เลือกอย่างไรดี..เมื่อได้งานใหม่สองที่

เลือกอย่างไรดี..เมื่อได้งานใหม่สองที่

คำถาม
       
        คุณดิลกครับ เท่าที่ผมติดตามคอลัมน์ของคุณดิลกมา ส่วนใหญ่จะเป็นการเขียนมาถามที่ไม่ใช่เรื่องของตนเอง มักเป็นการถามเกี่ยวกับการจัดการภายนอกตัวเอง
       
        แต่ครั้งนี้ผมมีคำถามที่เกี่ยวกับเรื่องของตัวผมเองมาถาม คือ ผมจบปริญญาตรีและทำงานด้านไอทีมาประมาณ 5 ปีในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับด้านยานยนต์ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนไทยญี่ปุ่นมี พนักงานประมาณ 500กว่าคน ผมรู้สึกอิ่มตัวและเต็มที่กับตรงนี้ ก็เลยอยากลองขยับขยายไปหาประสบการณ์ที่อื่นดูบ้าง
       
        ตอนนี้ผมได้ข้อเสนองานมาสองที่ คือ ที่แรกเป็นบริษัทซอฟแวร์เฮาส์ซึ่งเป็นที่รู้จักในวงการไอที เป็นบริษัทร่วมทุนไทยอเมริกัน เขาให้ผมในตำแหน่งผู้ชำนาญการอาวุโส เขาให้เงินเดือนผมสูงกว่างานปัจจุบันเกือบ 40เปอร์เซ็นต์ แต่โบนัสไม่มากนัก เท่าที่ผ่านมาได้ประมาณ 1-2.5เดือน งานเป็นลักษณะเกือบทำคนเดียวในการพัฒนาซอฟแวร์ให้กับลูกค้าตามความต้องการ มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศแถบอาเซียนตามความจำเป็นของงาน กับอีกที่เป็น บริษัท อิเลกโทรนิกส์ มีญี่ปุ่นถือ 100 เปอร์เซ็นต์เพราะได้รับการส่งเสริมการลงทุน ผมได้ตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกไอที ซึ่งตำแหน่งถัดไป คือตำแหน่งรองผู้จัดการยังว่างอยู่ โดยลักษณะงานคือดูแลให้ทีมไอทีทำงานตอบสนองกับหน่วยงานภายในโดยเฉพาะฝ่าย ผลิตได้ทันเวลา เขาให้เงินเดือนผมขึ้นไป 20กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่โบนัสที่นี่ให้มาก โดยช่วงที่ผ่านมา เขาแจกโบนัสพนักงานไม่ต่ำกว่า 5เดือน
       
        ผมดูแล้วน่าสนใจทั้งสองที่ และอยากฟังความเห็นคุณดิลกว่าทางไหนน่าจะดีกว่ากัน ขอโทษด้วยที่ตั้งคำถามมาค่อนข้างยาวนะครับ  อำพล
       
คำตอบ
       
        ในฐานะคนที่เคยเปลี่ยนงานมาบ้างอย่างผม เข้าใจดีครับว่าการตัดสินใจในแต่ละครั้งไม่ง่าย แม้ว่าคนๆนั้นจะมีลักษณะนิสัยเป็นคนที่ปรับตัวเก่งแค่ไหนหรือมีทัศนคติต่อ ชีวิตเป็นบวกเพียงใดก็ตาม ก็ยังมีความหวั่นไหวทุกครั้งเวลาที่เปลี่ยนงาน และยิ่งอายุมากขึ้น ตำแหน่งสูงมากขึ้นก็ยิ่งจะตัดสินใจยากมากขึ้นตามไปด้วย การเลือกว่าจะไปทำงานไหนดี ก็คงต้องมองปัจจัยการตัดสินใจในสองด้าน คือ ปัจจัยตัวเรา กับปัจจัยขององค์กร ประกอบควบคู่กันไปเสมอ
       
        ปัจจัยตัวเรา ที่จะต้องมองก็คือ จริตของเรากับเป้าหมายในชีวิตของเรา ฟังดูเหมือนง่ายแต่จริงๆ แล้วไม่ได้ง่ายอย่างนั้น เพราะเราเองบางครั้งมองตัวเองได้ไม่ชัดนัก เช่น บางครั้งที่เราคิดว่าจริตเราเป็นคนชอบสังสรรค์พบปะผู้คน ชอบการได้แก้ไขปัญหาของคน ได้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการคน แต่เอาจริงๆพอได้อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องรับมือเรื่องคนมากๆ เรากลับรู้สึกมึนรับไม่ไหว อย่างนี้ก็เป็นได้
       
        ดังนั้น การตรวจสอบว่าจริตตัวเองเป็นอย่างไรแน่ นอกจากจะใช้ใจตัวเองมองตัวเองแล้ว ลองหาเพื่อนสนิทสักคนสองคนมาวิพากษ์วิจารณ์เรา มาให้ข้อแนะนำเราว่าเราเป็นแบบไหน ก็จะได้จริตที่ตรงกับตัวเราใกล้เคียงขึ้น ซึ่งทำให้เราได้คำตอบต่อสองงานที่เสนอเข้ามาว่าเราจะไปแนวเป็นผู้บริหารด้าน ไอทีหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไอที จากนั้นให้ถามตัวเองอีกว่าแล้วเป้าหมายชีวิตของเราระยะยาวเราอยากจะเป็นอะไร หากต้องการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไอที เป็นที่ปรึกษา หรือเตรียมเปิดบริษัทเอง การเลือกทางที่เป็นผู้ชำนาญการก็เป็นทางเลือกที่ใกล้เคียง แต่หากอยากเป็นผู้บริหารองค์กร เติบโตขึ้นไปตามลำดับ โดยในอนาคตอาจจะไม่ได้ทำงานไอทีอย่างเดียว หรืออาจจะไม่ได้ทำไอทีเลยหากมีแววอย่างอื่น ทางเลือกที่เป็นหัวหน้าแผนกก็ดูจะตอบโจทย์นี้ได้
       
        เมื่อได้คำตอบด้านที่เป็นตัวเราแล้ว ก็ลองดูปัจจัยขององค์กร ว่าธรรมชาติหรือวัฒนธรรมองค์กรที่เขาให้โอกาสเรามาเป็นอย่างไรบ้าง การหาข้อมูลตรงนี้ก็อาจจะต้องใช้ทั้งการหาข้อมูลทางอ้อมจากเว็บไซด์ เข้าไปดูเว็บของบริษัท เสิร์จในกูเกิ้ลเพื่อดูว่ามีการพูดถึงบริษัทเหล่านั้นอย่างไร หรือหาข้อมูลทางตรงจากคนที่กำลังทำงานอยู่ในองค์กรนั้นหรือเคยทำงานอยู่ใน นั้นหรือรู้จักเป็นอย่างดีกับคนที่อยู่ในนั้น โดยหาข้อมูลตั้งแต่สภาพธุรกิจ โอกาสอยู่รอดในทางธุรกิจ สไตล์ผู้บริหาร สไตล์ของคนที่จะเป็นหัวหน้าเรา บรรยากาศโดยรวมของการอยู่ร่วมกัน เพื่อนร่วมงานที่เราจะเข้าไปทำงานด้วย
       
        หากสามารถรู้ได้ว่าพนักงานเวลาเขาพูดถึงบริษัทตัวเองว่าอย่างไรได้ก็เป็นการดี โดยนำมาประกอบและไตร่ตรองให้มาก เพราะเรื่องนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะมีผลกับการทำงานของเราไม่น้อยเช่นกัน เช่น หากตัวเราตอบตัวเองว่า เป้าหมายเราอยากจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไอที ซึ่งก็จะต้องเลือกไปอยู่บริษัทสไตล์อเมริกัน หากได้ข้อมูลมาว่าที่นั่นเป็นแบบที่จะต้องใช้รูปแบบการทำงานแบบแรง ตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม ทุกคนต้องสามารถโชว์ผลงานได้โดยไม่ต้องให้คนอื่นช่วยเหลือมากนัก หากคุณอำพลคิดว่าเรารับได้ก็ไปได้เลยเพราะเข้าทางทั้งปัจจัยตัวเรากับปัจจัย องค์กร แต่ถ้าหากดูแล้ว สไตล์แบบดุเดือดอย่างนี้ทำให้เรามีโอกาสเครียดและปวดศีรษะแล้ว คงต้องตัดสินใจดีๆอีกครั้ง
       
        คุณอำพลอาจจะแปลกใจว่า ทำไมผมไม่พูดถึงปัจจัยด้านผลตอบแทน ผมมองว่าในอายุขนาดนี้ ยังมีโอกาสอีกมากในโลกการทำงาน ผมคิดว่าหากได้ทำงานในแบบที่ตัวเองชอบและใช่มากที่สุด และหากเรามีความสุขกับมัน เงินทองเป็นเรื่องตามมาทีหลัง ในมุมมองของผมแล้วเงินทองอาจจะให้ความสะดวกสบายกับเราแต่ไม่ได้ให้ความสุข กับเรานะครับ
       
        อยากเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งว่า แนวทางที่ผมให้ไว้ข้างต้นเป็นเพียงแนวทางกว้างๆ หากชีวิตส่วนตัวหรือทัศนคติส่วนตัวคุณอำพลมีปัจจัยอื่นมากกว่านี้ ผมอยากให้เขียนปัจจัยที่เราต้องคำนึงถึงออกมาลงในตาราง แล้วเปรียบเทียบสามสถานที่ทำงานคือที่อยู่ปัจจุบันกับที่ใหม่อีกสองที่ แล้วให้คะแนนเป็นตัวเลขออกมา ก็จะช่วยลดอคติในการตัดสินใจขงคุณอำพลลงไปได้ไม่น้อยทีเดียว
       
       หมายเหตุ: ผู้อ่านสามารถอ่านบทความย้อนหลังได้ที่ www.hrm-excellence.com.


 1246
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

People Management

ไม่พบรายการที่คุณค้นหา
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์