10 เรื่องที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดเมื่อต้องยื่นภาษี

10 เรื่องที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดเมื่อต้องยื่นภาษี

หน้าที่ที่คนทำงานทุกคนเจอไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็ตามคงไม่พ้นเรื่องของการยื่นภาษีที่เราต้องยื่นกันทุกปี เราลองมาสำรวจดูว่ามีข้อผิดพลาดไหนบ้าง ที่ส่วนใหญ่คนทั่วไปเผลอทำกัน เพื่อที่ว่าจะได้เข้าใจเรื่องภาษีอย่างครบถ้วนมากขึ้น และวางแผนยื่นภาษีกันให้ถูกต้อง สบายใจไร้กังวล

1. คำนวณภาษีเงินได้ผิด

หลายคนยังสับสนกับวิธีคำนวณภาษีของตัวเอง ซึ่งการคำนวณภาษีเบื้องต้น สามารถทำได้ดังนี้ (สำหรับเหล่ามนุษย์เงินเดือน)

[(เงินได้ - ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) – เงินบริจาค] * อัตราภาษี

  • เงินได้ คือ รายได้ทั้งปี รวมโบนัส หรือถ้าเป็นพนักงานบริษัท ก็คือ เงินเดือน x12+โบนัส
  • ค่าใช้จ่าย คือ ส่วนที่กฎหมายกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายต่างๆเพื่อหักเป็นต้นทุนสำหรับการทำมาหารายได้ของเรา การหักค่าใช้จ่ายมี 2 แบบคือการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา และ การหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริง
  • ค่าลดหย่อน เป็นสิทธิประโยชน์ที่กฎหมายเปิดช่องเพื่อให้เสียภาษีน้อยลง เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว คู่สมรส บิดามารดา บุตร อุปการะเลี้ยงดูคนพิการ เบี้ยประกันบิดามารดา ฯลฯ

แล้วเมื่อคำนวณเงินได้ออกมาแล้วก็ต้องไปเทียบกับฐานภาษีของสรรพากร 

  • เงินบริจาค คือ เงินที่ได้รับสิทธินำมาลดหย่อนไม่เกิน 10% จากเงินได้สุทธิก้อนแรก เช่น เงินบริจาคเพื่อการศึกษา เงินบริจาคเพื่อสาธารณะประโยชน์
ขั้นเงินได้สุทธิตั้งแต่ เงินได้สุทธิจำนวน
สูงสุดของขั้น
อัตราภาษี ภาษีสูงสุดในแต่ละขั้นเงินได้ ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น
0 - 150,000 150,000 5 ยกเว้น* 0
เกิน 150,000 - 300,000 150,000 5 7,500 7,500
เกิน 300,000 - 500,000 200,000 10 20,000 27,500
เกิน 500,000 - 750,000 250,000 15 37,500 65,000
เกิน 750,000 - 1,000,000 250,000 20 50,000 115,000
เกิน 1,000,000 - 2,000,000 1,000,000 25 250,000 365,000
เกิน 2,000,000 - 5,000,000 3,000,000 30 900,000 1,265,000
เกิน 5,000,000 บาท ขึ้นไป - 35 - -

ถ้ามองตัวเลขแล้วรู้สึกตาลาย แนะนำว่าคุณสามารถใช้เครื่องมือคำนวณภาษี ตรงนี้ก็ได้ และหากคุณเป็นพนักงานบริษัท การติดตามข้อมูลเคล็ดลับลดหย่อนภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือนก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราอยากแนะนำให้คุณอ่านเพิ่มเติม

2. เงินปันผลจากกองทุนรวม

คนที่เสียภาษีหลายคนเลือกลงทุนในกองทุนรวมซึ่งกองทุนรวมที่เลือกลงทุนบางกองมีการจ่ายปันผล ซึ่งจะต้องเสียภาษี 10% (ทุกครั้งที่มีการจ่ายปันผล) เมื่อยื่นภาษีสามารถนำปันผลที่ได้มารวมเป็นรายได้ประจำปีเพื่อคำนวนภาษีด้วย

3. ไม่เข้าใจภาษีหัก ณ ที่จ่าย

เวลาที่ได้สลิปเงินเดือนมาเราจะเห็นว่ามีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไป ทำให้จำนวนเงินไม่ได้เป็นตัวเลขกลมๆ ซึ่งต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ภาษีหัก ณ ที่จ่ายนี้ จะหักออกจากจำนวนภาษีสิ้นปีที่เราต้องจ่าย และถ้าเราถูกหักภาษีส่วนนี้มากเกินกว่าจำนวนภาษีสิ้นปีที่คำนวณออกมาได้ เราจะได้รับเงินคืนภาษี เป็นส่วนที่ทางรัฐกำหนดไว้เพื่อลดจำนวนเงินก้อนที่เราต้องจ่ายจำนวนมากในครั้งเดียวของการเสียภาษี

4. หักลดหย่อนบิดา มารดา ซ้ำ

คุณสามารถลดหย่อนได้ในกรณีที่ตนเองเลี้ยงดูบิดามารดาที่อายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งจะมีสิทธิหักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท

มักมีหลายๆ คนพลาดในจุดนี้  เพราะคิดว่าลูกหนึ่งคนเท่านั้นที่ได้รับสิทธิเลี้ยงดูบิดาหรือมารดา เช่น ครอบครัวหนึ่งมีลูกทั้งหมด 3 คน มีรายได้ที่ต้องเสียภาษี ลูกคนที่หนึ่งใช้สิทธิลดหย่อนจากการดูแลคุณแม่ และคุณพ่อ จะทำให้ลูกอีกสองคนไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้ หรือ หากลูกคนที่หนึ่งใช้สิทธิลดหย่อนการดูแลคุณแม่ ลูกคนที่สองใช้สิทธิลดหย่อนดูแลคุณพ่อ จะทำให้ลูกคนที่สามไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ การใช้สิทธิลดหย่อนบิดามารดานั้นสามารถให้สิทธิใครลดหย่อนก็ได้ขึ้นอยู่กับบุตรตกลงกันเอง นอกจากนั้นถ้าหากคุณพ่อหรือคุณแม่เข้าข่ายเป็นผู้พิการหรือทุพพลภาพ ก็จะใช้สิทธิลดหย่อนเพิ่มได้อีก 60,000 บาท รวมทั้งหมดเป็น  90,000 บาท

5. ไม่เข้าใจการหักลดหย่อนด้วยประกันชีวิต

บางคนทำประกันชีวิตไว้เพราะหวังจะนำมาลดหย่อนภาษีเยอะๆ เพราะเห็นว่าเบี้ยประกันชีวิตไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่กฎหมายกำหนดให้หักลดหย่อนสูงสุดได้ไม่เกิน 100,000 บาท เช่น ถ้าจ่ายเบี้ยประกันปีละ 500,000 บาทก็นำมาลดหย่อนได้ 100,000 บาทเท่านั้น อีกทั้งไม่ใช่ทุกประกันชีวิตจะสามารถนำมาลดหย่อนได้ แต่ต้องเป็นแบบประกันที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

ประกันสุขภาพ สามารถนำเบี้ยประกันมายกเว้นภาษีตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท และนำไปรวมกับประกันชีวิตทั่วไป+เงินฝากแบบมีประกันชีวิต รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท

นอกจากนี้หลายคนอาจลืมไปว่าค่าเบี้ยประกันบำนาญก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ (ตามที่จ่ายจริง) แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินและไม่เกิน 200,000 บาทเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ,กบข,และ RMF ไม่เกิน 500,000 บาท และอาจลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาทหากยังไม่ได้ใช้สิทธิเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไป

6. พลาดไม่ซื้อประกันสุขภาพบิดามารดา

ประกันชีวิตเหมือนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เราควรมีติดตัว ยิ่งถ้าประกันสุขภาพด้วยแล้วก็เป็นของจำเป็น ซึ่งอยากบอกว่าถ้าคุณซื้อประกันสุขภาพให้กับบิดามารดา ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท (กรณีบิดามารดารายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี) ได้ทั้งความอุ่นใจและได้ลดหย่อนภาษีพร้อมกัน

7. ฟรีแลนซ์ลืมขอใบทวิ 50

ฟรีแลนซ์หลายคนมีงานเข้าไม่ขาดสาย มีรายรับท่วมท้น แต่เมื่อถึงเวลาเสียภาษีก็อาจจะต้องเหงื่อตกได้ เพราะไม่ได้ขอใบทวิ 50 (ใบหักภาษี ณ ที่จ่าย) จากนายจ้างเอาไว้ จนอาจทำให้เจอกับภาษีย้อนหลังและอดได้เงินคืนภาษี รู้แบบนี้ก็ควรรีบขอนายจ้างไว้ด่วนๆ เลย

8. ยื่นภาษีผิด

เนื่องจากรายการเสียภาษีมีค่อนข้างเยอะเหลือเกิน จนอาจทำให้สับสนแล้วกรอกรายละเอียดยื่นภาษีผิดไปได้ แต่ยังมีความหวังเพราะสามารถยื่นใหม่ทั้งหมดได้ (สำหรับคนที่ยื่นเป็นเอกสาร) ส่วนกรณีที่ยื่นผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจะสบายกว่ากันหน่อย เพราะสามารถกด “ยื่นเพิ่มเติม” ได้เลย ส่วนหลังยื่นภาษี คือส่วนที่ได้รับเงินคืนมาแล้วเพิ่งทราบว่ามีข้อผิดพลาด ให้ลองตรวจสอบจำนวนเงินคืนที่ได้รับมา โดยถ้าได้รับมากหรือน้อยกว่าที่ควร ให้รีบติดต่อกรมสรรพากรเพื่อจะได้พิจารณาข้อมูลการยื่นภาษีของเราอีกครั้ง

9. ไม่สมัครพร้อมเพย์

ปัจจุบันกรมสรรพากรยกเลิกเช็คคืนภาษีทางไปรษณีย์ หากต้องการได้เงินคืนภาษีเร็วแนะนำสมัครบริการพร้อมเพย์ทำให้ได้ได้เงินไวมากๆ โดยเงินคืนภาษีของเราจะถูกโอนเข้าบัญชีที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ไว้ แต่หากไม่มีพร้อมเพย์ สามารถนำหนังสือแจ้งคืนภาษีไปติดต่อที่ธนาคารกรุงไทย เพื่อนำเงินภาษีเข้าบัญชี และ หากไม่มีบัญชีธนาคาร แต่ต้องการเงินคืนภาษีก็ไม่ต้องกังวลใจ สามารถติดต่อขอเงินคืนภาษีที่ธนาคารกรุงไทย โดยทำตามระบบที่ทางธนาคารกำหนดไว้โดยเตรียมหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีที่สรรพากรจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ และ บัตรประจำตัวประชาชน(หรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง)ไปด้วยนะคะ

10. ยื่นภาษีล่าช้า

การยื่นภาษีล่าช้าก็มีโทษด้วย โดยถ้ายื่นช้ากว่าเวลาที่กำหนดจะถือว่ามีความผิด ทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มอีกร้อยละ 1.5% ต่อเดือน ของจำนวนเงินภาษีที่คุณต้องชำระ (ถ้ามีเศษของเดือนให้นับเป็นเท่ากับ 1 เดือน) และค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท

เรื่องภาษีไม่ใช่เรื่องยาก แค่ต้องใช้การเตรียมตัวที่ดี หลังจากอ่านจบแล้วก็ลองเตรียมเอกสารอย่างถี่ถ้วน และไม่ลืมรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อที่ว่าปีหน้าจะได้ยื่นภาษีกันอย่างสบายๆ นะคะ

ที่มา : www.krungsri.com

 1156
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

HR Articles

นายปรี๊ดค้นเจอบทความชิ้นหนึ่งของผู้เขียน ชื่อ นาเดีย กูดแมน จากเว็บไซต์ ideas.ted.com ซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์ ดร.เคลลี่ แมคกอนิกัล (Kelly McGonigal) อาจารย์สาขาจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด ผู้เขียนหนังสือ “The Willpower Instinct” ซึ่งถูกแปลมากว่า 10 ภาษาและประสบความสำเร็จมากในประเทศญี่ปุ่น เป็นหนังสือสไตล์ฮาวทู (how to) เผื่อใช้จัดการวินัยในตนเอง บนฐานคิดและหลักฐานการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความสำเร็จแก่ตนเอง
1251 ผู้เข้าชม
 Internet of Things จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ของการทำงาน HR ให้กลายเป็น Digital HR บูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับการบริหารจัดการคนให้เกิดประสิทธิภาพ และตอบโจทย์วิถีชีวิตคนทำงานยุคปัจจุบัน
1170 ผู้เข้าชม
เมื่อได้ยินคำว่า “ภาษี” ทีไร ผมเชื่อเหลือเกินครับว่า เราทุกคนอยากจะสรรหาวิธีมาประหยัดรายจ่ายตัวนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะมันเป็นรายจ่ายที่จ่ายไปแล้ว ไม่ค่อยจะสบายใจ ว่าเอ๊ะ...เงินเรามันหายไปไหนกันนะ
999 ผู้เข้าชม
“รู้ไหม มีลูกคนหนึ่งเปลืองเงินแค่ไหน” มิตรสหายที่มีลูกหลายคนของผม เริ่มบ่นแบบนี้เป็นเสียงเดียวกัน เมื่อมีโอกาสได้เจอะเจอกันกับผองเพื่อน เพราะพวกเขามองว่าการมีลูกนั้นมีต้นทุนอีกหลายอย่างตามมา
1324 ผู้เข้าชม
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์