หลีกเลี่ยงปะทะคารมกับผู้ร่วมงาน

หลีกเลี่ยงปะทะคารมกับผู้ร่วมงาน


      ต้องยอมรับว่าเรื่องของการสื่อสารกันระหว่างผู้ร่วมงาน มีบทบาทสำคัญมากในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการ "พูด" ที่จะมีส่วนช่วยให้ผู้ร่วมงาน "เข้าใจ" กัน และเข้าใจงานที่จะต้องสานต่อกันได้อย่างสมบูรณ์ โดยไม่เกิดปัญหาหรือ ความบกพร่องขึ้นในตัวงาน และเมื่อจำเป็นที่จะต้อง "พูด" และบอกเล่าความคิดด้วยการเอ่ยปากพูดคุยอยู่บ่อยครั้ง ก็มีโอกาสที่ ผู้ร่วมงานจะปะทะคารมใส่กันและกันโดยไม่ตั้งใจ


      การหลีกเลี่ยงการปะทะคารมที่ดี มิใช่การไม่พูดหรือนิ่งเงียบเสีย เพื่อเป็นการตัดปัญหา ไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดหรือผิดใจกัน และเพื่อไม่ให้เกิดการปะทะคารมกันโดยไม่จำเป็น แต่สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งในการหลีกเลี่ยงการปะทะคารมกันระหว่างการทำงาน คือการพูด ในจังหวะที่เหมาะสม และยึดหลักเหตุผลหรือหลักการในการทำงานเป็นสำคัญต่างหาก และหากเราตั้งใจที่จะมองเป้าหมายของความสำเร็จสำหรับตัวงาน กับเหตุผลในการพูดที่มีบทบาทในการทำงาน จะช่วยให้การปะทะคารมระหว่างผู้ร่วมงานมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย

ทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดี

      ดูเหมือนจะเป็นหลักการที่เรียกได้ว่าเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดว่า ในเมื่อมีผู้พูดก็ควรมีผู้ฟัง แน่นอนว่าการทำตัวเป็นผู้รับฟังที่ดีเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นเหลือเกินในการ ทำงาน การแย่งกันพูดและ นำเสนอความคิดอย่างรีบร้อนและไม่ให้ความสนใจกับการที่ ผู้ร่วมงานคนอื่นพูด จะก่อให้เกิดการปะทะคารมได้โดยง่าย อย่าลืมว่าเมื่อไหร่ที่มีแต่ผู้พูด เมื่อนั้นก็จะไม่มีผู้รับฟัง และสิ่งที่เกิดขึ้น ต่อเนื่องโดยอัตโนมัติก็คือ ความคิดเหล่านั้นจะไม่ได้รับการพัฒนาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป เนื่องจากความคิดที่น่าจะเป็นประโยชน์นั้นตกหล่นสูญหายไประหว่างทางของการ ปฏิบัติงานเสียแล้ว นอกจากนั้นการ "รู้เขารู้เรา" การรู้จักใช้วิธีการพูดกับหัวหน้าหรือ ผู้ร่วมงาน ด้วยการ "รับฟัง" สิ่งที่เขาและเธอพูดจริงๆ จะช่วยให้คุณสามารถพูดคุยปัญหาหรืองานที่กำลังต้องร่วมกันผลักดันนั้น ประสบความสำเร็จได้ดังใจ


อย่าใช้อารมณ์ในการพูด

      ให้แน่ใจว่าคุณพูดในช่วงเวลาที่เหมาะสมของอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นตัวของคุณเอง หรือผู้ร่วมงานที่คุณจะต้องทำการสื่อสารด้วยการพูดคุย บางครั้งเรื่องส่วนตัวก็มีผลกับอารมณ์ของคุณ หากรู้ว่ากำลังอยู่ในเวลาที่หงุดหงิดหรือโมโหบางเรื่อง และยังไม่พร้อมที่จะพูดคุยเรื่องงานกับใคร ก็ควรรอให้อารมณ์ของคุณสงบนิ่งขึ้นเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยใช้ความคิดและพูดจาสื่อสารออกมา และหากอยู่ในระหว่างการพูดคุยสื่อสารงานกันกับเพื่อนร่วมงาน แต่ความคิดไม่ ลงรอยกัน ก็อาจผลักดันให้เกิดความไม่เข้าใจกัน ซึ่งอาจปะทุไปสู่การระเบิดอารมณ์ในการพูดกันได้ ควรใช้วิธีนับหนึ่งถึงสิบ ด้วยการหยุดแล้วฟังอีกฝ่าย หรือปล่อยให้ฝ่ายหนึ่งระเบิดอารมณ์ไปเพียงฝ่ายเดียวก่อน การนิ่งเงียบสักครู่จะเปิดโอกาสให้คุณได้ใช้ความคิด และเรียงลำดับสิ่งที่ต้องการจะพูด จนเมื่อเอ่ยปากพูดจะช่วยให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจสิ่งที่คุณคิดและพูดออกมาได้ ง่ายขึ้นด้วย

มองหาจังหวะที่เหมาะสม

      อันที่จริงแล้วไอเดียหรือความคิดนั้นก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำงาน แต่เมื่อความคิดหรือไอเดียเหล่านั้นจะต้องเป็นส่วน ที่มีผู้ร่วมทำงานด้วยกันมากกว่าเพียงแค่ลำพังเราคนเดียว การที่จะเอ่ยปาก "พูด" จึงมีความสำคัญไม่น้อย อย่าให้ใครว่าได้ว่าเรา "ไม่ดูตาม้าตาเรือ" หรือไม่รู้จักดู "ทิศทางลม" จนทำให้เสียเรื่องเมื่อพูดในจังหวะที่ไม่เหมาะสม หรือหากจะเป็นเรื่องของการนำเสนอความคิดหรือไอเดีย การมองหาจังหวะที่เหมาะสมยิ่งเป็น องค์ประกอบที่สำคัญ ที่จะช่วยให้หัวหน้าผู้มีอำนาจเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ สนใจรับฟังสิ่งที่คุณพูด เมื่อจะเอ่ยปากพูดสิ่งที่คิดเอาไว้ การนำเสนอความคิดซึ่งเรากลั่นกรองมาแล้วว่าเกิดจากเจตนาที่ดี แม้ว่า บางเรื่องอาจจะเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกเอาข้อเสียหรือจุดบกพร่องของงานขึ้นมา พูด ต้องไม่ลืมว่าการพูดนั้นเป็นเรื่องที่กระทบผู้ฟังได้ง่าย และง่ายที่จะทำให้ผู้ร่วมงานเข้าใจเราผิดหากเสนอความคิดในเวลาที่ไม่เหมาะ ไม่ควร ทั้งนี้ต้องแยกให้ออกว่าเป็นเรื่องงาน มิใช่แสดงความเห็นในเรื่องที่เป็นเรื่องส่วนตัว

รู้จักใช้ระดับคำพูดที่เหมาะสมกับผู้ฟัง

      การพูดให้ "เข้าหู" ของผู้รับฟังนั้น นับเป็นปัจจัยที่จะช่วย หลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกันด้วยคำพูดโดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่จำเป็นที่จะต้องพูดเพราะเสมอไป เพียงแต่สิ่งที่ผู้พูดควรปฏิบัติคือการพูดอย่างสุภาพ ด้วยท่าทีที่สุภาพ และเลือกใช้คำพูดที่เหมาะสมกับ ผู้รับฟัง อีกสิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงก็คือ ระดับของผู้พูดและผู้ฟัง บางครั้งเราต้องทำงานด้วยการสื่อสารกับลูกน้อง ในขณะที่บางคนก็ต้องสื่อสารกับเจ้านาย โดยยังมีการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานในทีมเดียวกันและต่างทีมความรับผิดชอบใน ระดับเดียวกัน การเลือกใช้คำที่เหมาะสมจึงเป็นส่วนสำคัญ และมีส่วนผลักดันให้งานที่ต้อง ร่วมกันทำนั้นเกิดความสำเร็จขึ้นได้ไม่มากก็น้อย

     นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมด บุคลิกก็มีส่วนสำคัญในการพิชิตใจเพื่อนร่วมงาน อ่านต่อ:บุคลิกพิชิตใจ เพื่อนร่วมงาน
เคล็ดลับง่ายๆ เหล่านี้ คงทำให้การทำงานของทุกคนราบรื่น บรรยากาศดี และเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกที่อยากจะมาทำงาน พร้อมๆ กับพัฒนาการทำงานให้ดียิ่งขึ้น และถ้ายังทำทุกข้อแล้วไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ผมแนะนำบทความนี้ครับ:โกรธกันทำไม


ที่มา : http://www.jobjob.co.th

 3340
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

People Management

ไม่พบรายการที่คุณค้นหา
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์