วัฒนธรรมองค์กร ไม่ควรเอาไปบังคับใช้กับ(คนนอก)

วัฒนธรรมองค์กร ไม่ควรเอาไปบังคับใช้กับ(คนนอก)


     วัฒนธรรมองค์กรของเรา ไม่ควรเอาไปบังคับใช้กับ(คนนอก)เขา ผมเคยไปบรรยายที่โรงงานแห่งหนึ่งที่นี่เขามีวัฒนธรรมองค์กรที่ดีอยู่อย่างหนึ่งคือ พนักงานทุกคนทุกระดับ จนถึงผู้บริหารระดับสูงไม่ว่าเป็นคนไทยหรือต่างชาติ จะต้องเดินถือถาดอาหารเพื่อนำคูปองไปแลกอาหารและหาที่นั่งกันเอาเองทุกคน เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนทำงานที่นี่มีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกันไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ ไม่มีสิทธิพิเศษ วันที่ผมไปบรรยายเจ้าหน้าที่ของบริษัทเขาก็แนะนำผมดีมากว่าต้องทำอะไรบ้าง พาเดินไปรับอาหารตามจุดต่างๆ และพาไปเดินหาที่นั่งให้  เหตุการณ์นี้ก็ผ่านไปด้วยดี ผมก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เพียงแค่จำได้แม่นว่าตั้งแต่ ทำอาชีพนี้มายังไม่เคยมีประสบการณ์ในการเดินถือถาดอาหารเหมือนสมัยเรียนชั้นอนุบาลมาก่อนเท่านั้นเอง ถ้าไม่คิดอะไรมากก็ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ในชีวิตของอาชีพวิทยากร

     แต่วันหนึ่งผมได้มีโอกาสเจอวิทยากรท่านหนึ่ง ซึ่งเคยไปบรรยายให้ที่โรงงานนี้เหมือนกัน ท่านบอกผมว่า “ผมไม่ยอม” ถ้าไม่มีการจัดเตรียมอาหารและโต๊ะไว้ให้วิทยากร ท่านจะไม่ลงไปทานข้าวกลางวัน พร้อมกับ อธิบายเหตุผลว่าไม่ใช่ต้องการเกียรติหรือสิทธิพิเศษอะไร แต่ต้องการสื่อให้คนคนในองค์กรนั้นเห็นว่าวัฒนธรรม ของโรงงานไม่ควรไปบังคับใช้กับบุคคลภายนอก หลังจากได้สนทนากับวิทยากรท่านนี้แล้ว ผมก็นึกย้อนไปถึง เหตุการณ์นี้ และถามว่าลึกๆแล้วผมก็รู้สึกเหมือนกันว่าเขาไม่ให้เกียรติเรา แต่ตอนที่อยู่ในโรงงานวันนั้น ผมก็ไม่ได้แสดงออกอะไรเพราะไม่อยากจะไปทำอะไรที่ทำให้พนักงานที่ดูแลเราเขาลำบากใจหรือโดนผู้บริหารตำหนิ
 
     หลังจากพูดคุยกับวิทยากรท่านนั้นแล้ว ผมก็กลับมานั่งทบทวนและพบว่า “เออจริงนะ” ถึงแม้ว่าองค์กรนั้นๆ จะมีวัฒนธรรมอะไรที่ดีในสายตาของเขาและในสายตาของบุคคลภายนอก แต่ไม่ควรนำมาบังคับใช้กับคนภายนอก เพราะอาจจะทำให้คนภายนอกบางคนรู้สึกไม่ดีกับวัฒนธรรมองค์กรนั้นๆก็ได้ จึงได้เขียนบทความนี้ ขึ้นมาเพื่อเป็นข้อมูลสะท้อนกลับไปยังองค์กรต่างๆที่กำลังจะเดินข้ามเส้นแบ่งระหว่าง “กฎระเบียบข้อบังคับ” กับ “วัฒนธรรมองค์กร” มิฉะนั้นแทนที่วัฒนธรรมองค์กรจะกลายเป็นผลดีต่อการสร้างภาพลักษณ์ กลับกลายเป็นภาพอัปลักษณ์ในสายตาของคนนอกนะครับ
 
     นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยไม่ว่าจะมาจากชาติไหน แน่นอนว่าทุกคนต้องปฏิบัติตาม กฎหมายของเรา จะชอบหรือไม่ชอบก็ต้องปฏิบัติตาม ฝ่าฝืนเมื่อไหร่ถูกลงโทษโดยไม่มีข้อยกเว้น เหมือนกับการที่บุคคลภายนอกเข้าไปในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ไม่ว่าคนๆนั้นจะเป็นใครก็ต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบขององค์กร เช่น ต้องแลกบัตร ต้องจอดรถในสถานที่ที่กำหนด ต้องเดินในเส้นทางที่กำหนด ฯลฯ
 
     แต่ถ้าประเทศไทยจะไปบังคับให้นักท่องเที่ยวทุกคนต้องยกมือไหว้และพูดคำว่าสวัสดีกับทุกคน
เหมือนคนไทยนั้น คงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะการยกมือไหว้และพูดคำว่าสวัสดีนั้นเป็นเพียงวัฒนธรรม ไทยที่ดีไม่ใช่กฎหมาย การที่ชาวต่างชาติได้เห็น ได้ยินแล้ว รู้สึกดี แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอต่อการสะท้อนวัฒนธรรม แต่ไม่ควรไปบังคับให้เขาทำเหมือนเรา หากนักท่องเที่ยวคนไหนอยากจะทำเราก็ไม่ได้ห้าม เช่นเดียวกับวัฒนธรรม องค์กรที่ดีขององค์กรต่างๆ ไม่ควรก้าวล้ำไปยังสิทธิส่วนบุคคลของบุคคลภายนอก เพราะวัฒนธรรมองค์กรไม่ใช่

     กฎระเบียบข้อบังคับ  แต่ถ้าบุคคลภายนอกอยากจะทำ อยากสัมผัส อยากลองก็ไม่เป็นไร

      การนำเอาวัฒนธรรมองค์กรไปบังคับใช้กับบุคคลภายนอกเหมือนกฎระเบียบ อาจจะเข้าข่าย “ได้ไม่คุ้มเสีย” เพราะแทนที่บุคคลภายนอกจะกลับไปพร้อมกับคำพูดชื่นชมวัฒนธรรมองค์กรของเราเขากลับไปพร้อมกับ ความรู้สึกที่ไม่พอใจและนำเอาวัฒนธรรมองค์กรของเราไปขยายผลในเชิงลบก็ได้
 

   ดังนั้น ผมในฐานะบุคคลภายนอกคนหนึ่งที่มีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสกับวัฒนธรรมองค์กรหลายแห่งจึงอยาก จะฝากข้อคิดให้กับองค์กรต่างๆ ดังนี้
 
    อะไรคือกฎระเบียบอะไรคือวัฒนธรรมองค์กร
 
    กำหนดให้ชัดเจนว่าอะไรคือกฎระเบียบที่คนนอกต้องปฏิบัติตาม อะไรเป็นเพียงวัฒนธรรมองค์กร
 
    ทุกคนเข้าใจตรงกัน
 
     ควรสื่อสารให้พนักงานทุกระดับได้รับรู้ เข้าใจและปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง เพราะบางครั้งผู้บริหารไม่ ต้องการให้วัฒนธรรมองค์กรไปครอบงำบุคคลภายนอก แต่พนักงานไม่รู้และคิดเอาเองว่าทุกคนต้องทำเหมือน ๆ กันเพราะเจ้านายสูงสุดของเขาซึ่งมีตำแหน่งสูงกว่าบุคคลภายนอกยังทำเลย แล้วบุคคลก็ต้องทำ เช่นกัน
 
    วัฒนธรรมมีไว้โชว์ไม่ใช่บังคับใช้กับคนนอก

     ควรจะขายวัฒนธรรมองค์กรที่ดีกับบุคคลภายนอกว่าองค์กรเรามีวัฒนธรรมองค์กรอะไรบ้างหากบุคคลภายนอกสนใจอยากลอง อยากสัมผัส อยากทำพนักงานก็ควรจะแนะนำให้คำปรึกษาพร้อมๆกับให้เหตุผลประกอบว่าเรา ทำไปทำไมทำแล้วได้อะไร ดีต่อองค์กรอย่างไร เพราะให้บุคคลภายนอกนำเอา ประสบการณ์ที่ได้ไปขยาย ผลต่อในการสร้างภาพลักษณ์เกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรของเรา

    ต้นไม้วัฒนธรรมองค์กรต้องมีการตัดใบและแต่งกิ่ง

     วัฒนธรรมองค์กรเปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้ที่จำเป็นต้องมีการตัดแต่งกิ่งให้สวยงาม เติบโตไปในรูปทรงที่ เราต้องการ ดังนั้น องค์กรควรจะมีระบบในการทบทวนวัฒนธรรมองค์กรอย่างต่อเนื่อง เช่นทบทวนทุกปี เพื่อ ประเมินว่าวัฒนธรรมองค์กรที่สร้างขึ้นมามีอะไรผิดเพี้ยนไปจากที่ตั้งใจไว้หรือไม่ มีอะไรที่ทำมากเกินไป น้อยเกินไปหรือไม่ มีอะไรที่ทำแล้วมีผลกระทบในเชิงลบบ้าง อาจจะใช้การสำรวจจากบุคคลภายนอก สำรวจจากพนักงานภายใน และให้ทุกคนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น
 
    สรุป วัฒนธรรมองค์กรคือกระจกสะท้อนภาพองค์กรให้บุคคลภายนอกรับรู้ว่าองค์กรของเรามีสิ่งดีๆ ที่มีคุณค่ามากกว่าสิ่งที่เขาได้ยินและมากกว่าที่เขาเห็น แต่เขาสามารถรู้สึกได้ว่าวัฒนธรรมองค์กรของเราเป็นสิ่งที่ดีน่ายกย่องชื่นชม รู้สึกประทับใจจนไม่อยากเก็บไว้ในใจเพียงคนเดียว อยากจะไปบอกไปเล่าต่อให้กับคนอื่นๆ ฟังอย่างไม่มีวันหมด บุคคลภายนอกที่ได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสวัฒนธรรมองค์กรของเราก็เปรียบเสมือนคนที่ได้ไปดูคอนเสิร์ตสดๆหน้าเวทีที่อยากจะกลับมาเล่าให้คนอื่นฟัง และเวลาเล่าให้ฟังคนเล่าจะแสดงสีหน้าท่าทางและความรู้สึกได้ดีมากกว่าคนที่ดูคอนเสิร์ตผ่านหน้าจอทีวีอยู่ที่บ้าน สุดท้ายนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าวัฒนธรรมองค์กรที่ดีที่อุตส่าห์สร้างขึ้นมา คงไม่ถูกทำลายด้วยการนำเอาวัฒนธรรมองค์กรของเราไปบังคับใช้กับคนนอกเขานะครับ
 
 

ขอบคุณที่มา :: www.hrcenter.co.th

 

 2066
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

People Management

ไม่พบรายการที่คุณค้นหา
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์