แนะปรับตัวรับ "สังคมหลังฐาน

แนะปรับตัวรับ "สังคมหลังฐาน


ผ่าเทรนด์ใหม่โลกธุรกิจ แนะปรับตัวรับ 'สังคมหลังฐานความรู้'

     ด้วยเหตุผลของการเปลี่ยนผ่านของโลกในอดีตถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ยุคสังคมเกษตร ยุคสังคมอุตสาหกรรม จนกระทั่งถึงยุคสังคมฐานความรู้ และกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสังคมหลังฐานความรู้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างอุตสาหกรรม วัฒนธรรมองค์กรตลอดจนโมเดลทางธุรกิจและจะดำเนินธุรกิจบนความเปลี่ยนแปลงที่ ว่าได้อย่างไร ?

     "ยุคนี้ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่เกิดแค่คนจนกับคนรวย แต่เป็นความเหลื่อมล้ำของคนที่รู้กับไม่รู้ แล้วคนรู้เอาเปรียบคนไม่รู้ได้ เช่นข้อมูลวงใน ต่อไปช่องว่างจะมากขึ้นมหาศาลระหว่างคนจนคนรวย คนรู้คนไม่รู้ คนที่ได้โอกาสกับคนที่ด้อยโอกาส" ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาเครือข่ายองค์ความรู้ด้านการจัดการทุนมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้ข้อมูล

     สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน โลกกำลังเดินเข้าสู่ "สังคมหลังฐานความรู้" ซึ่งเป็นยุคที่คนจะเชื่อม โยงกันอย่างกว้างขวาง พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นยุคที่การแข่งขันมันต้องมีการร่วมไม้ร่วมมือ ร่วมแข่งร่วมค้า มีความร่วมมือทางสังคม และเป็นยุคที่เรียกร้องทุนนิยมที่ยั่งยืนมากที่สุด ฉะนั้น การปรับเปลี่ยนแนวคิดทางธุรกิจที่เกิดขึ้นสามารถจำแนกการเปลี่ยนแปลงออกเป็น 5 มิติ คือ

     มิติแรก คือการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ จุดเน้นและยุทธศาสตร์หลัก ซึ่งในยุค "สังคมฐานความรู้" พลวัตทางธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อุปสงค์มีน้อยกว่าอุปทาน ขณะที่ผู้บริโภคมีความละเมียดในความต้องการที่มากขึ้น "ความใหญ่" จึงไม่ใช่คำตอบของธุรกิจ ยุทธศาสตร์หลักจึงเปลี่ยนเป็น Mass Customization กระบวนทัศน์เปลี่ยนจาก "ผลิตและขาย" เป็น "การรับรู้และตอบสนอง" เน้นใน Market Governance ซึ่งประกอบไปด้วย การสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า พัฒนาจุดแข็งเพื่อให้ได้เปรียบในการแข่งขัน มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากการสร้างเครือข่ายเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน

     เมื่อโลกเข้าสู่ "หลังสังคมฐานความรู้" พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนจาก "ผู้บริโภค" เป็น "ผู้ร่วมสร้าง" ยุทธศาสตร์หลักจึงเปลี่ยนสู่ Mass Collaboration ที่ผู้บริโภคเชื่อมต่อกันเองและทำกิจกรรมร่วมกันได้ในลักษณะเครือข่าย กระบวนทัศน์มีการปรับเปลี่ยนสู่ "การใส่ใจและแบ่งปัน" จุดเน้นเปลี่ยนไปสู่รูปแบบของ People Governance

     มิติที่สอง คือการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการแลกเปลี่ยนและพลังขับเคลื่อน ซึ่งใน "สังคมฐานความรู้" องค์ความรู้ในตัวสินค้าและบริการของผู้บริโภคเริ่มสูงขึ้น เกิดการไหลเวียนของข้อมูลอย่างเสรี ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือมีต้นทุน ที่ต่ำ ทำให้ในบางครั้งผู้บริโภคอาจมีข้อมูลมากกว่าผู้ผลิตเสียอีก ดังนั้น รูปแบบการแลกเปลี่ยนในยุคนี้จึงเป็นลักษณะผสมผสานระหว่างการแลกเปลี่ยน ข้อมูลกับการทำธุรกรรมการค้า

     ส่วนในยุค "หลังสังคมฐานความรู้" นอกจากเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการทำธุรกรรมแล้ว ผู้คนยังปรับเปลี่ยนโดยหันมาสร้างความสัมพันธ์มากขึ้น ร่วมกันสร้างนวัตกรรมแบบเปิดระหว่างผู้บริโภคด้วยกันเอง หรือระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิต ทั้งในกิจกรรมเชิงพาณิชย์และกิจกรรมทางสังคม เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในกระบวนการแลกเปลี่ยนของผู้คนใน สังคมยุคนี้


       มิติที่สาม คือการเปลี่ยนแปลงแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ และปัจจัยสู่ความสำเร็จ ซึ่งเมื่อสังคมเปลี่ยนมาสู่ "สังคมฐานความรู้" โลกของไซเบอร์เริ่มมีบทบาทมากขึ้น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านการเชื่อมต่อในเครือข่าย จึงเป็นปัจจัยที่ชี้เป็นชี้ตายต่อการดำเนินธุรกิจ ยิ่งเครือข่ายมาก ยิ่งมีการปฏิสัมพันธ์มาก คุณค่าในเครือข่ายก็ยิ่งมากขึ้น เพราะเกิด Network Externality อย่าง Google หรือ Amazon

     ส่วนในโลกของ "หลังสังคมฐานความรู้" ซึ่งยังเป็นโลกของไซเบอร์แต่กลับมีเรื่องของจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้องคล้ายกับ "สังคมเกษตรกรรม" เศรษฐศาสตร์ของโลกในยุคนี้ จึงเป็นลักษณะEconomics of Reciprocity นอกจากการแลกเปลี่ยนความรู้แล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนเรื่องของคุณค่าและอุดมการณ์ของความเป็นมนุษย์ ปัจจัยความสำเร็จจึงเป็นเรื่องของการดึงศักยภาพของคนออกมาให้มากขึ้น เพื่อร่วมรังสรรค์กับผู้อื่นได้อย่างเต็มที่ ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม คุณประโยชน์จึงตกอยู่กับคนส่วนใหญ่ของสังคม

     มิติที่สี่ คือการเปลี่ยนแปลงในบทบาท วิถีทางสู่เป้าหมาย และผลผลิต ซึ่งวิธีการนำเสนอสินค้าและบริการ "สังคมฐานความรู้" จะเน้นในเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติ พฤติกรรมการซื้อ พฤติกรรมการบริโภค สามารถผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้าได้โดยมีต้นทุนส่วนเพิ่มไม่มาก ผ่านเครือข่ายการสร้างนวัตกรรมร่วมกันระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค

     อย่างไรก็ตาม การสร้างความแตกต่างของสินค้าประกอบกับการแข่งขันในด้านของเวลา ในการออกหรือส่งสินค้า ทำให้บริษัทต้องเชื่อมโยงกับเครือข่ายพันธมิตร Value Chain Integration จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทสามารถตอบโจทย์ในส่วนนี้ได้

     ส่วนในโลกของ "หลังสังคมฐานความรู้" บทบาทของผู้ผลิตจะถอยลงเป็นผู้อำนวยความสะดวก ผู้บริโภคเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กันเองมากขึ้น เริ่มมีสินค้าหลายอย่างที่ผลิตและใช้โดยผู้บริโภคกันเอง ในลักษณะ Goods For and By Everyone

     และมิติที่ห้า คือการเปลี่ยนแปลงในเงื่อนไขและรูปแบบของการทำกำไร ซึ่งการทำกำไรของยุค "หลังสังคมฐานความรู้" กำไรจะขึ้นอยู่กับการร่วมรังสรรค์ในนวัตกรรมของลูกค้า ผ่านระบบของบริษัท ยิ่งลูกค้ามีการร่วมรังสรรค์ในระบบหรือเครือข่ายมากเท่าไรก็จะเกิด Switching Cost ทำให้โอกาสที่ลูกค้าจะเปลี่ยนไปใช้ระบบหรือเครือข่ายของคู่แข่งยิ่งน้อยลง เท่านั้น

     ด้าน ฉัตรพงษ์ วงษ์สุข นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) กล่าวว่า ด้วยการเปลี่ยนถ่ายสู่ยุคต่างๆ ส่งผลต่อประสิทธิภาพของบุคลากรในองค์ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือ HR มุ่งพัฒนาพัฒนา ส่งเสริมบุคลากรให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ในแต่ละบุคคล

     ประกอบกับการปรับบทบาทใหม่ จะเห็นได้ว่าในแต่ละปีจะมีการเพิ่มส่วนงานต่างๆ เข้ามาเพื่อเป็นกำลังหลักขององค์กร ใน 1-2 ปีที่ผ่านมาการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ คือ การรู้ถึงวิสัยทัศน์ผู้บริหาร และทิศทางขององค์กร เพื่อนำมาเป็นยุทธศาสตร์ใช้กับการพัฒนาบุคคลเพื่อให้องค์กรก้าวสู่เป้าหมาย ที่ตั้งไว้

     ล่าสุด บทบาทที่มีการกล่าวถึงมาก คือการเป็นนักประชาสัมพันธ์องค์กร เพื่อสื่อสารภาพลักษณ์ กิจกรรม ไม่เฉพาะบุคลากรภายในเท่านั้นแต่รวมถึงบุคคลภายนอกที่เป็นผู้บริโภคเป็น ลูกค้าอีกด้วย ทั้งนี้จะเห็นว่าเมื่อมุมมองผู้บริโภคเปลี่ยนการทำงานของ HR หรือฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ต้องเปลี่ยนตาม เดิมมองพนักงานเป็นแรงงานเท่านั้น แต่ช่วงหลังมองเป็นทุน ทุนมนุษย์ที่ต้องมีการดูแล บำรุง รักษา เพื่อพัฒนาเขาให้สามารถสร้างประสิทธิภาพ ประสิทธิผลเกิดกับงานที่ได้รับมอบหมาย

     และในฐานะที่ PMAT เป็นองค์กรวิชาชีพมานานกว่า 40 ปีแล้วนั้น จะมีองค์ความรู้มากมายที่จะถ่ายทอดสู่สังคม ที่ผ่านมาจะผ่านงานสัมมนาต่างๆ ทั้งมีองค์กรเป็นสมาชิกนับพันรายและที่ยังไม่เป็นสมาชิก ทำให้วงสัมมนาต่างๆ เป็นการสร้างเครือข่ายความรู้ที่สะสมมา ขณะเดียวกัน PMAT ยังเป็นพันธมิตรกับ ก.พ. ภายใต้โครงการ "พัฒนาเครือข่ายองค์ความรู้ด้านการจัดการทุนมนุษย์"

     "PMAT ไม่ใช่ภาคเอกชน แต่เป็นองค์กรอิสระที่มาร่วมกับ ก.พ. เป็นการยืนยันองค์ความรู้ว่าเป็นฐานเดียวกัน คุยภาษาเดียวกัน" ฉัตรพงษ์ กล่าวในที่สุด


ที่มา : www.thaihrhub.com

 2194
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

People Management

ไม่พบรายการที่คุณค้นหา
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์