดลับที่อาจใช้มัดใจคนที่มีพรสวรรค์ (Talent) เหล่านั้นได้อยู่หมัด
1436 ผู้เข้าชม
ผมเองก็ใช่ว่าจะมีความสุขในงานตลอดเวลา มีช่วงเวลาเครียดตามประสาคนทำงาน แต่ที่สำคัญผมก็พยายามระลึกถึงสิ่งที่ได้เล่าให้กับทุกท่านฟังไปแล้ว มาถึงครั้งนี้ ก็ขอเล่าถึงแง่มุมในการพัฒนาตนเองของผู้ที่ทำงาน HR บ้างทั้งมือใหม่ และมือไม่ค่อยใหม่ ผมมองว่าทักษะที่จำเป็นของงาน HR เหมือนหมวก 5 ใบที่ต้องสวมดังต่อไปนี้ครับ
2026 ผู้เข้าชม
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์