คำแนะนำ สำหรับคนไทยที่ทำงานกับชาวต่างชาติ

คำแนะนำ สำหรับคนไทยที่ทำงานกับชาวต่างชาติ

     สถาบันสอนภาษาอังกฤษเปิดสาขาที่ 3 ที่ยูเนี่ยนมอลล์ ลาดพร้าว แดเนี่ยล เวลซ์ ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบริการ เชิญผมไปพูดให้นักเรียนเขาฟัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนทำงานกับองค์กรข้ามชาติ แดเนี่ยลช่วยโค้ชผมหลายครั้งเวลาที่ผมจะต้องไปนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ จึงยินดีที่จะไปช่วยพูดให้เขา แต่มีข้อ แม้ว่า ผมอยากให้เป็นแนวทางการสัมภาษณ์มากกว่าการพูดคนเดียว ซึ่งเขาก็ยินดี พร้อมทั้งร่างแนวทางคำถามมาให้ผม 1 ชุด ...

     ผมและเขานั่งซักซ้อมแนวทางการถามตอบก่อนถึงเวลาการนำเสนอ

      “คุณเกรียงศักดิ์ ผมจะเริ่มโดยการแนะนำคุณในฐานะวิทยากรรับเชิญ หลังจากนั้นผมจะส่งต่อให้คุณ โดยคุณอาจจะเริ่มแนะนำหนังสือ Bridging The Gap ที่ขายอยู่ที่เอเซียบุ๊คสขณะนี้ แล้วผมก็จะเริ่มเข้าสู่เนื้อหาด้วยคำถามแรกเลย

     คุณคิดว่าอะไรเป็นความท้าทายสำหรับคนไทยในการทำงานร่วมกับชาวต่างชาติครับ”

      “ความท้าทายก็คือ คนไทยเรานำค่านิยมของไทย เช่น เรื่องความเกรงใจ เรื่องการรักษาหน้า เรื่องการประนีประนอม เรื่องของอาวุโส และการให้ความสำคัญกับสัมพันธภาพมากเกินไป ไปในที่ทำงาน แล้วใช้เกณฑ์เหล่านั้นกับชาวต่างชาติ ซึ่งเขามีค่านิยมที่อาจจะแตกต่างกับเรา

      โดยปกติค่านิยมจะมีผลต่อพฤติกรรมของเรา เช่น เราเห็นแก่ความอาวุโส ทำให้เราไม่โต้แย้งกับหัวหน้าเราทั้งๆ ที่เรามีเหตุผลเพียงพอ ในขณะที่ชาวต่างชาติเขาต้องการให้เรากล้าแย้งเขาได้หากมีประเด็น หรือไม่ก็เราอาจจะกลัวเสียหน้าถ้าไม่เข้าใจแล้วถาม เราก็เลยเข้าใจแบบผิดๆ ชาวต่างชาติเขาไม่ถือเป็นเรื่องเสียหายหากสงสัยก็ถาม เขากลับมองว่ามีความกล้าด้วยซ้ำไป ตัวอย่างลักษณะแบบนี้แหละ ที่ทำให้ชาวต่างชาติมอง คนไทยว่าไม่เก่ง”

      แดเนี่ยลโยนคำถามถัดไป “ในการทำงานกับชาวต่างชาติ เชื้อชาติมีนัยสำคัญอย่างไรครับ ถ้าผมทำงานกับชาวฝรั่งเศสหรือชาวออสเตรเลียจะแตกต่างกันไหมครับ”

      “แน่นอน แต่ละชาติก็จะมีธรรมเนียมและค่านิยมที่แตกต่างกัน แต่โดยรวมๆ แล้ว พวกชาวต่างชาติที่ถูกส่งมาประเทศไทยนั้น มีเทอมแน่นอน 2 ถึง 4 ปี ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนว่าให้มาทำอะไร ดังนั้น เขาจึงต้องการผลงานที่วัดได้ เขาก็อยากให้คนไทยที่ร่วมงานด้วยทำงานเต็มที่ กล้าแสดงออก ทำงานแบบมุ่งมั่น

      นอกจากนี้ เราแต่ละคนก็มีความเป็นปัจเจกบุคคล คือมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่แล้ว แม้กระทั่งคนชาติเดียวกัน ก็ไม่ได้เหมือนกันหมดทุกคนไป ผมจึงไม่พยายามจำแนกเป็นเชื้อชาติในการแนะนำคนไทยให้ทำงานกับคนต่างชาติ เท่าใดนัก”
 

     “มีอะไรที่เป็นความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างคนไทยกับคนต่างชาติ ในบริบทของธุรกิจน่ะครับ”

      “ก็อย่างที่เล่าไปแล้วนั่นแหละครับ ชาวต่างชาติ คาดหวังให้เราถามเมื่อสงสัย แย้งเมื่อเห็นแตกต่าง กับเขา สัญญาอะไรต้องทำตาม เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นให้แจ้งเขา ยิ่งเร็วยิ่งดี และถ้ามีทางแก้ปัญหาได้ด้วยยิ่ง ดีใหญ่”

      แดเนี่ยลเปลี่ยนทิศทางของคำถาม “แล้วถ้าคนไทยมีชาวต่างชาติเป็นลูกค้าละครับ วิธีไหนจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาความสัมพันธ์ หรือทำให้ความสัมพันธ์กับลูกค้าดียิ่งขึ้น”

      “สิ่งที่เราคุยกันก็ประยุกต์ใช้ได้ นอกจากนี้สิ่งที่ผมอยากแนะนำเสริมเพิ่มเติมเวลาติดต่อกับลูกค้าต่างชาติก็ คือ เมื่อสัญญาอะไร ให้ทำให้ได้ เรื่องตรงเวลาก็สำคัญ การมองปัญหาที่จะเกิดล่วงหน้า ตลอดจนการลงมือแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน”

      “สิ่งที่คนไทยควรระวังเวลาติดต่อหรือทำงานกับชาวต่างชาติละครับ ถ้าจะระบุเป็นสิ่งที่ควรทำ และสิ่งที่ไม่ควรทำ”

      “สิ่งที่ควรทำสิ่งแรกเลยคือ ทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมและค่านิยมขององค์กรนั้นก่อน แล้วปรับตัวเราให้เข้ากับที่ทำงาน 

       ถ้าเป็นไปได้เราอาจจะบอกกับคนที่เราทำงานด้วยว่าเรามีแนวคิดหรือค่านิยมส่วน ตัวอย่างไร ถ้าจะให้ดี ทั้งทีมควรได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับค่านิยมของแต่ละคน แล้วตกลงแนวทางการทำงานร่วมกัน สิ่งที่ทีมควรทำและไม่ควรทำ

      เวลาทำงานกับชาวต่างชาตินั้น โดยปกติเขาจะดูขึงขังจริงจัง บ่อยครั้งที่เขาจะถามคำถามยากๆ ให้เราคิด หรือดูเหมือนจะกดดันให้เราทำมากกว่าปกติ นอกจากว่าจะเป็นผลดีกับบริษัทแล้ว สิ่งที่เขาทำนั้น มักจะส่งผลดีกับเราด้วยในระยะยาว มันก็เหมือนฝึกเราให้แกร่งขึ้น 

      จากประสบการณ์ของผมและผู้บริหารมืออาชีพที่เก่งๆ นั้น ส่วนใหญ่ผ่านการถูกแรงกดดันในการทำงานกับบริษัทข้ามชาติมาทั้งนั้น”

      “ผมว่ามันเป็นการให้กำลังใจที่ดีนะครับ คุณเกรียงศักดิ์ คราวนี้เราลองมาเจาะลึกลงไปอีกว่า ถ้าคนไทยเข้าทำงานกับชาวต่างชาติแล้ว เขาจะก้าวหน้าอย่างไรให้รวดเร็ว คุณมีคำแนะนำอะไรบ้างครับ ที่เขาจะประสบความสำเร็จได้เร็วโดยมีผลงานที่ดี”

      “อย่างแรกเลยคือมาเรียนภาษาอังกฤษที่วอลล์สตรีทนี่” ผู้ฟังฮาครืน บางคนถูกใจปรบมือสนับสนุนอีกต่างหาก

      ผมยิ้ม “พูดเล่นนะครับ การฝึกภาษาอังกฤษจะช่วยทำให้คุณมั่นใจขึ้นแน่นอน แต่ว่าขอให้กล้าพูด แม้ว่าภาษาอังกฤษของคุณจะไม่แข็งแรงก็ตาม การที่คุณพูดไม่เก่ง แต่มีความพยายามที่จะสื่อสารนั้น ชาวต่างชาติเขาจะชื่นชมคุณว่ามีความกล้า ไม่กลัวเสียหน้าเหมือนคนทั่วๆ ไป มันเป็นการแสดงออกถึงภาวะผู้นำที่ดีอย่างหนึ่งนะครับ

      นอกจากกล้าพูดแล้ว พยายามทำงานให้มีคุณภาพ รวดเร็ว และตรงเวลา เวลาไปทำงาน เข้าประชุม หรือไปพบตามการนัดหมายใดๆ ให้ไปถึงก่อนเวลาเสมอ ให้เป็นคนแรกได้ยิ่งดี เมื่อไปถึงแล้ว เตรียมตัวให้มากกว่าคนอื่น 2 เท่า ทบทวนหัวข้อ ศึกษาข้อมูล ลิสต์คำถาม การที่เราถาม จะแสดงออกว่าเรามีความสนใจ อยากรู้อยากเรียน แล้วก็พยายามขอให้นายช่วยสอนงานให้เรา
ด้วยวิธีเหล่านี้ ผมเชื่อว่า แทนที่สามสี่ปีคุณจะได้รับการโปรโมต เผลอๆ อาจจะใช้เวลาเพียงครึ่งเดียว บางทีปีสองปีคุณก็อาจได้รับการเลื่อนตำแหน่งแล้ว โดยเฉพาะองค์กรที่กำลังเติบโต”  การทำงานกับชาวต่างชาติอ่านต่อได้ที่:เคล็ดลับการทำงานร่วมกับชาวต่างชาติ

      “ใช่เลยครับคุณเกรียงศักดิ์ สิ่งที่คุณพูดนี่เกิดที่ วอลล์สตรีทด้วย พนักงานที่นี่ทำงานกันปีสองปีก็ ก้าวหน้ากันแล้ว โดยเฉพาะคนที่ประพฤติแนวทางที่ คุณแนะนำมา

      คราวนี้ลองมาที่เรื่องการเจรจาต่อรองกันบ้างครับ คนไทยต่อรองกับชาวต่างชาติเป็นอย่างไรบ้าง”

      “การต่อรองคือการถกเถียง หาเหตุผลมาหักล้างกัน บางทีต้องโต้แย้ง แข่งขัน บางทีก็ประนีประนอมกันเพื่อหาจุดร่วมกัน
ย้อนกลับมาที่ค่านิยมของคนไทย การต่อรองนั้นออกจะฝืนๆ กับวัฒนธรรมของเรา จึงมีผลทำให้เวลาเราต้องต่อรองกับชาวต่างชาติ เราอาจจะยอมอ่อนข้อหรือประนีประนอมมากเกินไป หรือไม่ก็เราอาจจะอึดอัดเมื่อต้องโต้แย้งหาเหตุผลมาหักล้างกัน บางทีเราก็ไม่ค่อยคุ้นกับการยกเหตุผลขึ้นถกเถียงเพื่อหักล้างอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งๆ ที่รู้ๆ อยู่ เรื่องทักษะการต่อรองนี้ อาจจะบอกได้ว่าคนไทยเราทำได้ไม่เก่งนัก รวมทั้งตัวผมเองด้วย”

      “คราวนี้มาถึงคำถามสุดท้ายของผม ก่อนจะโยนให้ ผู้ฟังท่านอื่นๆ มีโอกาสถามบ้าง การทำงานในบริษัท ของคนต่างชาติ มีผลดีอะไรบ้างครับ”

      “ส่วนใหญ่แล้วเราจะได้รับการอบรมที่ดีจากองค์กรเหล่านี้ ถ้าทำงานบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ คุณจะมีโอกาสได้เข้ารับการอบรมดีๆ มากมาย แต่ไม่ว่าองค์กรจะมีขนาดไหนก็ตาม ชาวต่างชาติส่วนใหญ่เชื่อในการสอนคนให้เก่งก่อนให้ลงมือทำงานจริง ดังนั้น เราจะได้รับการอบรมแบบ On the job training คือการสอนงานด้วยการลงมือปฏิบัติจริงๆ โดยทั่วๆ ไป ผลตอบแทนจะดี แต่แน่นอน เขาก็หวังให้คุณทำงานให้เขาเต็มที่ งานคุณอาจจะหนักกว่าเพื่อนๆ ในองค์กรไทยๆ แต่ว่าโดยรวมแล้ว มันทำให้คุณเก่ง แกร่ง แล้ว (ก้าวหน้า) ในอนาคตครับ”



ที่มา :http://jobmsn.jobjob.co.th

 7452
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

People Management

ไม่พบรายการที่คุณค้นหา
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์