ทำงานให้ถูกใจนาย

ทำงานให้ถูกใจนาย


     ตราบใดที่คุณยังเสนอขึ้นเงินเดือนตัวเองไม่ได้ คุณก็คงต้องทำงานให้เข้าตา และถูกใจนายไม่ใช่หรือ อย่าลืมเสียล่ะ ว่านายจ้างเรามา “ ช่วยทำงานของเขา” นะ นับว่าเป็นโชคของคุณที่นายทำงานที่คุณทำไม่ไหว ถึงขั้นต้องมีคุณ ไม่งั้นคุณคงอดได้งานแล้วล่ะ


     ก่อนอื่น คุณต้องทำใจก่อนนะคะ ว่านายคุณเป็นคนธรรมดา จึงไม่ได้ทำถูก หรือคิดถูกทุกเวลา และเป็นหน้าที่ของคุณด้วยที่จะพยายามยอมรับ หรือแก้ไขข้อผิดพลาดนั้น เช่น นายอาจสั่งงานไม่ครบ คุณก็มีหน้าที่ถาม นายเขียนผิด คุณก็มีหน้าที่เขียนให้ถูก เพราะนายอยากให้คุณเป็น “ ผู้ช่วย” ดังนั้นคุณควรเป็นเสมือน “ สมองส่วนเพิ่ม” หรือ “ มือข้างที่สาม” ของเขา ซึ่งจะต้องทำงานให้สัมพันธ์กับร่างกาย คือนายให้จงได้ค่ะ

     เพื่อความสำเร็จในการทำงานกับนาย ซึ่งหมายถึง ความสบายใจในการทำงาน และความก้าวหน้าของตัวคุณเอง คุณอาจเริ่มจากสิ่งเหล่านี้ค่ะ

     เรียนรู้นิสัยส่วนตัวของนายคุณ นายคุณเป็นอย่างไร ใจร้อน ใจเย็น ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เรื่องนี้ไม่ได้เรียนรู้เพื่อชเลียร์ แต่เรียนรู้เพื่อเราจะได้ไม่ทำอะไรให้ไม่ถูกใจบ่อย ๆ ต่างหาก คุณอาจต้องทิ้งความเป็นตัวของคุณเองเสียเล็กน้อย หรือปรับนิสัยบางอย่างบ้าง เช่น หากนายเป็นคนใจร้อน คุณอาจต้องปรับตัวให้พูดเร็วขึ้น หรือหากนายเป็นคนใจเย็น คุณอาจต้องค่อย ๆ พูด ค่อย ๆ แสดงความเห็น เป็นต้น


     เรียนรู้นิสัยการทำงานของนายคุณ ว่าเป็นคนทำงานเร็ว ทำงานช้า ทำงานวินาทีสุดท้าย หรือทำงานเสร็จก่อนกำหนด ชอบให้แสดงความคิดเห็น หรือชอบให้ทำตามสั่ง ชอบแก้ไขงาน หรือเชื่อมือลูกน้อง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ คุณมีหน้าที่ศึกษา ศึกษา และศึกษา รวมถึงปรับวิธีการทำงานให้เข้ากับสไตล์ของนายคุณ เช่น หากนายคุณเป็นคนชอบทำงานวินาทีสุดท้าย และชอบให้ทำตามสั่ง คุณก็ต้องปรับตัวให้เป็นคนรับคำสั่งเร็ว ทำงานเร็ว และทวนคำสั่งทันทีที่ได้รับการสั่งงานเสร็จ เป็นต้น

     ศึกษาความต้องการของนายที่มีต่องานแต่ละชิ้นให้แน่ใจ เช่น งานชิ้นนี้ นายต้องการให้ติดต่อเพื่อสอบถามราคาเท่านั้น ก็ยังไม่ต้องไปต่อรองราคา หรืองานชิ้นนี้ นายต้องนำเข้าเสนอที่ประชุมพรุ่งนี้ ก็อย่าลืมเผื่อเวลาให้นายตรวจสอบ แก้ไข และซ้อมก่อนเข้าประชุมด้วย

     รายงานความก้าวหน้าของงานอยู่เสมอ โดยไม่ต้องรอให้ถาม นายอาจกำหนดเส้นตายของงานเอาไว้ แต่คุณก็ควรรายงานความก้าวหน้าของงานให้ทราบเสมอ ว่าตอนนี้ทำอะไรไปถึงไหนแล้ว และจะทำอะไรต่อไป สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณทำงานอย่างสบายใจ เพราะนายจะไม่มายุ่มย่ามตามถามงานคุณ ด้วยเกรงว่าจะเสร็จไม่ทันกำหนด และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ งานเสร็จแล้ว ก็รายงานเสียหน่อยว่าเสร็จแล้ว ผลเป็นอย่างไรบ้าง อย่าถือว่า เสร็จแล้วก็แล้วกัน ไม่จำเป็นต้องบอกก็ได้ อย่าลืมนะคะว่านายคุณไม่รู้ด้วยว่างานนั้นเสร็จแล้ว เขาจะยังถือว่างานนี้อยู่ในความรับผิดชอบอยู่ แล้ววันใดวันหนึ่งก็อาจมาถามคุณก็ได้ว่าเสร็จหรือยังดังนั้น ทำงานเชิงรุกไว้ก่อนดีกว่าค่ะ บอกก่อน โดยไม่ต้องรอถามจะดีกว่าค่ะ

     ตรวจสอบงานให้ดีก่อนส่ง คุณจะทำให้นายคุณไว้วางใจได้มากขึ้นทุกวัน หากงานที่คุณส่งไปไม่มีจุดบกพร่องที่เกิดจากความผิดพลาดของคนทำงาน เช่น พิมพ์ผิด เอกสารไม่ครบ เป็นต้น คุณลองคิดดูนะคะว่า หากในทางกลับกัน งานที่คุณส่งเข้าไปทุกครั้งมีพิมพ์ผิดหลายแห่ง รายละเอียดที่แนบก็ไม่ครบ นายคุณจะรู้สึกอย่างไร และจะทำอย่างไรกับคุณ

     จดและทวนคำสั่งทุกครั้งที่เข้าไปรับงาน เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการสื่อสาร ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการสื่อสารนั้น ยากนักที่นายคุณจะยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของเขา ดังนั้น คุณต้องพยายามป้องกันความผิดพลาดนี้เสียก่อน ด้วยการจด และทวน อีกทั้งถามเมื่อไม่แน่ใจว่าทำถูกต้องหรือเปล่า อย่าด้นดั้นทำไปทั้งที่ไม่แน่ใจนะคะ งานมีโอกาสเสียมากกว่าได้ค่ะ

     ยึดคำสั่งแน่น อย่าพยายามทำนอกเหนือจากคำสั่งนาย เช่น นายขอให้พิมพ์จดหมายนี้ด้วย word ก็ได้โปรดอย่าพิมพ์ใน excel แม้ว่าเอกสารนั้นจะเป็นตารางก็ตาม ใครจะรู้ล่ะ ว่านายอาจต้องการแก้ไขเองภายหลัง และนายใช้ excel ไม่เป็น เรื่องแบบนี้ก็เป็นไปได้ใช่ไหมคะ หากคุณคิดว่าสิ่งที่คุณทำน่าจะดีกว่า ก่อนจะลงมือทำ ก็เอ่ยปากถามนายเสียนิดหนึ่งก่อนทำนะคะ ว่าทำอย่างนี้จะดีไหม วิธีนี้จะช่วยให้คุณทำงานได้ง่าย และไม่ต้องทำซ้ำซ้อนกับคนอื่นด้วยค่ะ

     เห็นไหมคะ ว่าการทำงานกับนายไม่ยากค่ะ คิดง่าย ๆ เสียว่า “ เรามาทำงานของเขา” ก็ต้องทำให้ได้อย่างที่เขาทำเอง (หรือหากจะทำได้ดีกว่า ก็ยิ่งแจ๋ว) เพียงแค่นี้คุณก็จะทำงานกับนายคุณได้ง่ายขึ้น ลองนำเทคนิคนี้ไปใช้ดูสิคะ


ที่มา : http://www.hrcenter.co.th/

 1005
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

People Management

ไม่พบรายการที่คุณค้นหา
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์