Coaching Tips“การโค้ชคนเก่งให้ก้าวหน้า”

Coaching Tips“การโค้ชคนเก่งให้ก้าวหน้า”


     Post Today - ที่บริษัท พีแอนด์จี ประเทศไทย ทักษะในการโค้ช (Coaching) เป็นเรื่องเร่งด่วนที่บริษัทให้ความสำคัญ ในปีงบประมาณปีนี้ ฝ่ายบริหารได้ริเริ่มกิจกรรมใหม่ใน 2 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยดำเนินกิจกรรมผ่าน Coaching Day สำหรับในไตรมาส 3 นี้ ผมได้รับเชิญให้ไปนำกิจกรรมการเรียนรู้ ในหัวข้อ “การโค้ชคนเก่งให้ก้าวหน้า” สำหรับผู้จัดการจำนวน 45 คน

    
เมื่อถึงวันดังกล่าว ฝ่ายบริหารใช้เวลา 2 ชั่วโมงแรกทบทวนกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับโค้ชชิ่ง ใน 2 ไตรมาสที่ผ่านมา รวมทั้งแนะนำเครื่องมือทางการบริหารใหม่ๆ ที่ผู้จัดการสามารถนำไปใช้ในการโค้ชคนของเขาได้

     เมื่อจบส่วนของฝ่ายบริหาร ผมจึงเริ่มกิจกรรมแรกเพื่อเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถของผู้เรียน เพราะจากการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการเรียนรู้พบว่าถ้าเรานั่งนานเกิน ไป ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของเราจะลดลง เนื่องมาจากการหมุนเวียนของเลือดไม่ดี ทำให้เลือดไม่สามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้อย่างเพียงพอ

     ผมจึงให้มีการจัดกลุ่มใหม่ โดยให้เลือกนั่งกับคนที่เกิดในเดือนเดียวกัน เช่น กลุ่มหนึ่งรวมคนที่เกิดในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ เป็นต้น

     เมื่อมีการสลับที่นั่งแล้ว ก็ดูท่าทีกระฉับกระเฉงขึ้นมา ผมจึงเริ่มต้นด้วยการแนะนำสไลด์แผ่นแรก ซึ่งเป็นคำพูดของ โทมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของอเมริกา มีข้อความว่า

     “ถ้าคนสองคนเดินมาพบกัน แต่ละคนหยิบธนบัตรใบละหนึ่งดอลลาร์ออกมาแลกกัน แล้วเดินแยกกันไป แต่ละคนก็จะเดินไปพร้อมกับธนบัตรใบละหนึ่งดอลลาร์เท่าเดิม แต่ว่าถ้าสองคนนั้นเดินมาพบกัน แล้วเล่าไอเดียของตนคนละหนึ่งไอเดีย เขาทั้งสองคนนั้นก็จะเดินแยกจากกันไปพร้อมๆ กับมีไอเดียคนละสองไอเดีย”

     ผมต้องการจะสื่อให้ผู้เรียนเข้าใจว่า วันนี้เรามาเรียนรู้ด้วยการแลกเปลี่ยนไอเดียกัน ไม่ใช่การมานั่งฟังการบรรยาย แล้วผมก็นำผู้เรียนเข้าเวิร์กช็อปแรก โดยให้แต่ละกลุ่มระดมความคิดว่า สิ่งที่เขากังวลใจในเรื่องของการโค้ชคืออะไร แล้วให้บันทึกลงบนกระดานของแต่ละกลุ่ม

     นี่คือบางส่วนของตัวอย่างสิ่งที่พวกเขากังวลใจ อาทิ ไม่มีเวลาโค้ช พนักงานไม่ยอมให้โค้ช ใจร้อนไป ฯลฯ หลังจากนั้นผมก็ตอบแต่ละข้อ


     เมื่อจบก็ขึ้นเวิร์กช็อปที่ 2 เรียกว่า Coaching Moment โดยที่ผมขอให้แต่ละคนเล่าประสบการณ์ ที่ตนเองเคยได้รับการโค้ชมาจากใครบางคน แล้วก็ให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีกับเรา

     ผมยกตัวอย่างของผม เช่น ในสมัยที่ผมยังเป็นพนักงานขายอยู่นั้น ผมมีหัวหน้าใหม่ชื่อคุณธนชัย วันหนึ่งผมมีปัญหาเรื่องงานที่ต้องการคำตอบจากคุณธนชัย ผมจึงเดินเข้าไปถามว่า “คุณธนชัย ผมมีปัญหาเรื่องนี้ครับ ผมอยากทราบคำตอบครับว่า ผมควรจะทำอย่างไร” 

     คุณธนชัยถามกลับมาว่า “เกรียงศักดิ์ แล้วคุณมีความเห็นอย่างไรล่ะ” ผมก็ตอบไปว่า “ไม่ทราบครับ ถ้าทราบคงไม่มาเรียนถามคุณธนชัยหรอกครับ”

     คุณธนชัยจึงโคชผมว่า “เกรียงศักดิ์ คราวหน้าถ้ามีปัญหามาถามนะ ให้ช่วยคิดหาคำตอบมาด้วย” ตอนนั้นผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ก็ทำตาม ต่อมาภายหลังผมเริ่มตระหนักว่า ผมสามารถจะคิดหาคำตอบได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ผมต้องยอมรับว่า การที่คุณธนชัยโค้ชผมในวันนั้น ทำให้ผมเก่งมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเริ่มรู้จักคิดได้ด้วยตนเอง การโค้ชครั้งนั้นมีผลดีต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของผมในภายหลังเป็น อย่างมาก

     กลุ่มต่างๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างออกรสออกชาติ พวกเขากระตือรือร้น มีพลัง พร้อมที่จะฟังความเห็นซึ่งกันและกัน การแลกเปลี่ยนข้อคิดดำเนินกันไปอย่างสนุกสนาน โดยที่กลุ่มต่างๆ สามารถประมวลแง่คิดในการเรียนรู้ได้เป็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ

     1. เรื่องการโค้ช เป็นการลงทุนระยะยาว ที่ส่งผลต่อความก้าวหน้าของคนในอนาคตอย่างคาดไม่ถึง

     2. เราแต่ละคนก็มีความชอบในการถูกโค้ชที่แตกต่างกัน เราไม่สามารถจะใช้วิธีเดียวกันกับการโค้ชคนหลายๆ คน


     ต่อจากนั้น ผมก็เปลี่ยนบรรยากาศอีก โดยที่สลับการเรียนรู้มาใช้สื่อภาพยนตร์ประกอบ ผมเตรียมหนังมา 3 เรื่อง โดยตัดต่อมาเพียงเรื่องละ 3-4 นาที โดยแต่ละเรื่องมีประเด็นในการเรียนรู้เกี่ยวกับการโค้ชที่แตกต่างกัน

     เรื่องแรกเป็นเรื่อง Hitch ซึ่งเป็นเรื่องของวิลล์ สมิทส์ ซึ่งรับบทแสดงเป็นโค้ชที่คอยสอนนักธุรกิจชาย ที่ไม่มีประสบการณ์ในการจีบสาว ให้สามารถพัฒนาทักษะในการจีบคนสวยๆ หรือคนระดับไฮโซได้ ในฉากเป็นตอนที่พระเอกของเรา สอนลูกศิษย์ถึงวิธีการจูบครั้งแรก เมื่อพาผู้หญิงออกเดต และไปส่งสาวที่บ้านหลังจากไปเที่ยวด้วยกันมาแล้ว หนังมีประเด็นที่น่าเรียนรู้เกี่ยวกับการตั้งความคาดหวัง หรือเป้าหมายในการเรียนรู้ที่ดี อีกทั้งเป็นหนังที่ออกแนวเบาสมอง ทำให้เกิดความบันเทิงระหว่างการเรียนรู้ไปด้วย

      เรื่องที่ 2 คือเรื่องSaving Private Ryan ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กระทรวงกลาโหมของอเมริกาทราบมาว่า ครอบครัวไรอัน ส่งลูกชายไปรบในสงคราม 4 คน แล้วปรากฏว่า 3 คนเสียชีวิตในการรบในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน กองทัพจึงจัดตั้มทีมงานเฉพาะกิจ 7 คน โดยมีกัปตัน มิลเลอร์ ซึ่งแสดงโดยทอม แฮงก์ส ออกตามหาไรอันคนสุดท้าย

     ฉากที่ฉายเป็นฉากที่ทั้ง 8 คน เดินอยู่บนทุ่งหญ้า แล้วก็มีทหารคนหนึ่งถามผู้กองออกมาในแนวที่ท้าทายนิดๆ ว่า มันคุ้มหรือไม่ที่ส่งคน 8 ชีวิตไปแลกกับคนเพียงคนเดียว เราจะเห็นวิธีการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว แล้วผู้กองเขามีวิธีโค้ชอย่างไร

     เรื่องที่ 3 คือเรื่องRay ซึ่งเป็นเรื่องราวที่สร้างจากชีวิตจริงของศิลปินตาบอด เรย์ ชาร์ลส ซึ่งเป็นนักเปียโนแจ๊ซผู้ยิ่งใหญ่ ชีวิตของเขาเป็นชีวิตที่ทรหดอดทน และสามารถฝ่าฟันจนประสบความสำเร็จได้อย่างแทบคาดไม่ถึง ในหนังที่นำมาฉาย เป็นฉากที่ตอนเป็นเด็กของเขา โดยที่ก่อนที่ตาเขาจะบอดนั้น แม่เขารู้ล่วงหน้าแล้ว จึงไม่ปิดบัง แต่พยายามสอนให้เขาใช้หูแทนมือ หลังจากนั้น หนังก็ตัดมาอีกช่วงหนึ่ง ซึ่งเป็นตอนที่เรย์ตาบอดใหม่ๆ เรย์วิ่งเข้ามาในบ้านแล้วหกล้ม เขาก็ร้องเรียกแม่ให้ช่วยหน่อย แต่ว่าแม่เรย์ในฐานะโค้ชที่เก่ง กลับมองอยู่ห่างๆ ด้วยความอดทน จนกระทั่งเรย์ต้องช่วยตัวเอง โดยอาศัยการฟังและประสาทสัมผัส จนผ่านพ้นเหตุการณ์นั้นไปได้

     เมื่อจบหนังแต่ละตอนในแต่ละกลุ่ม เขาก็จะแลกเปลี่ยนความเห็นกันว่ามีประเด็นเกี่ยวกับการโค้ชในแง่ไหนบ้าง พวกเขาเก่งที่สามารถยกตัวอย่างจากหนัง เข้าไปประยุกต์ใช้กับแนวคิด และทฤษฎีที่เกี่ยวกับโค้ชชิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้มาเป็นอย่างดี

     จากนั้นผมก็แนะนำหลักการพื้นฐานในการโค้ชดังต่อไปนี้ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้ได้ก่อน เตรียมตัวให้พร้อมก่อนลงมือโค้ช พยายามโค้ชแต่ละคนตามความเหมาะสมเป็นรายๆ ไป มีความอดทน พยายามโค้ชให้ผลงานดีขึ้นกว่าเดิม แต่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์ พยายามให้ผู้ได้รับการโค้ชมีส่วนร่วม ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และโค้ชไปทีละเรื่อง

     แล้วผมก็แนะนำข้อคิดเห็นที่เกี่ยวกับการโค้ชหรือ Coaching Tips ว่า พยายามมุ่งเน้นการชมเชย ในสิ่งที่เขาทำได้ดี ฟังและสังเกตการณ์ให้ดี อย่าด่วนสรุป อย่าพยายามเปลี่ยนตัวตนของแต่ละคน แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับค่านิยมและเรื่องราวของเราให้เขารู้ มีเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจ เล่าประกอบเยอะๆ การแนะนำดีกว่าการสั่ง ใช้คำถามในการช่วยจุดประกายให้เขา มีการลองฝึกซ้อมหากเป็นทักษะใหม่ที่เขาไม่มี ไม่เคยทำมาก่อน ติดตามผลอย่างใกล้ชิด ถามข้อมูลย้อนกลับจากลูกน้องว่า แนวทางการโค้ชของเราเป็นอย่างไร และประเด็นสุดท้าย เมื่อคิดว่าสุดวิสัยโค้ชไปก็ไม่คืบหน้า ก็ต้องตัดใจ

     บริษัท พีแอนด์จี ที่อเมริกาจะได้รับการยกย่องจากวารสารฟอร์จูนว่า เป็นบริษัทที่ได้รับการชื่นชม อันดับที่ 4 ในปี 2006 (Rank # 4 The most admired companies) แต่ว่าบุคลากรที่นี่น่ารักมาก พวกเขาเฉลียวฉลาด สุภาพ และเป็นกันเอง เป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจ ที่ผมได้มีโอกาสโค้ชพวกเขา แม้จะเป็นช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ก็ตาม




ที่มา : http://www.jobjob.co.th

 2682
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

People Management

ไม่พบรายการที่คุณค้นหา
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์