ครั้งที่แล้วเราพูดค้างกันในประเด็นที่ว่า จากผลการสำรวจและวิจัยพบว่าทักษะด้านการคิด (Thinking Skill) เป็นทักษะที่สำคัญที่สุด สำหรับทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามให้สำเร็จ ทักษะที่รองลงมาคือ ทักษะด้านความรู้ (Techniical Skill) และ ทักษะด้านคน (Human Skill หรือ People Skill)ระบบ การศึกษามีวิชาที่ให้นักเรียนนักศึกษาเรียนกันตามที่ผู้ออกแบบหลักสูตรเห็น ว่าจำเป็นและสำคัญ เพื่อการประกอบอาชีพในวันข้างหน้า ซึ่งมุ่งเน้นการให้ความรู้เป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่มีวิชาที่สอนด้านการคิด โดยตรง
อย่างไรก็ตาม คนที่เรียนจากระบบการศึกษาจะได้ฝึกวิธีการคิดบางอย่างมาจากผู้ที่เป็นต้น ตำรับในการออกแบบและสร้างให้เกิดระบบการศึกษาขึ้นในโลก คือ นักปราชญ์กรีก 3 ท่าน คือ โซเครตีส เพลโต และ อริสโตเติล ซึ่งอาจารย์เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน ปรมาจารย์ด้านการคิดสร้างสรรค์ เรียกว่า Greek Gang of Three หรือ GG3ท่านนักปราชญ์กรีกทั้งสาม หรือ ท่าน GG3 นี้ ได้สอดแทรกวิธีคิดของพวกท่านไว้ในทุกขั้นตอนของระบบการศึกษา ตั้งแต่การออกแบบหลักสูตร การกำหนดหัวข้อและเนื้อหาหลักสูตร วิธีการถ่ายทอดความรู้ การวัดผลการศึกษา และการประเมินผลการศึกษา
พูดง่ายๆ คือ ตั้งแต่คิดว่าผู้เรียนน่าจะได้เรียนวิชาอะไรบ้าง วิชานั้นๆ ควรให้เขารู้เรื่องอะไรบ้างจะสอนให้ผู้เรียนรู้เรื่องแต่ละเรื่องได้ด้วย วิธีใด จะวัดด้วยวิธีใดจึงจะพิสูจน์ได้ว่าเขารู้สิ่งที่เรียนไปจริง และเขาทำสิ่งที่ครูฝึกให้เขาทำได้จริง ซึ่งเราเรียกว่า การสอบ เมื่อได้ผลสอบมาแล้ว จะตัดสินว่าอย่างไร เช่น ได้เกรดอะไร ผ่านหรือไม่ผ่าน เป็นต้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่ผ่านระบบการศึกษาในแนวทางนี้จึงเหมือนเข้าเบ้าหลอมเดียวกัน และได้วิธีคิด หรือการคิดแบบท่าน GG3 ติดตัวกันมาอย่างถ้วนหน้า เป็นเวลากว่าสองพันห้าร้อยปีมาแล้ว และยังคงเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ การคิดแบบ GG3 นี้ เป็นการคิดแบบตัดสินและประเมิน (Judgment Thinking)ซึ่งเป็นการคิดที่มีอิทธิพลกับการคิดของคนทั่วโลกมานาน นี่จึงเรียกได้ว่าเป็นการคิดแบบดั้งเดิม (Traditional Thinking )
แต่ในระยะหลังนี้มีนักคิดสร้างสรรค์คือ ดร. เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน นำเสนอแนวคิดที่ว่า ในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และทรัพยากรของโลกเริ่มลดน้อยลง เราชาวโลกให้ความสำคัญกับการพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่เรียกว่า นวัตกรรมให้เกิดขึ้น เพื่อแบ่งเบาหรือทดแทนการมุ่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเดียวบ้าง
เมื่อเป็นเช่นนี้ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่ง (Creativity is essential.)คนจะคิดหาทางพัฒนาได้ หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ต้องใช้การคิดด้านสร้างสรรค์ เพราะการคิดหาทางพัฒนา หรือ การคิดสิ่งใหม่ๆ ซึ่งไม่เคยเห็น เคยฟัง หรือ เคยรู้มาก่อนนั้น เป็นการคิดออกแบบสิ่งที่เป็นอนาคต ยังไม่เคยเกิด และยังไม่มี เราจะคิดให้ได้ความคิดใหม่ๆ ก่อน เพื่อจะได้นำความคิดนั้นมาเป็นต้นแบบเพื่อนำไปดำเนินการให้เกิดขึ้น และ มีขึ้น
ดร. เดอ โบโน จึงเห็นว่าการคิดแบบวิเคราะห์ตัดสินประเมินอย่างเดียวไม่เพียงพอแล้ว (Judgment Thinking is not sufficient.) เพราะเราวิเคราะห์ได้แต่อดีต แต่เราจำเป็นต้องคิดออกแบบอนาคต (We can analyze the past but we have to design the future.)
ดร. เดอโบโน จึงเสนอการคิดแบบใหม่ มาผนึกกำลังกับการคิดแบบดั้งเดิม เพื่อให้การคิดมีคุณภาพครอบคลุมครบถ้วนทุกด้าน
ครั้งที่แล้วดิฉันนำการคิดแบบดั้งเดิมมาเล่าสู่กันฟังว่าเป็นเช่นไรบ้าง โดยได้พูดถึงท่านนักปราชญ์กรีกท่านแรกของ GG3 คือ
1. โซเครตีส ซึ่งการคิดที่เราได้มาจากท่านก็คือ การคิดแบบโต้แย้งวิจารณ์ (Critical Thinking)
2. เพลโต (Plato) มีชีวิตอยู่ในช่วง พ.ศ.116 -195 เพลโตเป็นทั้งลูกศิษย์และผู้ช่วยของโซเครตีส เพลโตชอบวิชาคณิตศาสตร์ และ ชื่นชมพิธากอรัสซึ่งเป็นบิดาแห่งวิชาคณิตศาสตร์ เป็นอย่างมาก
สิ่งที่เพลโตชอบในคณิตศาสตร์ คือคำตอบที่ถูกต้องมีเพียงคำตอบเดียว เพลโตเห็นว่าทุกอย่างมีความถูกต้อง และความถูกต้องมักไม่ชัดเจน จึงต้องค้นหา แต่ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ความถูกต้องมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น
เป็นต้นว่า หากคนสองคนมีความคิดเห็นต่างกันเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะต้องมีความคิดเห็นของใครคนใดคนหนึ่งถูกต้อง และ อีกคนหนึ่งผิด และเพื่อตัดสินให้ได้ว่าใครผิดใครถูก เจ้าของความเห็นจึงพยายามวิเคราะห์หาเหตุผลมาสนับสนุนว่าความเห็นของตนถูก และความเห็นของอีกฝ่ายหนึ่งผิด ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็ทำเช่นกัน การยกเหตุผลมาคัดง้างกันเช่นนี้กระทำโดยผ่านการถกกัน (Argument) หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือการเถียงกันนั่นเอง โดยจุดมุ่งหมายของแต่ละฝ่ายอยู่ที่จะพิสูจน์ว่า “ ฉันถูก เธอผิด”
การคิดแบบวิเคราะห์ (Analitical Thinking )และ การถกเกียงกัน แบบฉันถูก เธอผิด(Argument)ของเพลโต แพร่หลายไปตามระบบการศึกษาทั่วโลกจนกระทั่งทุกวันนี้
คำพูดของเพลโตที่แสดงแนวคิดของเขาได้กระจ่างและผู้คนรู้จักกันดี คือ “The only time I make a mistake was when I thought I was wrong.” เวลาเดียวเท่านั้นที่ฉันจะทำผิดพลาดได้ นั่นก็คือ ตอนที่ฉันคิดว่า “ฉันผิด”
ลองคิดดูว่า แนวคิดของเพลโตเข้มข้นเกี่ยวกับเรื่องฉันต้องเป็นฝ่ายถูกเสมอขนาดไหน การถกเถียงโต้แย้งทั้งหลายทั้งมวลที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกันในทุกหย่อมหญ้า ตั้งแต่ในครอบครัวไปจนถึงในโลก มีผลมาจากการปลูกฝังแนวคิดเช่นนี้ในระบบการศึกษาไว้เยอะเหมือนกันนะคะ
ที่มา : อ.รัศมี ธันยธร
ผู้เชี่ยวชาญด้านความคิดสร้างสรรค์คนแรกของประเทศไทย