• หน้าแรก

  • News

  • สรุปรายการลดหย่อนภาษีประจำปี 2559 พร้อม UPDATE เทคนิคประหยัดภาษีที่คุณต้องรู้!!

สรุปรายการลดหย่อนภาษีประจำปี 2559 พร้อม UPDATE เทคนิคประหยัดภาษีที่คุณต้องรู้!!

  • หน้าแรก

  • News

  • สรุปรายการลดหย่อนภาษีประจำปี 2559 พร้อม UPDATE เทคนิคประหยัดภาษีที่คุณต้องรู้!!

สรุปรายการลดหย่อนภาษีประจำปี 2559 พร้อม UPDATE เทคนิคประหยัดภาษีที่คุณต้องรู้!!

“รายการลดหย่อนภาษีประจำปี 2559” เรามาลองดูกันเลยดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง

คำว่า “ค่าลดหย่อน” ที่เราจะคุยกันนี้ คือ “รายการที่กฎหมายกำหนดไว้ให้นำไปหักออกจากเงินได้เพิ่มขึ้นหลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว” ซึ่งมาจากวิธีการคำนวณตามนี้

(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี

โดยเราจะเรียกการคำนวณในวงเล็บนี้ว่า “เงินได้สุทธิ” ซึ่งวิธีการวางแผนประหยัดภาษีที่เรานิยมกันที่สุด คือ การเพิ่ม “ค่าลดหย่อน” ให้มากที่สุด เพื่อให้เงินได้สุทธิของเราต่ำที่สุด และเสียภาษีน้อยๆนั่นเอง

(ตารางอัตราภาษีแสดงให้เห็นว่า ยิ่งมีเงินได้สุทธิมาก ยิ่งต้องเสียภาษีมาก)

ดังนั้นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะทำกัน คือ การหาค่าลดหย่อนมาเพิ่มเติม ซึ่งประกอบไปด้วยรายการต่างๆ ที่มีมากมายขอแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ค่าลดหย่อนส่วนตัว

ครอบครัว และการเป็นคนดีศรีสังคม

สำหรับค่าลดหย่อนในกลุ่มแรกนี้ จะเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวของเรา ซึ่งเป็นค่าลดหย่อนที่สามารถหยิบจับขยับเข้ามาใช้งานได้ง่าย เพียงแค่เรามีคุณสมบัติตามที่ว่ามา เราก็ได้สิทธิเดี๋ยวนั้นเลย

1. ค่าลดหย่อนส่วนตัวจำนวน 30,000 บาท คือ ค่าลดหย่อนสำหรับคนมีเงินได้ทุกคนที่ยื่นแบบแสดงรายการ แค่เพียงเรายื่นแบบแสดงรายการก็สามารถใช้สิทธิค่าลดหย่อนนี้ได้เลย

2. ค่าลดหย่อนคู่สมรสจำนวน 30,000 บาท คือ ค่าลดหย่อนของคู่สมรส (ตามกฎหมาย) กรณีที่คู่สมรส (สามีหรือภรรยา) ที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้และเลือกยื่นแบบแสดงรายการรวมกันในการคำนวณภาษี เราจะได้สิทธิค่าลดหย่อนส่วนเพิ่มเติมจากส่วนนี้ทันที

3. ค่าลดหย่อนบุตรและการศึกษาบุตรจำนวน 15,000 บาทและ 2,000 บาท โดยคำว่า “บุตร” หมายถึง บุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ คนละ 15,000 บาท และหักได้สูงสุดไม่เกิน 3 คน (นับเฉพาะทีมีชีวิต) โดยมีเงื่อนไขดังนี้

– บุตรต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี

– ถ้าอายุอยู่ในระหว่าง 21-25 ปี ต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไป

– บุตรต้องไม่มีเงินได้ในปีภาษีตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป

ส่วนค่าลดหย่อนการศึกษาบุตรนั้น มีสำหรับบุตรที่กำลังศึกษาภายในประเทศ โดยจะได้รับค่าลดหย่อนเพิ่มเติมอีกคนละ 2,000 บาท โดยคำว่าการศึกษาหมายถึงตั้งแต่ ชั้นอนุบาลไปจนถึงปริญญาเอก (ไม่รวมชั้นเตรียมอนุบาลนะครับ)

4. เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่จำนวน 15,000 บาท เน้นว่า ต้องเป็นเบี้ยประกันสุขภาพคุณพ่อคุณแม่เท่านั้นครับ ซึ่งสามารถใช้สิทธิได้ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี หากเรามีการซื้อประกันสุขภาพให้ท่าน สามารถนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพมาลดหย่อนได้สูงสุดถึง 15,000 บาท และค่าเบี้ยประกันสุขภาพนี้สามารถแบ่งกันสำหรับลูกหลายๆคนได้ด้วย

5. ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่เราและพ่อแม่คู่สมรส คนละ 30,000 บาท ถ้าหากเราหรือคู่สมรสมีคุณพ่อคุณแม่ที่อายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท เราก็จะมีสิทธิหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูได้คนละ 30,000 บาท นั่นหมายความว่าถ้าเราเลี้ยงดูถึง 4 คนก็จะได้รับสิทธิสูงสุดถึง 120,000 บาท

แต่มีเงื่อนไขนิดนึงในกรณีของพ่อแม่ของคู่สมรสที่จะนำมาลดหย่อนนั้น เราจะสามารถนำมาลดหย่อนได้ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้เท่านั้น

โดยคุณพ่อคุณแม่จะต้องลงลายมือชื่อในหนังสือรับรอง (แบบ ลย.03) ว่าลูกคนไหนเป็นคนเลี้ยงดู และสิทธิในการเลี้ยงดูนั้นจะสามารถใช้สิทธิได้เพียงครั้งเดียวครับ เช่น พี่น้องสองคน คนโตใช้สิทธิลดหย่อนเลี้ยงดูพ่อ คนเล็กก็ไม่สามารถใช้สิทธิเลี้ยงดูพ่อแล้วครับ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เฉพาะแม่ หรือถ้าคนโตใช้สิทธิทั้งคุณพ่อคุณแม่ ลูกคนเล็กก็ไม่มีสิทธิแล้ว

6. ค่าลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพจำนวน 60,000 บาท ถ้าหากเราเป็นผู้ดูแลคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือคนทุพพลภาพที่มีใบรับรองแพทย์ เราสามารถนำมาหักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าคนพิการหรือคนทุพพลภาพที่นำมาลดหย่อนนั้นต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี

และในกรณีที่คนพิการหรือคนทุพพลภาพเป็น พ่อแม่ – บุตร – คู่สมรส ของเรา เราสามารถใช้สิทธิได้ทั้งสองส่วนครับ เช่น คู่สมรสไม่มีรายได้และพิการ ก็จะสามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 90,000 บาท (60,000 + 30,000) นั่นเอง

กลุ่มที่ 2 ค่าลดหย่อนจากสินทรัพย์

และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ

สำหรับกลุ่มที่ 2 นี้เป็นค่าลดหย่อนที่เกิดขึ้นจากการมีสินทรัพย์ต่างๆ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นที่อยู่อาศัย รวมถึงสิทธิลดหย่อนที่เพิ่มขึ้นตามมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งสามารถนำค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มาลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เช่นเดียวกัน เรามาดูกันต่อเลยดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง

7. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย จำนวน 100,000 บาท ที่เราจ่ายไปเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดเพื่ออยู่อาศัย โดยสามารถหักได้ตามที่จ่ายไปจริง และในกรณีที่เป็นการกู้ร่วมกันหลายคน ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่าๆกัน แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

ยกตัวอย่างเช่น หากมีการกู้ร่วมกัน 2 คน จะถือว่าดอกเบี้ยที่สามารถใช้สิทธิได้คือ 100,000 และแต่ละคนจะใช้สิทธิหักลดหย่อนได้สูงสุดคนละ 50,000 บาท

อย่าลืมว่า!! การใช้สิทธิสำหรับกรณีนี้จะบ้านกี่หลังก็ได้ แต่สูงสุดรวมกันแล้วจำนวนเงินต้องไม่เกิน 100,000 บาท

8. ค่าลดหย่อนจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์สูงสุด 120,000 บาท เป็นค่าลดหย่อนสำหรับผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท ให้สิทธิพิเศษสามารถนำเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีได้โดยมีเงื่อนไขดังนี้

– ต้องเป็นบ้านหลังแรกที่ มูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท และต้องซื้อภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559

– ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตั้งแต่ปีภาษี 2559 เป็นต้นไป (เริ่มยื่นแบบภายใน 31 มีนาคม 2560)

– ห้ามโอนหรือขายต่อภายในเวลา 5 ปี และต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในบ้านหลังนั้นด้วย

9. ค่าซื้อสินค้า OTOP จำนวน 15,000 บาท เป็นค่าลดหย่อนพิเศษสำหรับปี 2559 นี้ โดยเป็นโครงการช้อปช่วยชุมชนเพื่อให้กระตุ้นการใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งกำหนดเงื่อนไขไว้ดังนี้

1. เป็นการซื้อสินค้าโอทอป (OTOP) ที่ได้รับการรับรองจากส่วนราชการ และจดทะเบียนผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม

2. จำนวนเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดคือ 15,000 บาท และระยะเวลาการซื้อวันที่ตั้งแต่ 1-31 สิงหาคม 2559

3. เอกสารที่ใช้เป็นหลักฐาน คือ “ใบกำกับภาษี” แบบเต็มรูป

10. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ 15,000 บาท โดยนำรายจ่ายจากการ “กิน-เที่ยว” หรือค่าใช้จ่ายจากการจ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่มในร้านอาหาร (ไม่รวมสุรา เบียร์ ไวน์) รวมถึงค่าที่พักโรงแรม มาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ มีผลช่วงเทศกาลสงกรานต์ 9 วัน คือ 9-17 เมษายน 2559 ที่ผ่านมานี้ ใครใช้แล้วก็อย่าลืมนำมาลดหย่อนภาษีกันด้วยนะ

11. ค่าลดหย่อนจากการใช้จ่ายท่องเที่ยวสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยต้องเป็นค่าโรงแรมและค่าที่พักสำหรับการท่องเที่ยวภายในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 – 31 ธันวาคม 2559 ที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการโรงแรมและผู้ประกอบการนำเที่ยวตามกฎหมาย

กลุ่มที่ 3 ค่าลดหย่อนที่เป็นการออมเงินและลงทุน

สำหรับกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ลดหย่อนแล้วได้ประโยชน์ 2 ส่วน คือ ส่วนของการออมเงิน หรือ ลงทุน เพื่อสร้างวินัยและผลตอบแทนในการลงทุนให้กับเราส่วนหนึ่ง และใช้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งการเลือกออมหรือลงทุนในตัวไหนก็ตาม อยากแนะนำอีกครั้งว่าให้ดูวัตถุประสงค์ในการลงทุนของเราเป็นอันดับแรกก่อน แล้วค่อยคำนึงถึงเรื่องสิทธิประโยชน์การวางแผนภาษี เอาล่ะ มาดูกันเลย

12. ประกันสังคม ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท

13. เบี้ยประกันชีวิต มี 2 ประเภท คือ

– ประกันชีวิต (แบบทั่วไป) ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

– ประกันชีวิต (แบบบำนาญ) ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท

โดยประกันชีวิตแบบทั่วไปนั้นในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ การหักค่าเบี้ยประกันจะหักได้สูงสุด 10,000 บาท แต่ถ้าหากคู่สมรสมีรายได้จะหักสูงสุดได้ถึง 100,000 บาท

สำหรับใครที่สงสัยว่าประกันชีวิตของตัวเองเป็นแบบไหน ลดหย่อนภาษีได้หรือไม่ แนะนำให้สอบถามจากตัวแทนประกันได้เลย หรือจะดูจากใบเสร็จรับเงินค่าประกันที่เราจ่ายไปก็ได้ครับว่าเรามี “เบี้ยประกันชีวิต” ที่สามารถนำไปลดหย่อนได้จำนวนเท่าไหร่

14. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ลงทุนไว้ในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ไว้ใช้ในการวางแผนเกษียณของเรา นำมาลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี จำนวนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท โดยกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF มีเงื่อนไขเพิ่มเติมตามนี้

– ต้องซื้อติดต่อกันทุกปี (แต่ถ้าผิดเงื่อนไขสามารถผิดได้ 1 ปี)

– ต้องซื้อเป็นจำนวนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี หรือ 5,000 บาท

– ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี และอายุครบ 55 ปี จึงจะสามารถขายได้

15. กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เป็นกองทุนรวมอีกประเภทหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระยะยาว โดยเน้นลงทุนในตลาดหุ้นเป็นหลัก ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี จำนวนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท โดยกองทุนรวม LTF นั้นมีเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ ต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 7 ปีปฎิทินด้วยครับ สำหรับการซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 – 31 ธันวาคม 2562

16. กองทุนการออมแห่งชาติ กำหนดให้ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ในการคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท

17. เงินสมทบ กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

สำหรับข้อ 13 14 16 และ 17 นั้น มีเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับค่าลดหย่อนที่เป็นการวางแผนเกษียณ คือ ยอดรวมของ RMF + กบข./กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน + กองทุนการออมแห่งชาติ + ประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

กลุ่มที่ 4 เงินบริจาค

สำหรับกลุ่มสุดท้ายนี้ คือ เรื่องของการให้ เป็นอีกมุมหนึ่งที่ดีสำหรับผู้ที่มีจิตเป็นกุศล อยากจะส่งผ่านเรื่องราวดีๆไปให้กับคนอื่นที่ขาดแคลน และการที่เราเป็นคนดี กรมสรรพากร เลยให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม

โดยเงินบริจาคในกลุ่มที่ 4 นี้จะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่นำมาหักหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตัวอื่นๆแล้วครับ ซึ่งจะได้สิทธิหักได้สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตัวอื่นๆ แล้ว ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ที่ชอบใช้กัน คือ

18. เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา สามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินที่ได้จ่ายไป แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น (จริงๆ คือยังมีการบริจาคเรื่องอืนๆที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เช่นเรื่องของการกีฬา สาธารณะประโยชน์ต่างๆ)

19. เงินบริจาคทั่วไป สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายค่าลดหย่อนและเงินบริจาคในข้อ 18 แล้ว

วิธีประหยัดภาษีให้มากที่สุด

1. เรามีการลงทุนเพื่อวัยเกษียณหรือยัง หนึ่งในเป้าหมายการเงินที่สำคัญของคนทุกคนคือ การเกษียณอย่างเป็นสุข ดังนั้นคำถามที่เราควรจะถามตัวเองคือ เรามีช่องทางในการวางแผนเกษียณแล้วหรือยัง เช่น เงินออม เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม และสิ่งที่เรามีนั้นมันเพียงพอหรือไม่ ถ้ายังไม่พอ เราค่อยมาดูแต่ละตัวเลือกที่ได้ทั้งประโยชน์กับชีวิตและวางแผนภาษีไปพร้อมกัน

การลงทุนในกองทุนรวมอย่าง RMF อาจจะเป็นตัวช่วยหนึ่งที่นำมาใช้ในการวางแผนเกษียณ ผ่านการลงทุนต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานานจนอายุครบ 55 ปีเพื่อสร้างวินัยให้กับเราอีกทางหนึ่ง

การซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อสร้างผลตอบแทนต่อเนื่องทุกเดือนเหมือนการมีบำนาญเมื่อเราเกษียณ และการสร้างรายได้ที่ปลอดภัยให้กับชีวิตเราในช่วงเวลานั้น

2. เรามีการป้องกันความเสี่ยงที่เหมาะสมหรือยัง ถามตัวเองก่อนว่า เราต้องการอะไรจากการทำประกัน และเรามีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องทำประกัน เพราะบางทีเราอาจจะไม่จำเป็นที่ต้องทำประกันเพื่อให้ได้สิทธิประหยัดภาษีเสียด้วยซ้ำ

3. เรามีการลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงบ้างไหม เช่น การลงทุนในหุ้น หรือ การลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้น ถ้าหากเราประเมินว่าตัวเราเองสามารถรับความเสี่ยงได้ดี เราอาจจะใช้วิธีการลงทุนใน LTF ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้น เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนให้มากขึ้น พร้อมกับได้รับสิทธิประหยัดภาษ๊ไปด้วย

ถ้าสังเกตให้ดี จาก 3 ข้อที่ถามมานี้ จะพูดถึงวัตถุประสงค์ก่อนการประหยัดภาษีใช่ไหม? ใช่ครับ เพราะเชื่อว่า การลงทุนที่ดีนั้น ต้องสนใจที่วัตถุประสงค์ในการลงทุน และมองผลตอบแทนที่ได้รับจากการประหยัดภาษีเป็นเรื่องรองลงมา ไม่ใช่เรามองหาแต่ การลดภาษี จนลืมไปว่าวัตถุประสงค์ของการลงทุนที่แท้จริงของเราคืออะไร และแบบนั้นคงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องในการลงทุนอย่างแน่นอน

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเราจะอยากวางแผนภาษี หรือประหยัดภาษีแค่ไหนก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึง คือ การเลือกใช้เครื่องมือในการประหยัดภาษีให้สอดคล้องกับความต้องการของเรา และที่สำคัญคือเราต้องมั่นใจด้วยว่า เราสามารถลงทุนตามวัตถุประสงค์ได้จริง เพื่อไม่ให้มีปัญหาชีวิตและปัญหาภาษีย้อนหลัง

 2569
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

ข่าวล่าสุด

DEPA สนับสนุนการซื้อซอฟต์แวร์ฝ่ายบุคคล ให้ SME มูลค่าสูงสุดถึง 10,000 บาท เราขอมอบสิทธิพิเศษนี้สำหรับธุรกิจ SMEs เมื่อซื้อโปรแกรมบริหารทรัพยากรมนุษย์ของProsoft HCM รับส่วนลดไปเลย มูลค่า 10,000 บาท
4160 ผู้เข้าชม
ก่อนจะลาหรือวางแผนท่องเที่ยว อย่าลืมเช็กวันหยุดกันนะคะ
12475 ผู้เข้าชม
วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561 คณะผู้บริหาร Prosoft Group ได้เข้าเยี่ยมชมลูกค้าในจังหวัดระยอง เพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ มาพัฒนาต่อยอดโปรแกรมสำเร็จรูปให้ตอบโจทย์และช่วยเหลือธุรกิจลูกค้ามากยิ่งขึ้น
1200 ผู้เข้าชม
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์