การเทน้ำใส่แก้ว (ข้อคิดเรื่องการถ่ายทอดความรู้)

การเทน้ำใส่แก้ว (ข้อคิดเรื่องการถ่ายทอดความรู้)


    ถ้าเราเทน้ำจากแก้วใบแรกใส่ แก้วใบที่สอง เทน้ำจากแก้วใบที่สองไปยังแก้วใบที่สาม และทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงแก้วใบที่สิบ จะเห็นว่าน้ำในแก้วใบสุดท้ายจะไม่เต็มเท่ากับตอนอยู่ในแก้วใบแรก เช่นเดียวกับการถ่ายทอดความรู้จากคนที่หนึ่งไปยังคนที่สอง จากคนที่สองไปคนที่สาม สืบทอดต่อกันไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า ผู้ได้รับการถ่ายทอดความรู้ในรุ่นหลังๆ ย่อมจะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเดียวกันนั้นน้อยกว่าคนรุ่นแรกๆ ซึ่งอาจจะเกิดจากหลายๆ ปัจจัย เช่น ความล้าสมัยของเนื้อหาความรู้นั้น คุณสมบัติในการถ่ายทอดของผู้ให้ หรือคุณสมบัติในการดูดซับของผู้รับ ฯลฯ เป็นต้น 


     เมื่อวันก่อนได้มีโอกาสได้นั่งคุยกับหัวหน้า ตอนแรกก็คุยกันเรื่องธรรมดาทั่วๆ ไป แต่ไปๆ มาๆกลับมีประเด็นที่แลกเปลี่ยนกัน เริ่มจากการที่เราถามเขาถึงสโลแกนบริษัทฯ (Deliver Technology Through HR) ว่าหมายความว่าอย่างไร? คืออ่านแล้วมันก็เข้าใจในระดับหนึ่งนะ แต่อยากรู้ว่าจะพูดเป็นภาษาไทยว่าอย่างไรดี

     แต่พอถามไป แทนที่จะได้คำตอบตรงๆ หัวหน้ากลับย้อนถามมาประมาณว่า Deliver หมายความว่าอะไร? Technology หมายความว่าอะไร? และ Through HR หมายความว่าอะไร? ด้วยความที่ไม่อยากแสดงให้หัวหน้าเห็นว่า เราก็ไม่ค่อยเข้าใจความหมายของคำศัพท์แต่ละคำสักเท่าไหร่หรอก ก็เลยบอกกับหัวหน้าว่า หัวหน้าไม่ต้องถามกลับได้มั๊ย ตอบๆ มาจะได้จบ รอฟังเฉลยอย่างเดียว

     พูดแค่นี้ก็เลยเป็นเรื่อง หัวหน้าบอกว่าทำไมไม่ลองคิด หรือลองวิเคราะห์ความหมายของคำก่อน เพื่อที่จะเข้าใจได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่รู้เพราะคำเฉลย ประเด็นสนทนาก็เลยเริ่มขึ้น คราวนี้ได้ฟังเรื่องราวอะไรก็ไม่รู้เยอะแยะมากมาย ตอนนั้นก็คิดอยู่ในใจว่า ถ้าฟังสิ่งที่พูดมาทั้งหมดแล้วจะได้คำตอบเกี่ยวกับสโลแกนบริษัทหรือเปล่า สุดท้ายมันก็ได้นะแต่หัวหน้าไม่บอกตรงๆ พยายามพูดเพื่อให้เราได้คิดตาม เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงที่มาอย่างแท้จริง

     หัวหน้าบอกว่า การที่คนเรารู้คำตอบ แต่ไม่ทำความเข้าใจว่าทำไมต้องตอบเช่นนั้น ไม่มีประโยชน์ เพราะเราจะทราบเพียงแค่ที่คนอื่นเขาบอกเท่านั้น จริงๆ แล้วความหมายหรือคำตอบมันอาจจะมีมากมายหลายอย่าง ให้ลองคิดวิเคราะห์ดูก่อน ถ้ายังไม่เข้าใจค่อยมาถามเพิ่มเติม ไม่ใช่คอยรอเฉลยอย่างเดียว พูดง่ายๆ ก็แค่ต้องการให้เราฝึกการคิดวิเคราะห์ให้เป็นนั่นเอง

     สิ่งที่หัวหน้าสอนเราในวันนั้น เขาแค่ตั้งคำถามง่ายๆ ให้เราตอบ หัวหน้าถามว่า มีน้ำเต็มแก้วอยู่ 1 ใบ ถ้าเทน้ำจากแก้วใบนั้นใส่แก้วเปล่าใบที่ 2 แล้วก็เทน้ำจากแก้วใบที่ 2 ใส่แก้วเปล่าใบที่ 3 ปริมาณน้ำในแก้วใบที่ 3 จะยังคงมีอยู่เท่าเดิมเช่นตอนที่อยู่ในแก้วใบแรกหรือเปล่า?

     ด้วยความที่เข้าใจว่า ถ้าเราไม่ได้เทหก แล้วก็ไม่ได้ตั้งไว้นานจนมันระเหยหายไป ก็เลยตอบเขาไปว่า “ยังมีน้ำเท่าเดิมแต่หัวหน้าถามกลับมาว่า "มันจะยังเท่าเดิมได้ไง เพราะเห็นว่ายังมีน้ำที่ติดอยู่ข้างแก้วใบแรกและใบที่สองด้วย" เชื่อไหมค่ะว่า เราไม่ได้คิดถึงตรงนี้มาก่อนเลย มันทำให้เราย้อนกลับไปมองว่าสิ่งเล็กๆ ที่เรามองข้ามไปนั้น จริงๆ แล้วถ้ามันรวมๆ กันก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ได้เหมือนกัน แค่เพียงแต่เราคิดหรือพูดถึงแก้วแค่ไม่กี่ใบคงยังนึกภาพไม่ออก แต่ถ้าลองใช้แก้วซัก 10 ใบสิ รับรองได้เห็นความจริงตามที่หัวหน้าพูดแน่ๆ


     ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ สิ่งที่หัวหน้าต้องการจะบอกเราแค่ว่า การ อยากได้ความรู้หรือต้องการจะรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะถามอย่างเดียวโดยไม่คิดหรือไม่ค้นคว้าเพิ่มเติมมันไม่ได้ มิฉะนั้นความรู้ที่ได้รับจะไม่เต็มที่ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า คำตอบที่ใครเขาบอกเรามา หรือแม้แต่ครูอาจารย์บอกนั้น มันมีอยู่แค่นั้นจริงๆ หรือมันถูกต้องแล้วจริงๆ เราควรต้องคิดวิเคราะห์และแสวงหาความรู้เพิ่มเติมด้วย(แหม แค่จะบอกว่าให้คิดก่อนอย่าถามอย่างเดียว ก็แค่นั้นเอง พูดซะตั้งยาว)

     ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดต่อๆ กันมา ถ้าไม่ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ก็คงเหมือนกับน้ำที่รินถ่ายเทกันมาเรื่อยๆ จนถึงแก้วใบสุดท้าย ถ้าไม่มีน้ำจากที่อื่นมาเติมลงไปบ้างเลยนั้น น้ำในแก้วหลังๆ ก็จะค่อยๆ พร่องหายลงไปทุกที ซึ่งอาจจะเทหกไปบ้าง หรือติดอยู่ที่ข้างแก้วใบแรกๆ บ้าง วิชาความรู้ต่างๆ ก็เช่นกัน อาจจะถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วยกาลเวลา ความรู้ความเข้าใจเดิมๆ อาจจะไม่เพียงพอสำหรับสังคมวันนี้ ซึ่งในเรื่องเดียวกันนั้น อาจจะมีคำตอบอีกมากมายให้ค้นคว้าและทำให้กระจ่างมากขึ้น คนที่เป็น ครูบาอาจารย์ถ้าไม่หาความรู้เพิ่มเติมให้ทันกับยุคสมัย ก็อาจไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้ลูกศิษย์ เพื่อให้นำไปใช้จริงๆ ในสภาพสังคมปัจจุบันได้

     นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้องค์ความรู้หล่นหายไประหว่างทางได้ เช่น คุณสมบัติของคนที่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความรู้ มีความสามารถในการถ่ายทอดมากน้อยเพียงใด อธิบายแล้วคนฟังเข้าใจหรือไม่ บอกหมดครบถ้วนทุกกระบวนความหรือไม่ ฯลฯ

     ในส่วนของผู้รับก็เช่นกัน ความพร้อมในการรับรู้ หรือการทำความเข้าใจในองค์ความรู้นั้น มีมากน้อยเพียงใด เรียนรู้มาแล้วพอใจในความรู้เพียงเท่านั้นหรือว่าไปขวนขวายค้นหาเพิ่มเติม อีก ฯลฯ รวมไปถึงสื่อที่ใช้ในการเรียนการสอน และสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ด้วย เหล่านี้ล้วนมีผลต่อการเพิ่มขึ้นหรือค่อยๆ พร่องหายไปขององค์ความรู้ในกระบวนการถ่ายทอดด้วยกันทั้งสิ้น

     หัวหน้าเสริมว่า เวลาที่พี่ไปสอนนักศึกษา (หัวหน้าเป็นอาจารย์พิเศษสอนในมหาวิทยาลัย) บาง เรื่องที่สอนหรือต้องให้คำจำกัดความนั้น พี่จะย้ำให้นักศึกษาไปค้นคว้าเพิ่มเติมเสมอ เพราะเรื่องเดียวกันนี้ ผู้รู้ท่านอื่นๆ อาจจะให้ความหมายหรือคำจำกัดความแตกต่างกันไป ดังนั้น พี่จะไม่ให้นักศึกษามายึดแต่สิ่งที่พี่บอกเพียงอย่างเดียว เวลาทำข้อสอบก็เหมือนกัน ใครตอบมาได้แค่ที่พี่บอกทุกตัวอักษร พวกนี้พี่ไม่ให้คะแนนเต็มหรอก ถือว่ายังไม่เข้าใจจริงๆ โห โหดไปรึเปล่าเนี่ย น้องๆ เขาคงตั้งหน้าตั้งตาท่องจำกันสามวันสามคืน แต่หัวหน้าไม่ให้คะแนนเต็ม

     หัวหน้าสรุปให้ฟังว่า ในการทำงานก็เช่นกัน ถ้าเราเพียงแต่หาคำตอบรอไว้ เพราะเดาว่าลูกค้าจะถามคำถามแบบนี้แบบนั้น โดยไม่ทำความเข้าใจกับเรื่องนั้นๆ ก่อน ถ้าหากลูกค้าถามในเรื่องที่เราไม่ได้เตรียมคำตอบไว้ และเราก็ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องที่สนทนานั้น เราจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ลูกค้าคงไม่แฮปปี้แน่ๆ ถ้าคำถามส่วนใหญ่ที่ถามมาและได้คำตอบจากเราว่า เดี๋ยวขอไปถามหัวหน้าก่อนค่ะ ดังนั้น คำถามหนึ่งๆ อาจจะมีหลายคำตอบได้ ขึ้นอยู่กับว่ามองกันในมุมไหน เพราะฉะนั้น จึงต้องทำความเข้าใจกับเนื้อหาให้มากกว่าการเตรียมแค่ว่า คำตอบคืออะไร


ที่มา : http://www.e-hrit.com

 7169
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

People Management

ไม่พบรายการที่คุณค้นหา
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์