เมื่อถึงวันสัมภาษณ์งานนั้น หลายคนมักจะมองข้ามความสำคัญของการแต่งกาย เช่น ผู้ชายใส่เสื้อยับยู่ยี่ หรือผู้หญิงสวมกางเกง หรือบางคนแต่งชุดเหมือนจะไปงานราตรีไปสัมภาษณ์งาน หรือบางคนก็ใส่กระโปรงผ่าหน้า ผ่าหลังทำเอาคนสัมภาษณ์ไม่เป็นอันสัมภาษณ์ เรื่องการแต่งกายเหล่านี้จะทำให้ถูกมองว่าไม่ถูกกาลเทศะแล้วยังจะทำให้เสีย คะแนนได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นคุณควรนึกไว้ว่าคุณกำลังไปสมัครงาน กำลังที่จะก้าวเข้าสู่ของคนที่มีความรู้ และความพร้อมในการทำงาน ซึ่งการแต่งกายนั้นก็ควรที่จะให้สมกับตำแหน่งงานด้วย
1. สิ่งที่ควรนำติดตัวไปด้วย ก่อนออกจากบ้าน คุณควรเตรียมหลักฐานในการไปสมัครงานให้ครบทุกชิ้น เพราะการสมัครงานนั้นมีเอกสารมากมายซึ่งคุณควรที่จะนำใส่แฟ้มให้เรียบร้อย ได้แก่
• เอกสารประวัติย่อ หรือเรซูเม่
• ใบปริญญาบัตร หรือเอกสารรับรองจากมหาวิทยาลัย (Transcript)
• ประกาศนียบัตรวิชาชีพต่างๆ (ถ้ามี)
• รูปถ่าย
• ใบรับรองการทำงาน
• สำเนาบัตรประชาชน
• สำเนาทะเบียนบ้าน
• ใบผ่านการยกเว้นเข้าประจำการทหาร หรือใบผ่านการเกณฑ์ทหารแล้ว (สำหรับผู้ชาย)
• สำเนาจดหมายสมัครงาน
• ผลงานต่าง ๆ เช่น สถาปนิก
• ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท ที่คุณไปค้นคว้ามา
ข้อมูลที่เกี่ยวกับบริษัทนั้นมีไว้เพื่อให้คุณอ่านเป็นการเตรียมพร้อมของตัวคุณเอง สำหรับสำเนาจดหมายสมัครงานก็ควรนำไปเผื่อไว้เพื่อเตือนความจำของเขาด้วย
2. สิ่งที่ไม่ควรนำติดตัวไปด้วย ก่อนออกจากบ้าน ได้แก่
• เพื่อน
• คนรัก สามี ภรรยา
• พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่
• ลูกหลาน
ที่ไม่ควรนำติดตัวไปเพราะว่าคุณโตแล้วควรที่จะรับผิดชอบชีวิตของคุณเองได้แล้ว เพราะคุณกำลังก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่โลกของเด็ก ๆ ที่ต้องมีญาติผู้ใหญ่ไปด้วยเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของตัวเองแล้วหล่ะ
3. การตรงต่อเวลา เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดเมื่อถึงวันสัมภาษณ์เพราะหลังจากที่คุณแน่ใจว่า ไม่ลืมเอกสารใด ๆ แล้วคุณก็ควรเผื่อเวลาในการเดินทางไปด้วย หากเขานัดสัมภาษณ์ 9.00 น. ก็ควรกะให้ไปถึงก่อนเวลาอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เพราะคุณจะได้มีเวลาสำรวจการแต่งกาย หรือเสื้อผ้า หน้า ผม ได้อีกรอบ
อีกทั้งการตรงต่อเวลานั้นแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบในตัวเอง การไปไม่ตรงเวลานัด และอ้างว่ารถติด ฝนตก หาห้องไม่เจอ ฯลฯ ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ดูฟังไม่ขึ้น และทำให้ผู้สัมภาษณ์ดูคุณเป็นคนไม่รอบคอบ ไม่รักษาเวลา และไม่มีการวางแผน นอกจากเกิดเหตุสุดวิสัยจริง ๆ ก็ควรโทรไปแจ้งให้ทราบพร้อมบอกเหตุผลด้วย ไม่ใช่ให้ปล่อยให้ผู้สัมภาษณ์นั่งคอย และคิดว่าคุณจะไปตามนัด ไม่ว่าคุณจะได้งานจากเขาหรือไม่ก็ตาม หรือถ้าหาก เรามามารออยู่ที่บริษัทนานแล้ว แล้วผู้สัมภาษณ์ยังไม่มาซักทีเราก็ไม่ควรที่จะแสดงกิริยาหงุดหงิด งุ่นง่าน ผุดลุกผุดนั่ง ควรที่จะอดทน และให้ทนต่อไปด้วยความสงบ เพราะบางทีอาจจะไม่ใช่ว่าผู้สัมภาษณ์มาสาย แต่เป็นการทดสอบความอดทนของคุณก็ได้
4. พฤติกรรมในห้องสัมภาษณ์ มารยาทเริ่มแรกเลยก็คือ ก่อนคุณจะเข้าห้องสัมภาษณ์คุณควรที่จะเคาะประตูซักนิดเพื่อเป็นมารยาท และสำรวมใจเป็นครั้งสุดท้ายเดินเข้าไปด้วยความมั่นใจในตัวเอง หากภายในห้องมีผู้สัมภาษณ์หลายคน คุณควรเดินไปถึงที่โต๊ะแล้วแสดงความเคารพด้วยการไหว้ (หากผู้สัมภาษณ์เป็นคนไทย) ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เป็นประธานจะนั่งอยู่ตรงกลาง
ดังนั้น การไหว้จะเรียงลำดับไปจนครบทุกคน แต่หากผู้สัมภาษณ์เป็นคนต่างชาติก็ควรที่จะทำความเคารพด้วยการจับมือ แต่ควรรอให้เขายืนมือมาก่อนจะดีกว่ายื่นมือไปแล้วให้เขามาจับ แต่บางบริษัทที่มีทั้งคนไทยและต่างชาติก็ควรที่จะทำการไหว้ให้หมดทุกคนจะดีกว่า เมื่อทำความเคารพแล้วต้องรอให้ผู้สัมภาษณ์เชิญเรานั่ง แต่ถ้าหากเขาลืมเราก็ขออนุญาตนั่งก็ได้ เมื่อนั่งแล้วก็ควรสำรวมทั้งกาย และวาจา อย่านั่งไขว่ห้าง กระดิกขา ตัวลีบ ตัวงอ หรือนั่งเกร็ง ควรที่จะทำตัวให้ผ่อนคลาย พูดจาไพเราะ มีหางเสียง ยิ้มแย้มแจ่มใส อย่าเคี้ยวหมากฝรั่งหรือถ้าเป็นคนสูบบุหรี่ ก็ควรที่จะสูบก่อนเข้าสัมภาษณ์ซักครึ่งชั่วโมง อย่าสอดแทรกในขณะที่ผู้สัมภาษณ์กำลังพูด ใช้หลักผู้ฟังที่ดีโดยให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าเราตั้งใจฟังในสิ่งที่เขาพูดจริงๆ
สรุปคือ ในวันสัมภาษณ์ควรที่จะเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมเอกสารทุกชนิดให้พร้อม และจงมีความเชื่อมั่นในตนเองว่า เราก็ไม่ได้น้อยหน้าใคร และระลึกไว้ว่า “ไม่มีใครดูถูกเราได้ นอกจากเราดูถูกตัวเอง”