How to มือใหม่ยื่นภาษียังไงให้ได้เงินคืน

How to มือใหม่ยื่นภาษียังไงให้ได้เงินคืน


“ภาษี” อาจเป็นเรื่องที่มนุษย์เงินเดือนหลายคนคิดว่ายุ่งยากและน่าปวดหัวที่สุด โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มก้าวแรกของชีวิตการทำงานและยังไม่เคยมีประสบการณ์การยื่นแบบเพื่อจ่ายภาษีประจำปีมาก่อน คุณอาจมีคำถามและข้อสงสัยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนของเราต้องจ่ายภาษีมั้ย? จ่ายภาษีอย่างไร? แล้วเงินภาษีส่วนเกินที่จ่ายไปนั้นจะได้คืนหรือเปล่า? บทความของเราวันนี้จะมาช่วยคลายความสงสัยและตอบทุกคำถามเรื่องการจ่ายภาษีประจำปีให้ทั้งเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มงาน ไปจนถึงมนุษย์เงินเดือนที่ต้องการรู้สิทธิลดหย่อนภาษีของตัวเอง รับรองว่าเรื่อง “ภาษี” ไม่ได้ยากอย่างที่ทุกคนคิดแน่นอนค่ะ

 

ทำความรู้จักกันก่อนว่า “ภาษี” นั้นคืออะไร?

ภาษีที่เราจะพูดถึงกันในที่นี้ คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือที่หลายคนอาจเคยได้ยินในชื่อย่อสั้นๆ ว่า ภง.ด. นั่นเองค่ะ  ความหมายของภาษีชนิดนี้ก็คือเงินที่รัฐเรียกเก็บจากผู้มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยปกติจะเรียกเก็บเป็นรายปี ซึ่งผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องแสดงเอกสารที่เราเรียกว่าแบบชำระภาษีเพื่อทำการจ่ายภาษีให้แก่รัฐในช่วงเวลาที่กำหนด คือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึง 31 มีนาคมของทุกปี และผู้มีรายได้ที่ว่าก็คือบรรดามนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ นั่นเอง

 

เด็กจบใหม่เพิ่งเริ่มทำงาน เงินเดือน 15,000 ต้องเสียภาษีหรือไม่?

ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่าบุคคลใดก็ตามที่ “มีรายได้เกิน 50,000 บาท” ขึ้นไปต่อปี ต้องยื่นแบบชำระภาษีด้วย เพราะฉะนั้นใครที่รู้ตัวว่าตนเองมีรายได้เกินปีละ 50,000 บาท ก็ต้องเตรียมตัวยื่นแบบชำระภาษีได้เลยค่ะ แต่จะต้องจ่ายภาษีเท่าไรนั้นเดี๋ยวเรามาดูไปพร้อมๆ กันตามตารางข้างล่างนี้ได้เลย

 ตารางสรุปอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2560

เงินได้สุทธิ อัตราภาษี ภาษีสูงสุดที่ต้องชำระ
0   –     150,000 ได้รับการยกเว้น -
150,001   –     300,000 5% (ภาษีสูงสุด 7,500 บาท)
300,001   –     500,000 10% (ภาษีที่สูงสุด 20,000 บาท)
500,001   –     750,000 15% (ภาษีที่สูงสุด 37,500 บาท)
750,001   –  1,000,000 20% (ภาษีที่สูงสุด 50,000 บาท)
1,000,001  –  2,000,000 25% (ภาษีที่สูงสุด 250,000 บาท)
2,000,001  –  5,000,000 30% (ภาษีที่สูงสุด 600,000 บาท)
5,000,001  บาท ขึ้นไป 35% -

จากตารางจะเห็นได้ว่าบุคคลที่มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 0-150,000 บาท เป็นกลุ่มเดียวที่ได้รับการยกเว้นภาษี นั่นคือถึงแม้ว่าเราจะมีรายได้เกิน 50,000 บาทต่อปีและต้องทำการยื่นแบบตามที่กฎหมายกำหนด แต่หากรายได้รวมของเราไม่เกิน 150,000 บาท เราก็ไม่ต้องจ่ายภาษีเพราะได้รับการยกเว้นนั่นเองค่ะ

ตัวอย่างเช่น นายเอ เด็กจบใหม่เพิ่งเริ่มทำงานโดยมีฐานเงินเดือน 9,000 บาท เมื่อคำนวณเงินได้ต่อปี นายเอจะมีรายได้ทั้งหมด 9,000×12 = 108,000 บาท เมื่อถึงเวลาการยื่นภาษี นายเอต้องทำการยื่นแบบตามที่กฎหมายกำหนด แต่เนื่องจากรายได้ต่อปีของนายเอไม่เกิน 150,000 บาท จึงไม่ต้องจ่ายภาษีในปีนั้น

หรืออีกกรณีหนึ่ง นายบี เด็กจบใหม่เพิ่งเริ่มทำงาน แต่ฐานเงินเดือนของนายบีอยู่ที่ 18,000 บาท เมื่อคำนวณเงินได้ต่อปี นายบีจะมีรายได้ทั้งหมด 18,000×12 = 216,000 บาท ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี 5% แต่! ประเทศไทยของเราคิดภาษีแบบขั้นบันได เพราะฉะนั้นต้องนำเงินของนายบีมาหักลบส่วนที่ได้รับการยกเว้นภาษีออกไปก่อน นั่นคือ 216,000-150,000 = 66,000 บาท เพราะฉะนั้นถึงจะมองเผินๆ เหมือนว่านายบีต้องจ่ายภาษี แต่จริงๆแล้วเมื่อหักลบส่วนที่ได้รับการยกเว้นออกไป รายได้รวมต่อปีของนายบีจะอยู่ในขั้นที่ได้รับการยกเว้นภาษี ดังนั้นนายบีก็ต้องยื่นแบบตามที่กรมสรรพากรกำหนดเท่านั้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีค่ะ

อย่างไรก็ตามรัฐยังได้กำหนดตัวช่วยที่เรียกว่า “รายการลดหย่อนภาษี” เพื่อช่วยลดภาระในการจ่ายภาษีประจำปีสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีความจำเป็นด้านต่างๆ ขึ้นมาอีกด้วย และจุดนี้แหละค่ะที่จะช่วยให้เราได้เงินคืนเราลองมาดูกันดีกว่าว่ารายการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นมีหลักเกณฑ์อะไรบ้าง

รายการลดหย่อนภาษี ตัวช่วยชั้นดีของมนุษย์เงินเดือน

ลดหย่อนส่วนตัว

60,000 บาท
คู่สมรส (ที่ไม่มีเงินได้) 60,000 บาท
บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย คนละ 30,000 บาท
บิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (มีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี) คนละ 30,000 บาท
บิดามารดาของคู่สมรสที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (มีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี) คนละ 30,000 บาท
ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท
ค่าเบี้ยประกันชีวิต (กรมธรรม์ต้องมีอายุ 10 ปีขึ้นไป) ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จ่ายเข้ากองทุนไปในปีที่ชำระภาษี ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
เงินลงทุนในกองทุน RMF และ LMF ได้รับยกเว้นไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน และเมื่อรวมกับการใช้เบี้ยประกันลดหย่อนหรือเงินลดหย่อนจากกองทุนอื่นๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ดอกเบี้ยเงินกู้อสังหาริมทรัพย์ ลดหย่อนได้จริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
เงินสมทบประกันสังคม ลดหย่อนตามจริง
เงินลดหย่อนอื่นๆ ตามนโยบายของรัฐ เช่น โครงการช้อปช่วยชาติ เป็นต้น -

ข้อมูลอ้างอิงจาก: กรมสรรพากร www.rd.go.th/

ตัวอย่างการคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายแบบฉบับเข้าใจง๊ายง่าย

นายสมคิดทำงานมา 10 ปี เงินเดือน 60,000 บาท สถานะภาพโสด  เลี้ยงดูบิดามารดาอายุ 65 ปี ไม่มีรายได้  รายได้ของนายสมคิดรวมทั้งหมดต่อปีคือ 60,000×12 = 720,000 บาท  ทางบริษัทที่นายสมคิดทำงานมีการส่งเงินสมทบประกันสังคมให้ทุกเดือน เดือนๆละ 750 บาท แต่! นายสมคิดสามารถนำรายการลดหย่อนภาษีมาเป็นตัวช่วยได้ คือ

  • ลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
  • เงินประกันสังคมที่จ่ายในปีนั้น 9,000 บาท
  • ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน 100,000 บาท
  • เลี้ยงดูบิดามารดาอายุ 65 ปี จึงนำมาลดหย่อนได้อีกคนละ 30,000 บาท

รวมเงินที่นายสมคิดลดหย่อนทั้งหมด คือ 229,000

รายได้ต่อปีทั้งหมดของนายสมคิดหลังหักส่วนลดหย่อนภาษีแล้วเท่ากับ 720,000-229,000 = 491,000 บาท จากนั้นนำมาคำนวณแบบขั้นบันได คือ

(1) หักส่วนที่ได้รับการยกเว้นภาษีออกไป 491,000-150,000 = 341,000 ซึ่งรายได้ทั้งหมดที่เหลือ 341,000 ของนายสมคิดอยู่ในกลุ่มที่ต้องจ่ายภาษี 10% แต่จากเกณฑ์แบบขั้นบันได เราจึงต้องคิดภาษี 5% ก่อนที่จะไปสู่ขั้น 10%

(2) ภาษีขั้น 5% สูงสุดที่ต้องจ่ายคือ 7,500 บาท จากนั้นก็เหลือเงินที่ต้องนำไปคำนวณในขั้นภาษี 10% คือ 341,000-150,000 = 191,000 บาท

(3) นำเงินจำนวน 191,000 บาท มาคิดภาษีในขั้น 10% ภาษีที่ต้องจ่ายในขั้นนี้เท่ากับ 19,100

(4) รวมภาษีที่นายสมคิดต้องจ่ายในปีนี้คือ 7,500+19,100 = 26,600 บาท

แต่จะมีอีกกรณีหนึ่งก็คือ หากคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายทั้งหมดหักลบกับรายการลดหย่อนภาษีแล้วปรากฎว่าเราชำระเงินภาษีเกิน (คือกรณีที่รายการลดหย่อนมากกว่าจำนวนเงินภาษีที่ต้องจ่าย ทำให้จำนวนเงินที่ต้องจ่ายภาษีออกมาเป็นค่าติดลบ) เท่ากับว่าเราจะได้รับเงินภาษีคืนหรือที่เรียกกันว่าการ “คืนเงินภาษี” นั่นเองค่ะ ซึ่งเงินส่วนเกินจำนวนนี้เราจะได้รับคืนมาในรูปแบบของเช็คที่จะจัดส่งมาตามที่อยู่ของเราหรือส่งมายังบริษัทกรณีนายจ้างเป็นผู้ยื่นแบบภง.ด.1 แทนพนักงาน เพื่อให้เราสามารถนำเช็คไปขึ้นเงินกับธนาคารได้ หรือหากใครที่มีบัญชีพร้อมเพย์การได้รับเงินคืนภาษีก็จะสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นเพราะทางกรมสรรพากรจะดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีของเราโดยตรงค่ะ


ยื่นภาษีฉบับมนุษย์เงินเดือนยุคใหม่ สะดวกรวดเร็วผ่านช่องทางออนไลน์

1. เปิดเว็บไซต์ http://rdserver.rd.go.th/publish/index.php ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของสรรพากร จากนั้นเลือกเมนู ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2560

หากเคยยื่นแบบออนไลน์มาก่อนก็สามารถล็อกอินได้เลย แต่หากเป็นการยื่นแบบครั้งแรกให้สมัครสมาชิกก่อนค่ะ โดยสามารถดูรายละเอียดการลงทะเบียนเพื่อยื่นภาษีออนไลน์ได้ที่นี่

2. เมื่อสมัครสมาชิกหรือล็อกอินเรียบร้อยแล้วให้กดที่เมนู ยื่นแบบฯ ซึ่งจะอยู่ใต้เมนูรหัสผ่านเพื่อเข้าสู่หน้ากรอกรายละเอียดเงินได้และเงินลดหย่อนต่างๆ (เมนูนี้จะไม่แสดงหากไม่อยู่ในช่วงเวลาของการเปิดให้ยื่นภาษีออนไลน์) โดยทำการกรอกตัวเลขต่างๆ จนครบตามขั้นตอน

3. ในขั้นตอนของการคำนวณภาษีระบบจะคำนวณเงินภาษีที่เราต้องชำระหรือได้คืนจากข้อมูลที่เรากรอกในขั้นตอนก่อนหน้าให้อัตโนมัติ

เมื่อกรอกรายละเอียดครบถ้วนและกดยืนยัน จะปรากฏแบบชำระภาษีที่มีข้อมูลส่วนตัวของเราและจำนวนเงินที่ต้องชำระอยู่ครบถ้วน สามารถปริ้นท์และนำไปชำระได้ทันทีตามช่องทางที่เราสะดวกไม่ว่าจะเป็นที่สรรพากร เคาเตอร์ธนาคารหรือเคาเตอร์เซอร์วิสต่างๆ

แต่ถ้าหากกดยืนยันและในแบบแจ้งว่าเราชำระภาษีเกินจำนวน ทางสรรพากรจะทำการคืนเงินภาษีให้เราโดยอัตโนมัติ (อาจต้องใช้เวลาดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด) ซึ่งเราสามารถติดตามเรื่องได้หากเกิน 45 วันแล้วยังไม่ได้รับเช็คคืนเงินภาษี ซึ่งกรณีนี้หากเรามีบัญชีพร้อมเพย์จะได้รับเงินคืนเร็วกว่าการรอรับเป็นเช็คค่ะ

 

เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการยื่นภาษี

  1. หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือ 50 ทวิ
  2. เอกสารทางการเงินอื่นๆ เช่น บิลชำระเบี้ยหระกันหรือดอกเบี้ยเงินกู้อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งเราต้องใช้ในการกรอกจำนวนเงินลดหย่อนภาษีและแนบไปเป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษีกับกรมสรรพากรค่ะ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับแนวทางการยื่นภาษีและการคำนวณรายการลดหย่อนภาษีในเบื้องต้น  ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องยุ่งยากเลยแม้แต่น้อย ขอเพียงแค่เราเข้าใจอัตราภาษีแบบขั้นบันไดและรู้สิทธิการลดหย่อนภาษีของตัวเอง เพียงเท่านี้เราก็สามารถคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละปีได้แบบง่ายๆ แล้วค่ะ แต่สำหรับใครที่ไม่อยากนั่งคิดคำนวณให้ปวดหัว การยื่นภาษีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากรก็เป็นทางเลือกที่มนุษย์เงินเดือนยุคดิจิทัลแบบเราไม่ควรพลาด เพราะนอกจากจะมีความสะดวกรวดเร็วแล้ว ระบบยังมีความทันสมัย คำนวณเงินภาษีและการลดหย่อนได้อย่างแม่นยำ เรียกได้ว่าเป็นตัวช่วยชั้นดีของมนุษย์เงินเดือนที่ต้องยื่นภาษีเองแบบเราเลยทีเดียวค่ะ

สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับการ ลดหย่อนภาษี เพิ่มเติ่ม และ บทความที่น่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี้


ที่มา : www.officemate.co.th

 4109
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

HR Articles

เมื่อได้ยินคำว่า “ภาษี” ทีไร ผมเชื่อเหลือเกินครับว่า เราทุกคนอยากจะสรรหาวิธีมาประหยัดรายจ่ายตัวนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะมันเป็นรายจ่ายที่จ่ายไปแล้ว ไม่ค่อยจะสบายใจ ว่าเอ๊ะ...เงินเรามันหายไปไหนกันนะ
1022 ผู้เข้าชม
HR คือส่วนงานแรกขององค์กรที่ต้องเจอกับคลื่น Digital Disruption ส่งผลให้หลายองค์กรหันมามุ่ง Transform สู่ Digital HR เปิดเทรนด์ประเทศไทยและทั่วโลก พบคนส่วนใหญ่หันหน้าสู่อาชีพฟรีแลนซ์มากกว่าทำงานประจำ
1641 ผู้เข้าชม
หากใครที่กำลังมองหาการออมในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ต้องบอกไว้ก่อนว่า สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ถึงปี 2562 นี้เท่านั้นนะครับ หรืออีกนัยนึงก็คือ จะมียกเลิกการใช้กองทุนรวมหุ้นระยะยาว LTF มาลดหย่อนภาษี ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไปนั่นเอง แต่ก็ไม่ต้องตกใจไปนะครับ เพราะถึงแม้ว่า LTF จะถูกยกเลิก ในการนำมาลดหย่อนภาษีได้
1204 ผู้เข้าชม
การเข้าออกของพนักงานในองค์กรถือเป็นเรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำในการทำงาน เมื่อมีพนักงานลาออก ก็ต้องมีการสรรหาคัดเลือกพนักงานเข้ามาทดแทนตำแหน่งงานที่หายไป และเมื่อคัดเลือกได้พนักงานที่น่าจะดีที่สุดแล้ว ก็จะต้องมีการนัดหมายเริ่มต้นการทำงาน พนักงานใหม่กลุ่มนี้ องค์กรมีการดูแลอย่างไรนั้น มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าพนักงานที่ทำงานมานานๆ ในองค์กรเลย
2663 ผู้เข้าชม
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์