ความหลากหลายของพนักงานในองค์กร Workforce Diversity

ความหลากหลายของพนักงานในองค์กร Workforce Diversity

ความหลากหลายของบุคลากรในตลาดแรงงานหรือการบริหารงานแบบองค์กรนั้นมีมากมายหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละอย่างต่างก็มีลักษณะและข้อดีกับองค์กรที่แตกต่างกัน ซึ่งความหลากหลายต่างๆ นั้นมีดังนี้

ความหลากหลายทางเพศ (Gender Diversity) 

หากพูดถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศในยุคปัจจุบันนี้ไม่ใช่มีแค่เพศชายหรือหญิงเท่านั้น การที่ทั่วโลกเริ่มรณรงค์ให้เปิดกว้างและยอมรับเพศทางเลือกที่แตกต่าง โดยเฉพาะในกลุ่ม LGBT ทั้งการยอมรับในสังคมทั่วไป ไปจนถึงสังคมแห่งการทำงาน เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง และมีโอกาสก้าวหน้าในการทำงานที่วัดจากความสามารถไม่ได้วัดจากเรื่องเพศ

การเปิดรับเพศทางเลือกอื่นๆ เข้ามาทำงานในองค์กรนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในยุคนี้ เพราะเรื่องนี้ค่อยๆ มีการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ มานานแล้ว โดยเฉพาะในแวดวงแฟชั่นไปจนถึงอุตสาหกรรมบันเทิงที่เพศทางเลือกนั้นกลับสามารถใช้พรสวรรค์ของตนในการทำงานด้านนี้ได้ดีเป็นพิเศษอีกด้วย แต่สำหรับในยุคนี้มีหลายองค์กรต่างก็ใช้โอกาสการมีเพศทางเลือกให้เป็นประโยชน์มากขึ้น อย่างเช่นบริษัทที่ทำสินค้าต่างๆ ทั้งหลาย ต่างก็เริ่มสร้างตลาดใหม่เป็นเพศทางเลือกมากขึ้นเรื่อยๆ และการรับพนักงานที่มีความหลากหลายนี้นอกจากจะทำให้พวกเขาเหล่านั้นเข้าใจในตลาดที่ตนเองอยู่ จนสามารถทำการตลาดได้ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นได้แล้ว ก็ยังทำให้องค์กรมีการแสดงความคิดที่หลากหลายมุมมองมากขึ้น นำไปเป็นประโยชน์กับธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้มากขึ้นอีกด้วย รวมถึงสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ด้วยเช่นกัน

ความหลากหลายทางตำแหน่งงาน (Position Diversity)

องค์กรที่แบ่งตำแหน่งงานให้ละเอียดและหลากหลายขึ้น ถึงแม้จะทำให้การบริหารจัดการยุ่งยากและซับซ้อนขึ้น แต่การแบ่งงานไปหลากหลายลักษณะนั้นก็ทำให้เกิดความหลากหลายในงาน ตลอดจนเกิดการแข่งขันการทำงานที่ส่งเสริมประสิทธิภาพขององค์กรได้เช่นกัน การแบ่งหน่วยย่อยยังช่วยให้เกิดการแสดงความคิดเห็นของหลายหน่วยมากขึ้นด้วย หากไม่มีการแบ่งหน่วยย่อยของตำแหน่งต่างๆ โดยให้ขึ้นรวมต่อตำแหน่งเดียวก็อาจจะไม่เกิดการเสนอความคิดเห็นใดๆ เพราะคิดว่าความคิดหลักของทีมน่าจะมีอย่างเดียว หรือไม่ก็เห็นไปตามๆ กันเพื่อตัดปัญหาความเห็นขัดแย้งและการถกเถียง

ตัวอย่างของการแบ่งความหลากหลายของตำแหน่งที่เห็นภาพได้ดีและชัดเจนที่สุดก็เช่นแผนก Marketing & Sales ที่เมื่อก่อนเราอาจจะเห็นการตั้งแผนกเป็นแผนกเดียวแล้วก็มีลูกน้องประจำแผนกไปโดยตรง แต่ปัจจุบันจะมีการแบ่งแผนกยิบย่อยตามขนาดขององค์กร โดยเฉพาะองค์กรที่มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ หรือการมีหลากหลายกลุ่มเป้าหมาย ก็จะเกิดแผนก Marketing & Sales แยกย่อยออกไป ภาพรวมอาจจะทำงานลักษณะเดียวกัน แต่รายละเอียดของการทำงานแต่กลุ่มเป้าหมายหรือสินค้านั้นจะแตกต่างกันไป นอกจากจะเกิดการแข่งขันในองค์กรเพื่อกระตุ้นการทำงานในองค์รวมที่ดีขึ้นแล้ว ก็ยังทำให้เกิดความเห็นที่หลากหลาย องค์กรมีข้อมูลละเอียดตามกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนประเภทสินค้า และเกิดการทำการตลาดหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกัน เพื่อสร้างความสำเร็จได้หลากหลายวิธี หรือสามารถทำให้เราเห็นได้ว่าวิธีไหนจะมีศักยภาพมากที่สุดได้ด้วย

ความหลากหลายของตำแหน่งนั้นยังรวมไปถึงความหลากหลายของระดับบริหาร เพื่อการบริหารงานและบริหารอำนาจการจัดการได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น บางองค์กรอาจจะมีหลักการในการบริหารในแนวระนาบ คือทุกคนเท่ากันหมด ไม่มีใครเป็นหัวหน้าใคร ทำงานกันเหมือนเพื่อน ก็อาจจะมีประโยขน์หากทุกคนมีเป้าหมายและความสามารถ ตลอดจนมีความขยันในการทำงานในระดับเดียวกัน แต่หากไม่ใช่ก็อาจเกิดการบริหารงานได้ยาก เพราะไม่มีใครฟังใครหรือบังคับใครได้ ฉะนั้นการบริหารในแนวดิ่งที่มีความหลากหลายทางระดับตำแหน่ง ระดับการใช้อำนาจ ก็จะทำให้เกิดการบริหารจัดการที่ง่ายขึ้น รวมถึงมีหน้าที่ความรับผิดขอบที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบความรับผิดชอบได้ รวมถึงสามารถจับผิดหรือลงโทษในการไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ได้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้กระบวนการบริหารมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้นได้

ความหลากหลายของเชื้อชาติและวัฒนธรรม (Race & Culture Diversity)

ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในองค์รวมนั้นอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ นั่นก็คือ เชื้อชาติตะวันตก และเชื้อชาติตะวันออก แล้วในแต่ละกลุ่มต่างก็มีเชื้อชาติย่อยๆ ตามท้องถิ่นต่างๆ อีกมากมาย แล้วในยุคปัจจุบันที่โลกไร้พรมแดน การผสมผสานของเชื้อชาติข้ามไปข้ามมามากขึ้น ก็เริ่มมีลูกผสม ไปจนถึงเลือดแท้แต่อยู่ต่างภูมิภาค อย่างเช่น ชาวจีนที่เติบโตในอเมริกา, หรือแม้แต่ชาวอเมริกันที่เติบโตในเอเชีย เป็นต้น ซึ่งในยุคปัจจุบันความหลากหลายของเชื้อชาตินั้นมีมากมายจนแทบนับไม่ถ้วน

โลกยุคนี้เป็นโลกยุคไร้พรมแดน การทำธุรกิจก็ข้ามพรมแดนกันตลอดเวลาเช่นกัน หลายสินค้ามีการทำการตลาดทั่วโลก และคนทั่วโลกต่างก็เป็นผู้บริโภคเดียวกันทั้งหมด การมีคนหลากหลายเชื้อชาติมาทำงานร่วมกันนั้นจะได้ความคิดเห็นที่หลากหลาย ได้เข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และการทำการตลาดที่แตกต่างกันด้วย ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกจะสามารถได้เปรียบตรงจุดนี้ในการที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาทำงานร่วมกันและแชร์ความรู้ตลอดจนประสบการณ์ของแต่ละคนให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงานได้ ทำให้องค์กรมีข้อมูลที่หลากหลายขึ้น เข้าใจมุมมองที่แตกต่างกันมากขึ้น และสามารถใช้ประโยชน์ตลอดจนความสามารถของแต่ละคนได้หลากหลายรูปแบบเช่นกัน

ความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้นมักตามมาจากองค์กรที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ แต่ถึงอย่างไรชนชาติเดียวกัน เชื้อชาติเดียวกัน ต่างก็มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเช่นกัน ซึ่งประโยชน์ต่างๆ อาจเหมือนกับลักษณะของความหลากหลายทางเชื้อชาติ แต่ความหลากหลายทางวัฒนธรรมจะละเอียดอ่อนกว่า

ข้อดีของการมีคนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอยู่ด้วยกันอีกอย่างก็คือการฝึกการเรียนรู้ต่างวัฒนธรรมกัน และจะยิ่งช่วยสร้างการเคารพซึ่งกันและกันได้ดียิ่งขึ้นด้วย รวมถึงเสริมสร้างความสามัคคีในการทำงานได้ดีขึ้นจากการทำงานร่วมกันกับคนต่างวัฒนธรรมที่ตนคุ้นเคย

ความหลากหลายของอายุ (Age Diversity)

ความหลากหลายทางด้านอายุดูเหมือนจะเป็นเรื่องความหลากหลายพื้นฐานที่รองลงมาจากเรื่องเพศ องค์กรที่มีความหลากหลายทางด้านอายุจะมีมุมมองหลากหลายรูปแบบทั้งจากคนอายุน้อยไปจนถึงคนที่มีประสบการณ์ในชีวิตและการทำงานมานาน ซึ่งจะมีมุมมองที่แตกต่างกันเสมอ และองค์กรเองก็สามารถนำสิ่งที่ดีที่สุดมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดได้เช่นกัน

อายุยังสะท้อนลักษณะการทำงาน ตลอดจนความละเอียดรอบคอบ รวมถึงประสบการณ์การทำงานได้เป็นอย่างดีอีกด้วย แต่ถึงอย่างไรแต่ละอายุต่างก็มีคุณสมบัติที่ดีต่อการทำงานแตกต่างกันด้วยเช่นกัน คนรุ่นใหม่อายุน้อยอาจจะมีข้อดีในการเก่งเทคโนโลยี รู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์จากงานมากกว่าคนที่มีอายุเยอะ ในขณะที่คนที่มีอายุมากก็อาจมีลูกล่อลูกชน ตลอดจนกลวิธีในการทำงานที่หลากหลายรูปแบบกว่า เข้าใจผู้บริโภคมากกว่า และมีมุมในการแก้ไขปัญหาที่มองรอบด้านและเข้าใจชัดเจนกว่า อย่างไรก็ดีหากคนต่างวัยมาทำงานร่วมกันได้อย่างดีเยี่ยม นำเอาข้อดีของแต่ละวัยมาใช้ประโยชน์ให้เกิดกับการทำงาน องค์กรก็จะประสบความสำเร็จมากที่สุดได้เช่นกัน

การที่องค์กรมีความหลากหลายทางอายุนั้นยังช่วยให้สามารถส่งผ่านถ่ายทอดงานให้องค์กรยืนหยัดในระยะยาวได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย และประสบการณ์ที่หลากหลายต่างก็มีประโยชน์ต่อองค์กรรวมถึงการบริหารงาน ไปจนกระทั่งการทำการตลาดที่เหมาะสมในแต่ละยุคสมัยและกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย

ความหลากหลายของสถาบัน(Institute Diversity)

หลายองค์กรมักเลือกพนักงานจากสถาบันเดียวกันเพื่อสร้างเครือข่ายและความสามัคคี บางครั้งก็อาจเป็นการดีที่พนักงานมีลักษณะรวมถึงสงคมที่คล้ายกัน แต่บางครั้งสิ่งนี้กลับทำให้ขาดความหลากหลายทางแนวความคิดและวิธีการทำงาน ซึ่งแต่ละสถาบันต่างก็มีการเรียนการสอนรวมถึงการปลูกฝังให้กับศิษย์ที่ต่างกัน การที่เรามีบุคลากรจากหลากหลายสถาบันนั้นย่อมทำให้เรามีองค์ความรู้ที่หลากหลายรูปแบบมาแชร์กัน ตลอดจนวิธีการคิด แนวความคิด รวมถึงการแสดงความคิดเห็นที่มาจากต่างพื้นฐานกัน นั่นย่อมทำให้เกิดความหลากหลายในมุมมองและความคิดเห็นได้

การที่ได้คนลักษณะคล้ายๆ กันมาทำงาน ตลอดจนมาจากสถาบันเดียวกันนั้นบางครั้งก็ส่งผลทางจิตวิทยาที่ทำให้เกิดอาการพวกมากลากไป หรืองดแสดงความคิดเห็นเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกันภายในกลุ่มสถาบัน ตลอดจนหว่านล้อมให้เกิดความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อความเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งนั่นอาจะไม่เกิดผลดีได้เช่นกัน การมีความคิดเห็นหลากหลายรูปแบบและมุมมองย่อมเป็นประโยชน์ต่อการทำงานมากกว่า

ความหลากหลายทางความสามารถและทักษะวิชาชีพ(Skills Diversity)

องค์กรขนาดใหญ่ที่มีหลากหลายแผนกหลากหลายส่วนงานย่อมเกิดความหลากหลายทางวิชาชีพตลอดจนทักษะในการทำงานที่แตกต่างกันอยู่แล้ว แต่ละวิชาชีพต่างก็ถูกปูพื้นฐานความรู้ตลอดจนความคิดเห็นในลักษณะที่แตกต่างกันอีกด้วย ดังนั้นองค์กรขนาดใหญ่จึงมีความหลากหลายทางความคิด การแสดงความคิดเห็น วิธีการจัดการ ตลอดจนความสามารถที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทำให้องค์กรเคลื่อนที่ไปได้อย่างสมบูรณ์ด้วยงานหลากหลายลักษณะ

ความหลากหลายทางความสนใจ (Interest Diversity)

ความสนใจของคนมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่บางครั้งก็เกิดการร่วมกลุ่มความสนใจที่คล้ายๆ กัน ในองค์กรเองก็มีความหลากหลายทางความสนใจเช่นกัน ซึ่งความสนใจนี้อาจไม่เกี่ยวกับทักษะวิชาชีพ หรือการเรียน แต่เป็นความสนใจส่วนบุคคล ความสนใจเป็นอดิเรก หรือความสนใจจากความชอบส่วนตัว การมีคนที่มีความหลากหลายทางความสนใจมาร่วมกัน ย่อมทำให้เกิดความหลากหลายทางความคิด การแสดงความคิดเห็น ตลอดจนความหลากหลายในเรื่องราวที่เกิดขึ้น ความหลากหลายนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำงานได้ด้วยเช่นกัน หรือบางครั้งก็สามารถช่วยแก้ปัญหาได้หากความสนใจของบุคลากรอยู่ในขอบข่ายเดียวกันกับปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การทำการตลาดกับลูกค้ากลุ่มที่ชื่นชอบฟุตบอล หากคนทำงานมีความชื่นชอบฟุตบอลไปด้วย ก็จะมีความรู้ต่างๆ มากมายเกี่ยวกับกีฬาประเภทนี้ และเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคได้มากขึ้น ก็จะช่วยให้ทำการตลาดได้ดีกว่าผู้รับผิดชอบที่ไม่ชื่นชอบกีฬาฟุตบอลเลย เป็นต้น


หลักการบริหารความแตกต่างที่หลากหลายของบุคลากรในองค์กร

ความหลากหลายของความแตกต่างนั้นเกิดจากความหลากหลายของบุคลากรที่มีลักษณะต่างๆ กันไป การที่องค์กรมีความหลากหลายมากนั้นย่อมต้องมีการบริหารจัดการให้เกิดความเหมาะสม เพื่อให้ความหลากหลายที่รวมตัวกันนั้นสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขและองค์กรก็สามารถได้รับประโยชน์จากความหลากหลายดังกล่าวได้ด้วย ซึ่งหลักการในการบริหารความแตกต่างที่หลากหลายของบุคลากรในองค์กรนั้นควรมีดังนี้

  • ให้ความเท่าเทียมกันอย่างยุติธรรม : องค์กรควรเคารพความหลากหลายของบุคลากรและให้ความเท่าเทียมกันอย่างยุติธรรม ไม่มีใครได้สิทธิประโยชน์เหนือกว่าใคร หรือไม่มีการขัดแย้งบาดหมางระหว่างกลุ่มที่แตกต่างกัน หากองค์กรละเลยในความเท่าเทียมกันนี้ ก็จะเกิดปัญหาขึ้นได้ เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หรือการทะเลาะเบาะแว้ง และอาจลามไปถึงการลาออกได้เช่นกัน นั่นย่อมเกิดผลเสียกับองค์กรในที่สุด
  • ให้โอกาสที่เหมาะสมกับความสามารถ : องค์กรควรสนับสนุนและให้โอกาสกับทุกคนอย่างเท่าเทียมโดยวัดที่ความสามารถเป็นหลัก หากใครมีศักยภาพก็ส่งเสริมให้เหมาะสม และส่งเสริมกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมด้วย ทุกคนมีสิทธิคว้าโอกาสนั้นได้หากมีความสามารถ ไม่ใช่เพราะเส้นสาย หรือแบ่งแยกกลุ่ม แบ่งแยกเพศ ตลอดจนแบ่งแยกสถาบัน
  • รับฟังและเคารพความคิดเห็นของทุกคน : ความคิดเห็นของทุกคนมีคุณค่าในตัวของมันเอง องค์กรที่มีบุคลากรที่หลากหลายควรเคารพการเสนอความคิดเห็นตลอดจนวิธีการทำงานที่แตกต่างกันด้วย หากมีการถกเถียงกันให้ยึดอยู่บนหลักเหตุและผล ไม่ใช่ไม่เคารพความคิดเห็นหรือดูถูกดูแคลนไปจนถึงละเลยกับความคิดเห็นที่ไม่ใช้ทิศทางเดียวกับตน หรือดูถูกความคิดเห็นโดยเกิดจากการแบ่งแยกเชื้อชาติ หรือไม่ฟังความคิดเห็นเพราะรังเกียจเพศสภาพ เป็นต้น ควรมองที่ความคิดเห็นเป็นหลัก และนำมาวิเคราะห์แยกแยะให้เกิดประโยชน์กับการทำงาน
  • เปิดกว้างสำหรับตำแหน่งและทักษะในการทำงาน : ยุคนี้ทุกคนต่างมีความหลากหลายและความสามารถได้ทุกรูปแบบ อย่าปิดกั้นหรือสร้างกรอบคุณลักษณะ (Stereotype) ไปก่อน โดยเฉพาะกับเรื่องตำแหน่งและอาชีพในการทำงาน อย่างเช่น วิศวกรในยุคนี้ต่างก็เป็นผู้หญิงได้ ไม่ใช่ผู้ชายเพียงอย่างเดียว, เพศที่สามต่างก็สามารถเป็นครูและสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่แพ้ครูเพศปกติ, หรือแม้แต่นักการตลาดที่เก่งฉกาจก็ไม่จำเป็นจะต้องจบมาจากสถาบันดังเสมอไป ซึ่งทุกคนสามารถฝึกฝนตนเองให้เก่งได้หากมีความสนใจและความมุ่งมั่น เป็นต้น
  • ไม่พยายามสร้างกลุ่มหรือหมู่ในองค์กรแบบเป็นทางการ เพื่อให้เกิดการแบ่งแยกกัน : บางครั้งบางองค์กรอาจมีการสร้างกลุ่มหรือเครือข่ายการทำงานขึ้น อาจเป็นการรวมตัวของคนสถาบันเดียวกัน หรือรวมตัวจากคนที่มาจากองค์กรเก่าเดียวกัน หากเกิดการรวมตัวโดยที่บริษัทไม่ใส่ใจก็อาจเกิดการแบ่งแยกได้เช่นกัน หรือทำให้คนที่ไม่มีกลุ่มก็ไม่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ องค์กรควรละลายพฤติกรรมให้ได้มากที่สุด และหลอมรวมการทำงานแบบระบบทีมโดยที่ไม่มีการแบ่งแยกให้มากที่สุดด้วย
  • ไม่สื่อสารกับคนเฉพาะกลุ่มจนเกินไป : การสื่อสารภายในองค์กรนั้นมีความละเอียดอ่อนค่อนข้างสูง การใช้คำ ตลอดจนการสื่อสารแบบแฝงอคติ รวมไปถึงการจงใจสื่อสารเฉพาะกลุ่ม อาจทำให้เกิดความแบ่งแยก หรือสร้างความแตกต่างระหว่างกันได้ ดังนั้นจึงควรสื่อสารให้เป็นกลาง ครอบคลุมความเข้าใจกับทุกฝ่าย หรือไม่สื่อสารใดๆ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกแย่กับคนบางคนหรือบางลักษณะขึ้น หรือสื่อสารเฉพาะกลุมจนเกิดการไม่ยอมรับระหว่างกัน
  • เสริมสร้างความสามัคคีระหว่างกัน : องค์กรยิ่งมีบุคลากรที่หลากหลายย่อมต้องหาวิธีเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างบุคลากรเพื่อให้ทุกคนเข้าใจซึ่งกันและกันและทำงานตลอดจนอยู่ในสังคมร่วมกันได้อย่างมีความสุข จะเห็นได้ว่าหลายองค์กรอาจมีการนำเอากีฬามาเชื่อมความสัมพันธ์กลุ่ม, จัดกิจกรรมสัมพันธ์ตลอดจนสันทนาการต่างๆ เพื่อละลายพฤติกรรมระหว่างกัน, ตลอดจนจัดปาร์ตี้หรือท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดการรู้จักและสร้างความสนิทสนมกันให้มากขึ้น เหล่านี้ล้วนเชื่อมความผูกพัน สร้างความสามัคคี และทำให้ความหลากหลายแตกต่างอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา
  • ใช้ความแตกต่างให้เกิดประโยชน์ : ในเมื่อองค์กรมีบุคลากรที่แตกต่างกันก็ควรหยิบเอาความแตกต่างเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการทำงานตลอดจนการประกอบธุรกิจขององค์กร เพื่อสร้างคุณค่าให้กับความแตกต่างไปในตัวด้วย และทำให้บุคลากรเห็นคุณค่าขององค์กรที่เคารพและส่งเสริมความแตกต่างให้เป็นประโยชน์ อย่างเช่น องค์กรที่รับบุคลากรจากชาติตะวันตกเข้ามาทำงานด้วย ก็อาจจะจ้างบุคลากรเพิ่มเติมในการสอนภาษาอังกฤษให้กับพนักงานคนอื่นๆ, องค์กรที่มีหลากหลายเชื้อชาติและต้องทำตลาดแบบทั่วโลกก็อาจเรียกทุกคนมาแชร์องค์ความรู้ตลอดจนคุณลักษณะของคนในชาติของตนเพื่อให้ทำการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น, หรือองค์กรที่มีคนที่ชอบดนตรีก็อาจส่งเสริมให้การนำเอาเพลงมาใช้ประโยชน์ในการทำงานได้, หรือองค์กรที่มีคนมาจากหลากหลายศาสนาก็อาจแชร์ความรู้ความสนใจระหว่างกันเพื่อเพิ่มประสบการณ์ตลอดจนองค์ความรู้ระหว่างกันให้เพิ่มขึ้

สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ ที่นี้


ที่มา : th.hrnote.asia

 2208
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

HR Articles

ทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและองค์กรบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ในยุคนี้องค์กรจึงหันมาใส่ใจทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่างมาก เพื่อรักษาพนักงานของตนไว้ รวมถึงลดอัตราการลาออกให้น้อยที่สุดด้วย
7988 ผู้เข้าชม
หลาย ๆ คนน่าจะมีคำตอบอยู่ในใจไปในทิศทางเดียวกัน งาน HR คือแผนกที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องพนักงานของบริษัท รับพนักงานเข้า ดูแลพนักงานที่อยู่ ทำเรื่องให้คนออก ดูแลสวัสดิการและความเป็นอยู่ของพนักงานทุกคน ภาพต่าง ๆ เหล่านั้นอาจจะเป็นภาพที่ HR สร้างให้ตัวเองมาโดยตลอด แต่ในวันนี้ HR ยังควรรักษาเพียงภาพนี้เอาไว้อย่างเหนียวแน่นหรือไม่
972 ผู้เข้าชม
หากใครที่กำลังมองหาการออมในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ต้องบอกไว้ก่อนว่า สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ถึงปี 2562 นี้เท่านั้นนะครับ หรืออีกนัยนึงก็คือ จะมียกเลิกการใช้กองทุนรวมหุ้นระยะยาว LTF มาลดหย่อนภาษี ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไปนั่นเอง แต่ก็ไม่ต้องตกใจไปนะครับ เพราะถึงแม้ว่า LTF จะถูกยกเลิก ในการนำมาลดหย่อนภาษีได้
1191 ผู้เข้าชม
การวางแผนภาษีเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงปลายปีแบบนี้ ซึ่งเราทุกๆคนมีหน้าที่จะต้องจ่ายภาษีในช่วงต้นปีถัดไป ก่อนถึงกำหนดจ่ายภาษี การวางแผนภาษีไม่ใช่การหนีภาษีนะ แต่ถือเป็นกระบวนการที่ถูกต้องตามหลักสิทธิประโยชน์ทางภาษีทางกฎหมายที่ระบุไว้อยู่แล้ว
2036 ผู้เข้าชม
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์