หลาย ๆ คนคงทราบดีอยู่แล้วว่า สวัสดิการพนักงาน นั้น แม้จะเป็นสิ่งที่ทางบริษัท หรือนายจ้างมอบให้แก่พนักงานหรือลูกจ้างทุก ๆ คน เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานของลูกจ้างและเพื่อให้ลูกจ้างมีสภาพความเป็นอยู่ในการทำงานที่ดีขึ้นก็ตาม แต่สิ่งที่ได้รับมาเหล่านั้นก็ต้องถูกนำไปคิดคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินของเราในการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในรอบปีบัญชีนั้น ๆ เว้นแต่สวัสดิการต่าง ๆ ที่เราได้รับ จะถูกจัดอยู่ในข้อบัญญัติตามกฎหมายให้มีการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ แต่จะมีสวัสดิการตัวใดกันที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมาคำนวณภาษี ค่าคลอดบุตรถือเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีหรือไม่ ค่าเบี้ยเลี้ยงทางภาษี ถือเป็นสวัสดิการที่ได้รับการยกเว้นหรือเปล่า และค่าเดินทางเหมาจ่ายต้องเสียภาษีหรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบค่ะ
สำหรับสิ่งที่จะถือว่าเป็น สวัสดิการ (welfare) ได้นั้น จะต้องเป็นสิ่งที่ทางบริษัทมีระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ออกมาให้แก่ลูกจ้าง โดยไม่เลือกปฏิบัติ ลูกจ้างของบริษัทต้องได้รับทุกคนไม่ว่าจะเท่าเทียมหรือไม่ก็ตาม และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของธุรกิจ ซึ่งหากสิ่งที่นายจ้างมอบให้ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายข้างต้นนี้ จะถือว่าเป็นประโยชน์เพิ่มเติมที่ลูกจ้างได้รับ โดยหมายถึง ประโยชน์, ทรัพย์, สิทธิ, หรือบริการใด ๆ ที่นายจ้างได้ให้แก่พนักงานอันเนื่องมากจากการทำงานในตำแหน่งหน้าที่ ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน ซึ่งประโยชน์เพิ่มนี้อาจถือเป็นเงินได้พึงประเมินของพนักงานด้วย
ทั้งนี้ ต้องกลับมาดูกันก่อนว่า เหตุใด สวัสดิการ ที่เราได้รับจากบริษัท จึงถูกจัดให้เป็นรายได้พึงประเมินซึ่งจะต้องคำ มาคำนวณภาษี โดยตามประมวลกฎหมายรัษฎากร หรือกฎหมายภาษีอากร มาตราที่ 39 ได้ระบุไว้ว่า "เงินได้พึงประเมิน" หมายความว่า เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษี ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน โดยเราสามารถพิจารณาได้จากประเภทของเงินได้พึงประเมินจากประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตราที่ 40 (1) แห่ง ซึ่งระบุว่า เงินได้พึงประเมิน คือ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้ อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเงินได้พึงประเมินจากการจ้างแรงงานตามกฎหมายภาษีอากรดังกล่าว ไม่ว่าลูกจ้างจะได้รับเป็นตัวเงิน อาทิ เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด หรือบำเหน็จบำนาญ หรือได้รับประโยชน์เพิ่มในรูปสวัสดิการจากนายจ้าง เช่น เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่จ่ายและชำระเงิน ทรัพย์ หรือประโยชน์ใด ๆ ที่ลูกจ้างได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงาน ลูกจ้างก็ต้องนำทั้งหมดที่ได้รับมาคิดเป็นรายได้พึงประเมิน
แต่ใช่ว่าสวัสดิการทุกอย่างที่เราได้รับจากนายจ้าง จะถือเป็นรายได้พึงประเมินที่ต้องนำมาคำนวณเสียภาษีทั้งหมด เพราะในบทบัญญัติของกฎหมายยังได้มีการกำหนดในส่วนของเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีไว้ด้วย
ที่มา : money.kapook.com