ไฟในการทำงาน

ไฟในการทำงาน


      เมื่อเริ่มเข้างานใหม่ ดูเหมือนทุกคนมีไฟในการทำงานกันทั้งนั้น มันเหมือนยังมีพลังไฟเต็มเปี่ยมที่จะผลัดดันให้ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน อยากเรียนรู้ว่าเราต้องทำอะไรบ้าง อยากรู้ว่างานแต่ละงานนั้นเป็นอย่างไร อยากรู้ว่างานที่เชื่อมไปให้กับคนอื่นนั้น เขาทำอย่างไร เขาต้องการอะไร ทุกอย่างมันดูใหม่ สด ซึ่งทำให้เกิดไฟในการทำงาน และ อยากที่จะเรียนรู้อย่างมาก


      แต่เมื่อทำงานไประดับหนึ่ง ความกระตือรือล้นในการทำงานจะเริ่ม ถดถอยลง อันเนื่องจาก ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ต้องทำแล้ว เริ่มรู้ตารางเวลาของตนเองแล้วว่า ต้องทำอะไรบ้าง เริ่มมีเพื่อน ชวนคุย ชวนเล่น เริ่มมีกิจกรรมระหว่างกันมากขึ้น

      บางครั้งโดนการกดขี่ ทำงานหนัก หักโหม เป็นปีๆ แต่ผลกลับไม่ได้ดั่งที่คาดหวัง ทำให้เกิดอาการท้อแท้กับระบบ และ เจ้านาย ซึ่งก็จะเป็นกับคนเก่งๆในองค์กร หรือ คนที่เป็นหัวใจหลักขององค์กร หากพวกเขาหมดไฟแล้ว องค์กรอาจจะอยู่ในขั้งวิกฤติได้

      ยิ่งทำงานนานขึ้นเท่าใด ก็จะรู้สึกว่า งานเหล่านั้นเป็นงานที่จะต้องทำประจำ อาจจะต้องทำทุกวัน ทำทุกสัปดาห์ ทำทุกเดือน ทำทุก 3 เดือน หรือ ทำทุกปี ซึ่งงานเข้าที่เข้าทาง ใช้เวลาทำงานไม่นานหรอก งานก็ทำแต่แบบเดิมๆ งานที่ทำดูเหมือนไม่ก้าวหน้า เงินเดือนก็ขึ้นน้อย ปรับตำแหน่งก็ไม่ปรับให้ เสนองานอะไรไปเจ้านายก็ไม่ยอมทำ อยากรับคนเพิ่มเจ้านายก็ไม่ให้ สิ่งเหล่านี้ทำให้ความรู้สึกที่ดีต่องาน เริ่มถดถอยลง จนคิดแต่ว่า ทำงานประจำให้เสร็จๆกันไปก็ใช้ได้แล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณของการ หมดไฟในการทำงาน

      คนในอดีตเปรียบเทียบ ไฟ ให้เหมือนกับ ความมุ่งมั่นในการทำงาน หรือ ความอยากที่จะทำงาน ซึ่งผมคิดว่า คนในอดีตช่างสังเกตุ และ เปรียบเทียบได้อย่างเหมาะสมมากๆ ซึ่งถ้าอยากจะสร้างไฟในการทำงานให้เกิดขึ้นแล้ว คุณควรจะมองให้เห็นสภาพความเป็นไปของไฟให้เข้าใจเสียก่อน

      ธรรมชาติของไฟนั้น ตอนเรียนวิทยาศาสตร์สมัยเด็กๆ เขาบอกว่ามันมี 2 สิ่งคือ สิ่งที่ทำให้ติดไฟ เช่น ไม้ กระดาษ น้ำมัน เป็นต้น กับ สิ่งที่ช่วยให้ไฟติด คือ ก๊าซอ๊อกซิเจน กับ สิ่งมากระตุ้นเพื่อให้เกิดความร้อนในการเผาไหม้ด้วย ในโบราณกาล เรารู้จักจุดให้ไฟติดกันมาแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่การใช้ไม้มาปั่น ขัดสี โดยใช้สำลีเพื่อมาเป็นตัวติดไฟ และ ค่อยๆ เริ่มใช้หินไฟ มากระเทาะซึ่งกันและกัน เพื่อเกิดประกายไฟ และ ก็เริ่มมี ไม้ขีด จนมาถึง การใช้ไฟฟ้าในการจุดไฟกันแล้ว

      เมื่อเข้าใจว่า ไฟ นั้นจะมีได้อย่างไร ต้องการอะไรบ้าง ผมก็จะขอเปรียบเทียบให้เข้ากับ การทำงานละกันครับ จะได้มองภาพได้ชัดว่า คนไทยโบราณมีความคิดที่ลึกซึ้ง และ เข้าใจธรรมชาติทั้งธรรมชาติของไฟ และ การทำงานได้อย่างลงตัว


      หากต้องการสร้างให้เกิดไฟในการทำงาน ต้องเพิ่มเชื้อฟืนเข้าไปให้มากขึ้น นั่นหมายถึง หากคุณเริ่มหมดไฟ คุณต้องหางานอะไรใหม่ๆทำ เพื่อให้เกิดความตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา การมองหาวิธีการทำงานใหม่ๆไม่ใช่เรื่องยาก แต่หากจะทำมันก็มีหลักการณ์ที่จะสามารถหางานใหม่ๆทำได้ ด้วยการหาจุดบกพร่องของแต่ละจุด แล้ว หาทางกำจัดจุดบกพร่องเหล่านั้น หรือ พัฒนาจุดเหล่านั้นให้ดีมากขึ้น ลดข้อผิดพลาด เพิ่มคุณภาพของสินค้า อะไรทำนองนี้ ผมเคยเขียนตอบเพื่อนๆในห้องสีลมไว้นานแล้ว หากจะทบทวนสามารถอ่านได้ใน "ทำอย่างไรจึงจะสร้างสรรงานออกมาได้" ซึ่งมันก็เหมือนกับเราต้องหาฟืนเพื่อมาจุดไฟ เราก็ต้องหางานเพื่อมาสร้างให้ไฟในการทำงานนั้น สามารถลุดโชติช่วงขึ้นให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะสามารถ

      บางคนเกิดปัญหากับเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย หรือ ลูกค้า ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ไฟในการทำงานหมดลง อย่างเช่น เบื่อเจ้านายไม่ยอมปกป้อง เพื่อนร่วมงานไม่ช่วยกันทำงานเลย หรือแม้นแต่ลูกค้าขาใหญ่ จู้จี้ขี้บ่นเปลี่ยนงานบ่อยๆ ทำให้เจ้านายตำหนิ ซึ่งสภาวะแวดล้อมไม่อำนวย ทำให้เกิดการปิดกั้นตัวเองเกิดขึ้น เมื่อมีการปิดกั้นตัวเองจากสภาวะแวดล้อมมากขึ้น จะทำให้ความรู้สึกที่อยากจะทำงานลดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อตนเองและความก้าวหน้าในการทำงาน ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหากับเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย หรือ แม้นแต่ลูกค้า ก็ควรที่จะทำความเข้าใจซึ่งกันและกันให้มากที่สุด หรือ แม้นแต่เกิดการทะเลาะกับเพื่อนร่วมงานด้วยแล้ว ก็ต้องไกล่เกลี่ยสิ่งต่างๆที่มันจะค้างคาใจนั้นให้ออกไปให้เร็วที่สุด โดยการพูดคุย ปรึกษา ซึ่งกันและกัน เพื่อถามเหตุและผล หรือ หาคนกลางมาไกล่เกลี่ย หรือ อย่างน้อยก็อาจจะต้องทำใจ แล้ว มองโลกในแง่ดี ให้อภัย แล้วทำตัวให้เหมือนเดิม...

      บางคนก็คิดว่า ได้เงินน้อยกว่างานที่ทำให้ หรือ บางคนมีข้อข้องใจเกี่ยวกับรายได้ของตนเอง เมื่อเอาไปเปรียบเทียบกับเพื่อนร่วมงาน ว่า ทำงานก็มากกว่า แล้วทำไมได้เงินน้อยกว่า ก็เป็นตัวที่ทำให้ไฟในการทำงานมอดลงไปได้เช่นกัน จนบางบริษัทฯ ต้องออกกฎห้ามไม่ให้บอกเงินเดือนกับเพื่อนร่วมงาน ไม่ว่าจะระดับใด อันเป็นการป้องกันความรู้สึกที่ไม่ดีที่จะตามมา แต่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนธรรมดาทั่วไปอยากรู้ถึงรายได้ของอีกฝ่าย หนึ่ง ซึ่งห้ามยากมาก แต่การรับรู้แล้ว ทำให้ไม่มีจิตใจในการทำงาน จะยิ่งทำให้ ผลงานของคุณนั้น ย่ำแย่ลง และ ไฟการทำงานก็จะมอดดับไปด้วยซ้ำ

        การที่มีไฟ มีเชื้อไฟ ก็ต้องมีอ๊อกซิเจน ที่จะช่วยให้ไฟติด ซึ่งก็เหมือนกับ ปัญหาที่เกิดจากตัวเราเอง และ สิ่งแวดล้อมในการทำงาน ก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้การทำงานของเราดีขึ้น หากเราสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้ดี ไม่มีการขัดแย้ง หรือ มีน้อยที่สุด ก็จะเป็นตัวขับที่ดีที่จะทำให้เราหมดไฟในการทำงานช้าลง

          เมื่อถึงจุดนี้สรุปได้ว่า หากคุณต้องการเพิ่มไฟในการทำงานให้กับตัวคุณ คุณต้องหาเชื้อไฟที่จะทำให้คุณต้องใช้ความคิด ต้องใช้การเรียนรู้ หรือ หางานใหม่ๆทำ เพื่อสร้างให้คุณมีใจในการทำงานมากขึ้น และ สร้างสภาพแวดล้อมของคุณให้เหมาะสมกับการทำงานของคุณ ลดความขัดแย้ง และ สร้างให้ความคิดมุ่งอยู่กับการทำงาน จะทำให้ไฟที่คุณได้จุดขึ้นกับการทำงานใดๆนั้น สามารถอยู่ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือ จนกว่าจะงานเสร็จสิ้น แล้ว ก็ต้องวกกลับไปหาเชือ้ไฟใหม่ๆ ซึ่งมันก็จะกลายเป็นวัฏจักรในการสร้างสรรงาน เมื่อทำอย่างนี้ ผลงานก็จะเกิดขึ้น แล้ว ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ก็จะมาเอง ซึ่งแน่นอน สิ่งที่ตามมากับหน้าที่ก็ย่อมหนีไม่พ้นถึงผลตอบแทนที่มากขึ้นตามหน้าที่ที่ รับผิดชอบ

          หวังว่าทุกคนที่ได้อ่านจะสามารถสร้างไฟในการทำงานให้คงอยู่ได้ตลอดเวลานะครับ


ที่มา : http://www.bloggang.com

 2348
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

People Management

ไม่พบรายการที่คุณค้นหา
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์