ให้จินตนาการช่วยคลายเครียด

ให้จินตนาการช่วยคลายเครียด


      Post Today  เมื่อลองหลับตา จากนั้นลองสร้างภาพขึ้นในใจ จินตนาการถึงภาพแห่งความสุข หรือภาพอะไรก็ตามที่ทำให้เราได้รู้สึกผ่อนคลาย และเกิดความสบายใจจริงๆ ถือเป็นหลักการง่ายๆ ช่วยให้เราคลายเครียด นักจิตวิทยาบอกว่า การฝึกสร้างจินตภาพขึ้นในใจเป็นอีกหนึ่งวิธีแห่งการผ่อนคลายความตึงเครียด นอกจากนี้ จินตนาการยังเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นในโลก


      จินตนาการเกี่ยวข้องกับชีวิต เพราะหมายถึงจินตภาพ หรือการสร้างภาพในสมองหรือนึกคิดเป็นภาพออกมา นอกจากนี้ ยังหมายถึงความคิดสร้างสรรค์ของคนเราด้วย

จินตนาการช่วยคลายเครียดได้อย่างไร

      1. ทำให้จิตใจสบาย ราวกับว่าเราได้ผ่อนคลายจริงๆ

     
2. หลายครั้งด้วยกันที่ความเพ้อฝันและจินตนาการช่วยทำให้เรารู้สึกผ่อน คลายและสบายมากๆ ซึ่งสอดคล้องกับงานค้นคว้าวิจัยของซิกมันต์ ฟรอยด์ ที่ได้ระบุว่าการฝันเป็นภาพนั้นช่วยสร้างความสุขให้กับคนเราได้มาก ในช่วงที่เราอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า "หลับๆ ตื่นๆ" ทำให้เราอาจพูดได้ว่าสภาวะการผ่อนคลายเป็นปัจจัยสำคัญในการฝึกฝนการสร้าง จินตนาการ

     
3. การจินตนาการทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่าเราหลุดออกจากโลกแห่งความ เป็นจริงชั่วคราว เช่น การที่เราชมภาพยนตร์แนวแฟนตาซี ขณะที่เรากำลังรับชม เราก็ จินตนาการว่าเราเป็นอีกคนหนึ่งที่อยู่ในฉากที่มีจินตนาการชวนฝันนั้น

วิธีการฝึกฝนการนึกคิดให้เป็นภาพ

      โรเบิร์ต แมคคิม อาจารย์สอนวิชาการนึกคิดเป็นภาพ อย่างรวดเร็ว มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ได้เขียนบทความเรื่อง "วิธีการฝึกฝนและการนึกคิด เป็นภาพ" เน้นการให้ความสำคัญกับ 3 อย่างที่เชื่อมโยงถึงกัน 1.การดู 2.การจินตนาการ 3.การวาดภาพ เขากล่าวว่า หลายคนมองทุกสิ่งไม่ชัดเจนเสมอไป บางส่วนขาดหายไปหรือเบลอ

การพัฒนาการจดจำเป็นภาพ

สำหรับโรเบิร์ตแล้ว เขาเลือกใช้การแก้ปริศนาและ เกมต่างๆ ในการพัฒนาการจดจำเป็นภาพ

      1. วิธีการ เช่น นำเสนอภาพต่างๆ บางภาพต่างกัน บางภาพเหมือนกัน

      วัตถุประสงค์ : ต้องการให้คุณใช้สมาธิ และเพิ่มความใส่ใจสังเกตเห็นแต่ละภาพ บอกได้ว่าแต่ละภาพ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง

      วิธีการ : ให้ฝึกฝนด้วยการปิดตา ลองจับเนื้อผ้าดู จากนั้นก็บอกว่าเป็นเนื้อผ้าประเภทใด และอาจนำผลไม้มากองไว้ตรงหน้า จากนั้นลองปิดตา จับผลไม้แต่ละชนิดดู และลองทายเล่นๆ ดูว่ามีชนิดใดบ้าง 

      ได้อะไรจากกิจกรรมนี้ : เพื่อให้เราฝึกฝนและใส่ใจ สิ่งที่ปรากฏอยู่ข้างหน้า
 

      2. เลือกใช้วิธีการฝึกหายใจและการสร้างสมาธิ
 

      3. ลองวาดภาพอะไรก็ตามขึ้นมาอย่างเลื่อนลอย เช่น ภาพเส้นต่างๆ เน้นความอิสระให้เต็มที่ จากนั้น ก็ค่อยๆ ทำให้เส้นต่างๆ เหล่านั้นกลายเป็นเรื่องราว หรือเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้นมา
 

      4. ลองฝึกเขียนภาพจากสิ่งที่เรามองไม่เห็น ทว่าสามารถสัมผัสได้ ยกตัวอย่างเช่น ให้เราลองซ่อนสิ่งของไว้ในถุงกระดาษ จากนั้นเอามือล้วงลงไป ต่อมาก็วาด สิ่งของที่สัมผัสได้ในถุง สังเกตดูว่าสิ่งที่เราวาดลงไป กับสิ่งของจริงๆ ในถุงเหมือนกัน หรือแตกต่างกัน อย่างไรบ้าง
 

การฝึกจินตนาการตามแนวคิดของ นักจิตวิทยาชื่อ ฟรานซิส กัลตัน


        วิธีการที่ 1 ฝึกจินตนาการโดยให้คุณยืนนอกบ้าน จากนั้นก็พยายามจินตนาการว่ามีอะไรอยู่ในบ้านบ้าง เช่น มีเฟอร์นิเจอร์อะไรบ้างในบ้าน แต่ละชิ้นได้รับการ จัดวางที่มุมไหน รวมไปถึงการใช้จินตนาการว่าคุณจะ ปรับเปลี่ยนห้องนอนใหม่อย่างไรบ้าง

        วิธีการที่ 2 ใช้จินตนาการขณะที่กำลังเล่นหมากรุกและเล่นกอล์ฟ

      ฝึกจินตนาการได้อย่างไร : ผู้เล่นหมากรุกเห็นประโยชน์จากการมองกระดานเปล่า ขณะที่เราลองเล่นหมากรุกในใจ จะช่วยให้ง่ายในการนึกภาพต่อไปว่าเรา จะเลือกเดินหมากต่ออย่างไรดี เช่นเดียวกับนักเล่นกอล์ฟ ที่มักจะจินตนาการ คิดเป็นภาพในใจว่าผลการตีจะออกมาเป็นอย่างไร

การฝึกจินตนาการตามแนวทางของ คริสตินา ฮูเปอร์ นักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในอังกฤษ

เราสามารถฝึกการสร้างจินตนาการในใจตามแนวทาง นี้ได้

      1. ฝึกหัดการสร้างภาพในใจ เมื่อหลับตาก็สามารถมองเห็นได้

      2. หาเวลาว่างนั่งเขียนรูปที่ตนเองชอบ อาจใช้วิธีการเขียนอย่างคร่าวๆ ก็ได้

      3. ฝึกการถ่ายรูปวัตถุ หรือสิ่งของในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป

      4. ขณะที่มือของเราสัมผัสกับวัตถุ ให้จดจ่อกับสิ่งนั้น

      5. พยายามสร้างการรับรู้กับสิ่งที่เรารู้สึก สามารถสัมผัสได้ รวมไปถึงการใส่ใจกับการได้กลิ่น

      6. ฝึกการสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ เช่น ฝึกประดิษฐ์ ของใช้ส่วนตัวในบ้าน สิ่งนี้จะทำให้เราเกิด จินตนาการ

      7. ลองเขียนไดอารีก่อนนอน ควรเขียนด้วยมือมากกว่าที่จะเลือกใช้คอมพิวเตอร์

การฝึกจินตนาการตามสไตล์ของ นักวารสารศาสตร์ชื่อ รอสส์ ปาร์เมนเตอร์

      1. ให้เราลองฝึกสร้างภาพ โดยเปรียบเทียบจากการสัมผัสและความรู้สึก เช่น ขณะที่เราเดินทางมาทำงาน ในระหว่างทางให้ลองฝึกใช้จินตนาการโดยนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเรา หรือลองสมมติดูเล่นๆ ว่าจะเป็นอย่างไร หากเราได้อยู่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างทาง ขณะที่เรา นั่งรถผ่านเส้นทางที่เคยเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ในอดีต และเหตุการณ์นั้นอาจจะเกี่ยวข้องกับเรา และ เรายังคงนึกถึงเสมอ
 

      2. ให้เราลองฝึกการประมวลความจำรอบๆ ตัว ด้วยภาษาภาพและภาษาเขียน

คนที่ไม่ชอบจินตนาการ

      นักวิชาการคนเดิมนามโรเบิร์ต กล่าวเรื่องจินตนาการไว้อย่างน่าสนใจว่า คนทำงานที่ขยันและเป็นคนกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา มักจะเป็นคนที่มีทักษะทางจินตนาการต่ำ ด้วยความที่ทำงานเหมือนเครื่องจักร ทำให้ไม่มีเวลาสำหรับการผ่อนคลาย อีกทั้งไม่มีเวลาสำหรับการสร้าง ภาพขึ้นในใจ แนวคิดนี้น่าสนใจ ทว่ายังไม่มีการพิสูจน์ประเด็นนี้อย่างจริงจัง

      ลองหาเวลาว่างเพื่อฝึกฝนการสร้างจินตนาการอย่างง่ายๆ คิดว่าหลักการปฏิบัติที่พูดถึงนี้น่าจะช่วยผ่อนคลายความเครียดให้คุณได้


ที่มา : http://www.jobjob.co.th

 24229
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

People Management

ไม่พบรายการที่คุณค้นหา
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์